ร่าง กม.บุหรี่ใหม่ อยู่ขั้นกฤษฎีกา ‘นพ.รัชตะ’ มั่นใจบังคับใช้ทันรัฐบาลประยุทธ์
รมว.สธ.เผยคืบหน้าผลักดัน กม.บุหรี่ฉบับใหม่ อยู่ในขั้นกฤษฎีกา เชื่อบังคับใช้ทัน รบ.ปัจจุบัน ด้าน ‘นพ.ประกิต’ ซัดกลุ่มธุรกิจวิ่งเต้น สนช. หวังแทรกแซงคว่ำร่าง ยันไม่ส่งผลกระทบผู้ค้าปลีก-ชาวไร่ยาสูบ
วันที่ 27 กรกฎาคม 2558 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 เรื่อง ‘หนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย’ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ โดยมีศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธาน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีคนไทยเพศชายสูบบุหรี่สูงถึง 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 40 ขณะที่มีเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ 2 แสนคน ซึ่งเด็กเหล่านี้เมื่อก้าวเข้าสู่การเสพติดบุหรี่ พบร้อยละ 70 เลิกไม่ได้ และสูบต่อไปจนกว่าจะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ทันสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่
ทั้งนี้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ...กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเชิญผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ ผู้ประกอบการ และนักกฎหมาย แสดงความเห็น ซึ่งใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า จะมีผลบังคับใช้ทันในรัฐบาลปัจจุบัน
“ปัจจุบันไม่มีใครไม่ทราบว่าบุหรี่ คือ สินค้าอันตรายที่ฆ่าผู้บริโภคของตัวเอง ดังนั้นบุหรี่จึงไม่ใช่สินค้าปกติเหมือนสินค้าชนิดอื่น จึงจำเป็ต้องมีกฎหมายรัดกุมเข้มแข็ง มิฉะนั้นจะไม่สามารถตัดวงจรการเสพติดบุหรี่ได้ ลูกหลานต้องไม่เดินเข้าเป็นนักสูบหน้าใหม่ ขณะที่สังคมต้องช่วยกันสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่คนเสพติดบุหรี่เลิกให้ได้” รมว.สธ. ระบุ
ด้านศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงการระบาดของปัญหาเสพติดยาสูบในไทยมีมานาน โดยช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ไม่เคยมีผู้สูบบุหรี่น้อยกว่า 11 ล้านคน ซึ่งยืนยันจากข้อมูลการสำรวจจริงของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุ ปี 2534 มีอัตราการสูบบุหรี่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สูงถึง 12.3 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 38.5 ล้านคน โดยเป็นเพศชาย 11.3 ล้านคน หรือร้อยละ 59.3
ขณะที่ปี 2544 อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากเดิม 3 แสนคน อยู่ที่ 12.0 ล้านคน โดยเป็นเพศชาย 11.3 ล้านคน หรือร้อยละ 48.4% สัดส่วนลดลงเนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และปี 2554 อัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ 11.5 ล้านคน โดยเป็นเพศชาย 10.9 ล้านคน หรือร้อยละ 41.7 อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ทั่วโลกลดอัตราการสูบบุหรี่ให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ได้ร้อยละ 25
“ล่าสุด จากการวิเคราะห์ข้อมูลปี 2557 ไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ 11.4 ล้านคน โดยเป็นเพศชาย 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 40.5 นั่นแสดงว่า ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ทั่วโลกกำหนดไว้ ดังนั้นหากไทยไม่มีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ อัตราการสูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้นอีก”
สำหรับบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ฯ ระบุว่า มีความพยายามแทรกแซง โดยวิ่งเต้นกันอย่างเข้มข้น ให้ข้อมูลเท็จกับสมาชิก สนช. ซึ่งมีอำนาจตัดสินกฎหมาย ว่าจะทำให้ชาวไร่ยาสูบและผู้ค้าปลีกเดือดร้อน กระนั้นกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลรับผิดชอบจำเป็นต้องผลักดัน เพื่ออย่างน้อยไม่ให้มีจำนวนนักสูบหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ส่วนการลดจำนวนนั้นยอมรับเป็นเรื่องค่อนข้างยาก
ทั้งนี้ จะเห็นว่า บริษัทไม่เคยคิดถึงผลกระทบต่อลูกค้า เพราะคนจนหลายล้านคนต้องทุกข์ทรมาน มีเงินเดือน 2,000 บาท ต้องนำไปซื้อบุหรี่เดือนละ 450 บาท จึงยืนยันกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ทำให้ชาวไร่ยาสูบและผู้ค้าปลีกเดือดร้อน เนื่องจากมีการวิจัยผู้ค้าปลีก 1,000 ราย ใน 7 จังหวัดภาคกลาง พบว่า ผู้ค้าปลีกขายบุหรี่เดือนละ 100 ซอง เฉลี่ย 10,100 บาท ได้รับกำไร 1,000 บาท ฉะนั้นอาจมีผลต่อการลดลงเพียงร้อยละ 10 หรือเดือนละ 100 บาทเท่านั้น
ขณะที่ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ไม่ได้จำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสัดส่วนและไม่เกินความจำเป็น เพราะพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งรัฐธรรมนูญกำหนดหลักการว่า รัฐสามารถออกมาตรการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนได้ ถ้าเป็นมาตรการจำกัดสิทธิที่จำเป็น ได้สัดส่วน และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งมาตรการที่ปรากฎในกฎหมายล้วนจำเป็น ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินกว่าสัดส่วนความเสียหายที่สินค้ายาสูบก่อให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ส่วนเนื้อหาสอดคล้องกับหลักการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบหรือไม่ นักวิชาการ มธ.กล่าวว่า กรอบอนุสัญญาดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศรูปแบบหนึ่งที่มีผลผูกพันให้รัฐภาคีต้องปฏิบัติตาม ส่วนการออกมาตรการต่าง ๆ นั้น รัฐสามารถเลือกกำหนดได้ตามแนวทางที่กรอบอนุสัญญากำหนด ดังนั้นจึงมีผลผูกพันอยู่ในตัว และร่าง กฎหมายก็ได้นำบทบัญญัติรวมทั้งแนวทางมาบัญญัติเป็นมาตรการต่าง ๆ โดยพิจารณาอย่างละเอียดถึงบริบทของไทย เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน
ผศ.ดร.ปกป้อง ยังกล่าวว่า ถ้อยคำในกฎหมายไม่คลุมเครือ เช่น คำว่า ห้ามทำการสื่อสารการตลาด ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีบทนิยามกำหนดในกฎหมายชัดเจนว่า สื่อสารการตลาด หมายถึงอะไร ส่วนถ้อยคำใหม่ก็มีการกำหนดบทนิยามไว้ชัดเจนเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักพื้นฐานกฎหมายอาญาที่ว่า กฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจนแน่นอน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความสมดุลของการคุ้มครองสุขภาพกับสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบการยาสูบ พบบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้น เช่น การห้ามผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบอุปถัมภ์สนับสนุนบุคคลในลักษณะแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ การห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ สถานที่ขายปลีก การห้ามแบ่งขายบุหรี่ซิกาแรต หรือกำหนดให้ออกใบสั่งผู้สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ล้วนเป็นมาตรการตามพันธกรณีของอนุสัญญา
“ผู้ประกอบการยาสูบยังได้รับการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายและยังคงทำกำไรในการประกอบธุรกิจในไทย ขณะที่การออกมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้รัฐลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ที่เกิดโรคร้ายจากการใช้ยาสูบและผู้ได้รับควันบุหรี่มือสอง รวมทั้งช่วยลดปริมาณผู้เสพติดยาสูบและป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนเสพยาสูบ” นักวิชาการ มธ. กล่าว
สุดท้ายนพ.ริชาร์ด บราวน์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยให้การสนับสนุนตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกอย่างดี โดยเริ่มพัฒนาเป็นประเทศแรก ๆ รวมถึงเป็นเจ้าภาพการประชุมภาคีสมาชิก 180 ประเทศ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2550 และร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ของไทย ได้นำบทบัญญัติที่สำคัญของกรอบอนุสัญญาดังกล่าวมาใช้ด้วย อย่างไรก็ตาม ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผอ.องค์การอนามัยโลก ยืนยันจะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ของไทยอย่างเต็มที่ .