กฤษฎีกา ชี้ชัด รัฐอุดหนุนร่วมจ่ายช่วยผู้ประกัน ม.40 มิใช่เงินสมทบ
กฤษฎีกา ระบุชัด รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตน ม. 40 โดยครม.อนุมัติงบฯ ช่วยเหลือ บรรเทาภาระค่าใช้จ่าย มิใช่การจ่ายเพื่อเป็นเงินสมทบ แนะจะทำอีกรัฐสามารถตั้งเงินงบฯ ฉุกเฉิน หรือ งบกลาง เพื่อใช้เป็นเงินอุดหนุนเหมือนที่เคยปฏิบัติมาได้
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554
จากกรณีที่สำนักงานประกันสังคม มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือในประเด็นข้อกฎหมายในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
ในประเด็นที่ 1 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มิได้กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ
การที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ โดยจ่ายเป็นเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตนจะสามารถกระทำได้หรือไม่ และหากสามารถกระทำได้ จะถือว่าผู้ประกันตนมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน โดยมีอัตราเงินสมทบเป็นไปตามมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 8/1 แล้วแต่กรณี หรือเป็นไปตามมาตรา 20 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
ต่อกรณีดังกล่าว
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่า รัฐบาลจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสบทบในกรณีนี้
การที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนดังกล่าว โดยตั้งเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี (งบกลาง) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นและนำเงินอุดหนุนดังกล่าวมาจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนในส่วนที่ผู้ประกันตนไม่ได้จ่าย ตามที่มาตรา 20[2] แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554 ได้กำหนดไว้นั้น เป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน จึงมิใช่การจ่ายเพื่อเป็นเงินสมทบของรัฐบาล
แต่อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลประสงค์จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลย่อมสามารถตั้งเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบกลาง) เพื่อใช้เป็นเงินอุดหนุนเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาได้ แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของฐานะทางการเงินการคลังของประเทศด้วย
หากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนแล้ว ย่อมถือว่าผู้ประกันตน ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนครบถ้วนตามที่มาตรา 7[3] ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย มาตรา 8[4] ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ หรือมาตรา 8/1[5] สิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละสองร้อยบาท ได้แก่ ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดไว้ แล้วแต่กรณี
ประเด็นที่ 2 การจ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินบำเหน็จชราภาพตามมาตรา 14/1 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ สามารถคำนวณจ่ายโดยนำเงินที่รัฐบาลสนับสนุนตั้งแต่เดือนที่เป็นผู้ประกันตน หรือที่รัฐบาลสนับสนุนย้อนหลังไปไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2555 แล้วแต่กรณี ได้หรือไม่
หากไม่สามารถนำเงินที่รัฐบาลสนับสนุนมาคำนวณจ่ายได้ สำนักงานประกันสังคมจะต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งในส่วนที่มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว และที่จะต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนในอนาคตต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อได้ให้ความเห็นในประเด็นที่หนึ่งแล้วจึงเห็นว่า สามารถคำนวณจ่ายได้ โดยนำเงินที่รัฐบาลตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี (งบกลาง) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น อันเป็นเงินอุดหนุนเพื่อจะนำมาจ่ายสนับสนุนผู้ประกันตนนอกเหนือจากที่ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบตามที่มาตรา 20[7] แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้กำหนดไว้ โดยเงินดังกล่าวนั้นสามารถนำมาใช้ในการคำนวณจ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งแต่เดือนที่เป็นผู้ประกันตนหรือเดือนที่ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบย้อนหลังเข้ากองทุน
ประเด็นที่ 3 ในกรณีที่เมื่อใดรัฐบาลไม่มีนโยบายสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน และเป็นห้วงระยะเวลาที่สำนักงานประกันสังคมยังมิได้ประกาศการจ่ายเงินสมทบเป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 20 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกันตนบางส่วนไม่ได้รับการสนับสนุนเงินสมทบจากรัฐบาล
หากมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนที่ยื่นขอรับสิทธิสำนักงานประกันสังคมจะต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนในอัตราที่คำนวณจากเงินสมทบตามมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 8/1 แล้วแต่กรณี หรืออัตราที่คำนวณจากเงินสมทบตามมาตรา 20 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งหากต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนในอัตราที่คำนวณจากเงินสมทบตามมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 8/1 สำนักงานประกันสังคมสามารถนำเงินกองทุนมาจ่ายได้หรือไม่ หากไม่ได้จะต้องนำเงินจากที่ใดมารวมคำนวณจ่ายให้แก่ผู้ประกันตน
คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ยังมิได้เกิดขึ้น จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 4 เพื่อประโยชน์ในการยกร่างพระราชกฤษฎีกาฯ การขยายระยะเวลาให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ได้อีกตามนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน การกำหนดบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 8/1 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ แล้วแต่กรณี รวมทั้งการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนย้อนหลังถึงเดือนพฤษภาคม 2555 ภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นการเฉพาะนอกเหนือไปจากหลักการทั่วไปแห่งพระราชกฤษฎีกาฯ จะสามารถกระทำได้หรือไม่
ในกรณีที่ไม่สามารถกระทำได้ สำนักงานประกันสังคมจะต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งในส่วนของผู้ประกันตนตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ที่มีการรับสมัครเป็นผู้ประกันตน และจ่ายประโยชน์ทดแทนไปบ้างแล้ว
คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า สำนักงานประกันสังคมต้องดำเนินการรับสมัครผู้ประกันตนได้ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2557 เท่านั้น และไม่สามารถดำเนินการต่ออายุพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ แต่สำนักงานประกันสังคมอาจดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตนขึ้นใหม่ได้
อ่านบันทึก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ฉบับเต็มได้ที่นี่