ชงมาตรการปราบทุจริตจี้ป.ป.ช.สอบภาษีนักการเมือง-โชว์ทรัพย์สินบิ๊กขรก.
สภาพัฒนาการเมืองจัดสัมมนามาตรการใช้รายการภาษีเพื่อป้อง-ปรามการทุจริต ชง 3 มาตรการ ให้ กมธ.ยกร่างฯ ใส่ใน รธน.ใหม่ จี้ ป.ป.ช. สอบภาษีด้วย เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน “บิ๊ก ขรก.-รัฐวิสาหกิจ” ให้ประชาชนมีสิทธิ์ขอสำเนาใบภาษีนักการเมือง-ขรก.มาตรวจสอบเองได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2558 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง จัดงานสัมมนา เรื่อง มาตรการการใช้การแสดงรายการภาษีเงินได้เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีบุคคลชื่อดังเข้าร่วมเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายมานะ นิมิตมงคล ผอ.องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น นายสมพงษ์ ตัณฑพาทย์ รองอธิบดีกรมสรรพากร นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 1 และ ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น
ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวเปิดสัมมนาตอนหนึ่งว่า ปัญหาทุจริตเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ใช้ในปัจจุบัน จึงบัญญัติให้ปฏิรูปประเทศ กลไกป้องกันขจัดทุจริตที่มีประสิทธิภาพ และ กมธ.ยกร่างฯ ต้องจัดทำร่างให้ครอบคลุมในการป้องกันตรวจสอบและประพฤติมิชอบทั้งภาครัฐและเอกชน กำกับควบคุมอำนาจรัฐเพื่อส่วนรวมของประเทศชาติ
ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวอีกว่า เมื่อเดือน ก.ค. 2557 สภาพัฒนาการเมืองได้เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในหัวข้อดังกล่าว หลักการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง ตรวจสอบที่มาทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ปัจจุบันร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการเปิดเผยไปแล้วโดย กมธ.ยกร่างยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้มีบทบัญญัติมาตรการดังกล่าวอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การที่สภาพัฒนาการเมือง จัดสัมมนาดังกล่าว จึงนับว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปฏิรูปประเทศ และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน โดยผลสรุปที่ได้ จะนำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการแสดงภาษีเงินได้ดังกล่าว เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อไป
ส่วนนายอนุรักษ์ กล่าวเสนอประเด็นการสัมมนาว่า ปัจจุบันมีคดีอยู่ระหว่างดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกือบเป็นพัน ๆเรื่อง มีคดีส่งฟ้องต่อศาลน้อยมาก โดยเฉพาะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีที่ผ่านมาเฉพาะคดีทุจริตมีเพียง 30 คดี และเฉพาะคดีที่จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จมีเพียง 140 คดีเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากมาตรการที่ผ่านมาดำเนินการไม่ได้ผล
นายอนุรักษ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาและประสบการณ์สมัยเป็นเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา คดีทุจริตหลังรัฐประหารปี 2549 กระบวนการหรือมาตรการต่าง ๆ ไม่ส่งผลต่อการปราบปรามหรือป้องกันการทุจริตอย่างมีนัยยะ เพราะสังคมก็พูดอยู่ตลอด โดยเฉพาะการรัฐประหารครั้งล่าสุด ก็ยกเหตุผลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาคือ กระบวนการที่เราใช้อยู่ ไม่สามารถป้องกันคนทุจริตคอร์รัปชั่นเข้ามาในอำนาจรัฐได้ และไม่สามารถตรวจสอบคนที่อยู่ในอำนาจรัฐทีทุจริตได้ด้วย
ทั้งนี้ นายอนุรักษ์ เสนอแนวทางอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินและฐานะความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับสำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช. ไม่ได้นำสำเนาภาษีเงินได้ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาใช้ประโยชน์เลย ป.ป.ช. เพียงแค่ตรวจสอบความถูกต้องและมีอยู่จริงของทรัพย์สินเท่านั้น แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าทรัพย์สินที่ยื่นมานั้นถูกต้องและมีอยู่จริง 2.เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของข้าราชการระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือปลัดกระทรวงต่าง ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจด้วย เพราะถ้าไม่เปิดเผยก็ไม่มีประโยชน์ และ 3.ประชาชนต้องมีสิทธิในการขอสำเนาแบบภาษีเงินได้ของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง เพื่อใช้ในการตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย