ข้อสังเกตและข้อเสนอของคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป
ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรสื่อทุกระดับเห็นความสำคัญของการปฏิรูปสื่อว่า เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตามสภาพการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ก็จะเกิดผลดีต่อวงการสื่อมวลชนและสังคมโดยส่วนรวมและการปฏิรูปสื่อโดยเน้นเรื่องเสรีภาพโดยความรับผิดชอบ การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งภาควิชาชีพ ภาครัฐ และภาคประชาชน รวมทั้งการป้องกันการแทรกแซงสื่อจากอำนาจรัฐและทุน เป็นประเด็นที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
คณะทำงานเพื่อการปฏิรูปสื่อให้คุณค่าและความสำคัญกับการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานการสนับสนุนให้สื่อควบคุมกันเอง แต่ก็เห็นจุดอ่อนของการควบคุมกันเองที่ผ่านมาว่า อำนาจในการลงโทษที่องค์กรวิชาชีพมีอยู่นั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม เพราะอำนาจในการลงโทษขององค์กรวิชาชีพสื่อนั้น มีแต่เพียงให้แก้ไขความผิดพลาดโดยตีพิมพ์คำวินิจฉัยขององค์กรวิชาชีพสื่อ เพราะองค์กรวิชาชีพสื่อไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ได้รับเอาอำนาจรัฐมา จึงไม่สามารถลงโทษปรับหรืออื่นๆ ซึ่งเป็นโทษในทางแพ่งและอาญาแก่ผู้กระทำผิดได้
การปฏิรูปสื่อครั้งนี้จึงมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาว่า สื่อมวลชนจะรับอำนาจรัฐมาลงโทษกันเองหรือไม่ ซึ่งคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปเห็นว่า หากทำเช่นนั้นนอกจากจะขัดต่อหลักการควบคุมกันเองที่พยายามพัฒนากันมากว่า 18 ปี ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับกันในทางสากล การรับอำนาจรัฐมาเสี่ยงกับการถูกแทรกแซงโดยรัฐ ที่จะเข้ามาโดยการให้เงินอุดหนุนองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้น หรือต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอววิชาชีพโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเสมือนกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพโดยกลายๆ
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปเห็นว่า แม้คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติจะมีความปรารถนาดีและมีเจตนาในการปฏิรูปที่น่าชื่นชมหลายประการ แต่รูปแบบกฎหมายที่สภาปฏิรูปเห็นชอบไปนั้นมีความไม่รอบคอบและอาจจะก่อปัญหาในอนาคตได้ จึงมีคำทักท้วงว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ ควรเสนอเฉพาะหลักการไว้ในรายงาน แต่ไม่ควรเสนอร่างกฎหมายที่มีปัญหาไปด้วย
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปเห็นว่า การปฏิรูปสื่อที่จะเกิดขึ้นควรจะเป็นการปฏิรูปสื่อทั้งระบบ มิใช่ออกกฏหมายมาปฏิรูปสื่อภาคเอกชน โดยมิได้รวมสื่อภาครัฐเข้าไปด้วย เพราะหากไม่ทำทั้งระบบการปฏิรูปสื่อก็คงไม่มีความหมายและมิใช่การแก้ไขปัญหา อีกทั้งการปฏิรูปสื่อต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของปัญหา มิใช่การออกกฎหมายฉบับที่มีเนื้อหามุ่งแต่การควบคุมสื่อภาคเอกชนอย่างเดียว
สำหรับรูปแบบที่จะเป็นปัญหาน้อยที่สุดและจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายนั้น การปฏิรูปสื่อที่กำลังจะเกิดขึ้นควรอยู่บนแนวคิดที่สนับสนุนให้องค์กรวิชาชีพได้มีการควบคุมกันเองเป็นขั้นแรก ทั้งนี้องค์กรสื่อทุกองค์กรต้องมีข้อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กร โดยมีสาระสำคัญที่พึงมี แล้วยังต้องมีการตั้งคณะบรรณาธิการ เพื่อทำหน้าที่เป็นกำแพงศักดิ์สิทธิ์ป้องกันการแทรกแซงจากเจ้าของ
ขณะเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาการเซ็นเซอร์ตนเอง การสนับสนุนให้มีการตั้งสหภาพแรงงานในองค์กรสื่อ หรือตั้งสหภาพแรงงานกลางในองค์กรวิชาชีพสื่อ และป้องกันการแทรกแซงโดยรัฐ ด้วยการออกกฎหมายการควบคุมการใช้งบประมาณภาครัฐซื้อสื่อ และกฎหมายอื่นที่จำเป็นเช่นว่าด้วยเรื่องการประกันความมีเสรีภาพของสื่อภาครัฐเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปสื่อไม่ว่าเอกชนหรือรัฐควรอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญ แยกอำนาจหน้าที่ระหว่างผู้กำกับดูแล (Regulator) และผู้ประกอบการ (Operator) โดยควรออกกฎหมายให้อำนาจผู้กำกับดูแล (Regulator) ซึ่งจะแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.สภาวิชาชีพกลางหรือคำเรียกอื่นที่เหมาะสมทำหน้าที่ในการออกมาตรฐานกลางทางด้านจริยธรรม และช่วยองค์กรหรือสภาวิชาชีพสื่อพัฒนากระบวนการพิจาณารับเรื่องร้องทุกข์ให้เกิดประสิทธิภาพ
2.องค์กรที่เกิดจากพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมโดยให้ภาคประชาชนรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวัง (Media Watch)หรือคำเรียกอื่นที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง มิให้มีสื่อถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐและทุน โดยให้ทำรายงานต่อสาธารณะในเรื่องสถานการณ์สื่อ รวมทั้งการวิจัยเรื่องสื่อในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพการจ้าง สวัสดิภาพ ฯลฯ เพื่อเสนอแนะให้องค์กรสื่อปรับปรุง ไปพร้อมๆ กับให้สังคมได้รับทราบ
อีกด้านหนึ่งให้องค์กรนี้เป็นตัวแทนของประชาชนและทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบสื่อแทนประชาชน โดยองค์กรนี้เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและฟ้องร้องแทน เมื่อเห็นว่าองค์กรสื่อผู้ประกอบวิชาชีพทำผิดจริยธรรม
ทั้งสององค์กรนี้จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ แต่ก็มีสถานะเป็นองค์กรอิสระของประชาชน เป็นการเพิ่มพลังให้ภาคประชาชนในการทำหน้าที่กำกับตรวจสอบดูแลขณะเดียวกันก็เป็นป้องกันการแทรกแซงสื่อด้วย
วิธีการนี้เป็นการนำเอาอำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปสื่ออย่างสร้างสรรค์ โดยจำกัดขอบเขตของกฎหมายและตัดปัญหาข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงสื่อ นอกจากนี้ สื่อยังสามารถรวมตัวกันได้ตามประเภทของสื่อและสามารถเกิดองค์กรหรือสภาวิชาชีพใหม่ๆ ได้ ตามภูมิภาคหรือตามลักษณะสื่อ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวที่สอดคล้องไปตามความแตกต่างทั้งมิติ ประเภท หรือรูปแบบของเนื้อหา และมิติระดับการครอบคลุมของการประกอบการ
เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาทางด้านจริยธรรม องค์กรผู้กำกับดูแล(Regulator) กลุ่มแรก ที่จะต้องจัดตั้งโดยกฎหมายนั้น อาจจัดให้มีเงินสนับสนุนองค์กรหรือสภาวิชาชีพที่มีกระบวนการที่ดีและพัฒนาจริยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในรายละเอียดอีกมากที่มิใช่การออกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว เช่น เป็นอิสระของผู้ประกอบวิชาชีพและเพื่อจูงใจให้มีการจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของทุนได้แสดงความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมภิบาลและคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ควรมีมาตรการจูงใจด้วยวิธีอื่นเช่น การให้มีสิทธิในการประกันตัวหากถูกฟ้องร้องโดยผ่านการเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพหรือสมาคม เป็นต้น
สำหรับระบบและกลไกด้านการดูแลสื่อด้านสวัสดิภาพนั้น ให้เป็นรายละเอียดที่องค์กรกลางที่ทำหน้าที่พัฒนาจริยธรรมเป็นผู้พัฒนาร่วมกับสภาวิชาชีพแต่ทั้งนี้ให้อยู่บนหลักการสำคัญที่ว่า สื่อจะคงความเป็นอิสระได้ต่อเมื่อสามารถยืนอยู่บนความเป็นอิสระทางด้านเศรษฐกิจของตนเอง
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาผู้ประกอบวิชาชีพข่าวและโทรทัศน์ไทย
24 กรกฎาคม 2558
อ่านประกอบ: มุมมองในการปฏิรูปสื่อ