สำรวจพบครอบครัวไทยไม่มีเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง อึ้งนิทานติดบ้านมีไม่ถึง 2 เล่ม
องค์การทำงานด้านเด็กชี้พัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยช่วยสร้างประชากรคุณภาพในอนาคต ระบุการอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่6เดือน ช่วยพัฒนาสมรรถนะด้านต่างๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานด้านเด็กและคณะทำงานวาระทางสังคมสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา “คุณภาพเด็กไทย...อนาคตสังคมไทยไปทางไหน” ณ ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาไอคิวของเด็กไทยแทบไม่มีการขยับขึ้น แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่พบว่า ระยะเวลาทุกๆ 5-10 ปี ไอคิวของเด็กจะมีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
"ที่ไอคิวของเด็กไทยเราเท่าเดิม คือ ไม่มีการขยับขึ้น นั่นหมายความว่าเราถอยหลังการหยุดอยู่กับที่ ซึ่งคือการถอยหลัง เมื่อถามว่าปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของสมองหรือไอคิวบ้าง ก็มีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คืออาหารสมองทางกาย และอาหารสมองทางใจ"
รศ.พญ.นิชรา กล่าวถึงสิ่งสำคัญจากการสำรวจของกรมอนามัย ยังพบว่า พัฒนาการของเด็กไทยที่มีปัญหามากที่สุด คือ พัฒนาการทางด้านภาษา โดยในช่วงวัยที่เด็กต้องเริ่มพูดแต่เด็กพูดน้อย หรือพูดช้ากว่าปกติ เกิดจากความใกล้ชิดของพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกด้วย ในปัจจุบันจะเห็นว่าสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้เวลาในการเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองน้อยลง บางครั้งมีการส่งเด็กไปให้พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเลี้ยงให้ นอกจากนี้เวลาในการสอนลูกหรือการอ่านหนังสือนิทานให้กับเด็กในช่วงวัย 6 เดือน - 5ปี มีน้อยมาก โดยกการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าในแต่ละบ้านมีหนังสือนิทานไม่ถึง 0-2 เล่มในแต่ละครอบครัว
ด้านนายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวถึงคุณภาพของเด็กไทยและการพัฒนาการอ่าน ว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กได้มีการศึกษาข้อมูลกันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 พบว่า หากเด็กได้เริ่มอ่านหนังสือเล่มแรกตั้งแต่ช่วงวัย 6 เดือน โดยผู้ปกครองเปิดหนังสือภาพให้ดูเด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นมาจะมีสมรรถนะในการพัฒนาด้านต่างๆดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟัง ซึ่งเด็กจะต้องได้รับการเอาใจใส่และอ่านหนังสือให้ฟังทุกวันอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาสำหรับประเทศไทยเองคือโครงการอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นไม่มีความต่อเนื่อง
นายเรืองศักดิ์ กล่าวอีกว่า ช่วงระยะ10 ปี ที่ผ่านมาจากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มพ่อแม่กับลูก และผู้เลี้ยงดูเด็ก คือ พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กใช้เวลากับเด็กมากขึ้นกว่าก่อนเข้าโครงการ ไม่ว่าจะเป็น การร้องเพลง เล่านิทาน และอ่านหนังสือกับเด็ก ทั้งนี้จากการศึกษาพฤติกรรมของเด็กกลุ่มเดิมที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังมาโดยตลอด พบว่า เด็กมีพฤติกรรมและพัฒนาการและความสามารถตามวัยที่ดีมากในทุกด้าน เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กในพื้นที่เดียวกัน และเด็กลุ่มนี้ยังสอบได้คะแนนได้ตั้งแต่ 87-100% ทุกวิชาที่สำคัญพบว่า เด็กกลุ่มนี้มีสมาธิในการทำกิจกรรมมากกว่าเด็กทั่วไป
ส่วนกรณีหนังสือเด็กมีราคาแพงไม่สอดคล้องกับโครงการหนังสือเล่มแรกนั้น กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเด็ก กล่าวว่า ที่ผ่านมาพยายามผลักดันในเชิงนโยบายมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552และมีการแจกหนังสือนิทานแล้วบางส่วน แต่กรณีที่หนังสือเด็กมีราคาแพงนั้นได้พยายามเสนอไปทางรัฐบาลหลายครั้งให้มีการเก็บภาษีกระดาษที่จัดพิมพ์หนังสือเด็กน้อยลงกว่าปกติแต่ยังไม่สำเร็จ รวมทั้งการทำหนังสือด้านนี้ต้องใช้องค์ความรู้หลายอย่างจึงทำให้มีราคาแพง ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ขณะที่นางสุธาทิพ ธัชยพงษ์ ประธานคณะทำงานด้านเด็ก กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำนวนการเกิดของเด็กลดลง เนื่องจากปัจจุบันครอบครัวไทยมีลูกเฉลี่ย 1.5 คน ซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดของธนาคารโลกที่กำหนดไว้ 2.5 คน ต่อครอบครัว ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของเด็กจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้โครงการที่รัฐกำลังจะดำเนินการนำร่องในโครงการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจนโดยจ่ายเงินอุดหนุน 400 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้และเป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ฉะนั้นจะต้องช่วยกันจับตาดูโครงการนี้ว่าจะเป็นอย่างไร
ประธานคณะทำงานด้านเด็ก กล่าวด้วยว่า โครงการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจน ไม่อยากให้เป็นเพียงแค่โครงการนำร่องและต้องการให้มีการอุดหนุนไปจนเด็กมีอายุ 5 ปี เพราะเด็กในช่วงปฐมวัยคือทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากเงินอุดหนุนจำนวน 400 บาทแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการอบรมพ่อแม่เด็กให้ได้รับความรู้ในการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย พร้อมกับยืนยันว่า การอ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอทุกวัน วันละ 5-15 นาที อย่างต่อเนื่อง จะสร้างความรักความอบอุ่นใกล้ชิดระหว่างพ่อ แม่ลูก และยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว และทำให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านหนังสือต่อไป
“ความรักความผูกพันในครอบครัวในช่วง 5 ปีแรกของเด็ก คือ รากฐานสำคัญของชีวิตเด็กและจะมีผลต่อไปจนโต เด็กจะมีภูมิคุ้มกันในตัวเองไม่อยากทำอะไรที่เสียหาย เพราะไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจ และจะเติบโตมาเป็นเด็กที่มีคุณภาพไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม”