บอร์ด สสค.หนุนรัฐปฏิรูปเงินอุดหนุนการศึกษา จ่ายตรงให้เด็กยากจน
พบสถานการณ์ความยากจน ร้อยละ 10 ของ ‘ครัวเรือนรวยที่สุด’ เปรียบเทียบ ‘ครัวเรือนจนที่สุด’ มีรายได้เฉลี่ยต่างกัน 19 เท่า บอร์ด สสค.มอบ สสค. เดินหน้าเสนอ ‘ซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา’ ปฏิรูปเงินอุดหนุนการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ ช่วย ‘เด็กยากจน 1.5 ล้านคน’
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวในการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีวาระที่สำคัญถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ พ.ศ…..โดยล่าสุดที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนร่างพ.ร.บ.กองทุนสสค.ให้ออกเป็นพระราชกฤษฏีกา ภายใต้พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 จัดตั้งเป็นสถาบันสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ โดยอยู่ในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ พ.ศ…ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย โดยเปลี่ยนแหล่งที่มาของรายได้ จากเงินภาษีสรรพสามิตเป็นการใช้งบประมาณที่คณะรัฐมนตรีจัดสรรให้เป็นรายปี
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ด สสค.ยังเห็นชอบให้มีการเสนอนโยบาย “การปฏิรูปเงินอุดหนุนการศึกษาเพื่อเด็กยากจน” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ต่อคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาเห็นชอบในร่างข้อเสนอ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับให้ตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ ให้บุตรหลานได้รับการดูแลตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงม.3 ราว 1.5 ล้านคน ซึ่งมีความจำเป็นต้องพัฒนา“ระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ควบคู่ไปด้วย
สำหรับงานวิจัยล่าสุดจากโครงการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันแม้รัฐบาลได้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีและก่อนประถมศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ปี 2542 แต่ยังพบสถานการณ์ความยากจน โดยเมื่อเปรียบเทียบครัวเรือนร้อยละ 10 ที่ยากจนที่สุด กับครัวเรือนร้อยละ 10 ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยพบว่า มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกันสูงถึง 19 เท่า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนให้กับเด็กยากจนราว 3.5 ล้านคน แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 1.6 ล้านคน
ทั้งนี้ บอร์ด สสค.มีข้อเสนอ 3 ข้อดังนี้ 1.) เสนอให้มีการเพิ่มงบประมาณอุดหนุนสถานศึกษาเดิมร้อยละ 0.5 ให้เพิ่มขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 2) ปรับเปลี่ยนระบบโควต้าเงินอุดหนุนผ่านสถานศึกษาเป็นจ่ายตรงไปยังเด็กยากจน และ 3) ใช้ระบบสารสนเทศในโรงเรียนให้เป็นเครื่องมือในการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา
ส่วนโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งมีเป้าหมายให้จังหวัดสร้างขีดความสามารถที่จะปฏิรูปการศึกษาด้วยตนเองได้ในระยะยาวรวมทั้งสิ้น 15 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่วนกลางที่ต้องการกระจายอำนาจด้านการศึกษาลงสู่พื้นที่นั้น บอร์ดสสค.มีข้อเสนอแนะว่า สิ่งสำคัญคือ การสร้างกลไกการบริหารการศึกษาเชิงพื้นที่ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ 1) กลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมในลักษณะ“สมัชชาจังหวัด” 2) กลไกการขับเคลื่อนแผนการทำงาน ในลักษณะคณะกรรมการจัดทำแผนด้านการศึกษา และ 3) การจัดทำข้อมูลเชิงลึกเพื่อใช้วิเคราะห์ทิศทางจังหวัด ซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ