สมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์ไทย ชี้คนไทยยุคใหม่ขาดกระบวนการเรียนรู้ก่อนเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์ไทยยกกรณีเด็กไทยป่วนถ่ายทอดสดนาซ่า เผยเหตุการณ์ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหวังของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่สะท้อนประชากรไทยขาดกระบวนการศึกษา ขณะที่มูลนิธิเพื่ออินเตอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมืองชวนใช้โมเดลICANN เป็นพื้นที่ส่วนกลางในการร่วมอภิบาลกลไกอินเทอร์เน็ต
เมื่อเร็วๆนี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 16 องค์กรจัดงานเวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย (Internet Governance Forum: IGF) ห้อง 313 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “กลไกการอภิบาลอินเทอร์เน็ต: เป็นเรื่องของทุกคน “
นายปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์ไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์เมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่ NASA ที่มีการถ่ายทอดสดที่สำคัญสำหรับคนที่ชอบเรื่องดาราศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ยานอวกาศไปถึงดาวพลูโตได้สำเร็จ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างรอวันนี้ แต่กลับมีการคอมเม้นของเด็กไทยที่ไม่ดี เช่น "บนดาวพลูโตมีกัญชาไหม" เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดหวังของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต รวมถึงในปัจจุบันพบว่ายอดขายสมาร์ทโฟนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วในกลุ่มของผู้เข้าสู่อินเตอร์เน็ตหน้าใหม่จะเกิดขึ้นอีกกี่คน สิ่งที่จะเจอในโลกอินเตอร์เน็ตหน้าใหม่จัดอยู่ในกลุ่มของคุณป้า คุณตา และคุณยาย
นายปฐม กล่าวอีกว่า ในกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เกิดใหม่เหล่านี้มองว่าไม่มีความเท่าเทียม เพราะจากอดีตการใช้อินเตอร์เน็ตใช้เพื่อการเรียนหาข้อมูล กลุ่มเหล่านี้จะค่อยๆถูกปลูกฝังในสิ่งที่ถูกที่ควร ก่อนจะลงสู่สังคมโลกออนไลน์กลุ่มนี้จึงรู้ว่าควรพิมพ์อะไร ควรทำตัวอย่างไรบนโลกอินเตอร์เน็ต เพราะฉะนั้นประชากรอินเตอร์เน็ตในเมืองไทยขาดกระบวนการศึกษาและเรียนรู้มากมาย ทำให้เกิดการใช้ไม่ได้อย่างเต็มที่คนกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยผ่านกระบวนการใช้งานเหล่านี้จึงกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ดีในโลกอินเตอร์เน็ต ประเด็นนี้จึงทำให้คิดว่าควรจะลงไปให้ความรู้กับคนเหล่านี้ได้อย่างไร
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์ไทย กล่าวถึงคุณลักษณะของการใช้อินเตอร์เน็ตของคนในปัจจุบันสามารถแบ่งเป็น 4 คุณลักษณะ คือ
1.คนสนใจเรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ เช่น ในเรื่องของต้องการมีเพื่อนในโลกอินเตอร์เน็ตเยอะไว้ก่อน โดยไม่สนใจว่าเป็นคนที่รู้จักกัน
2.ใช้สังคมเป็นการต่อรอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะเป็นการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้พลังในทางที่ผิด
3.การที่เชื่อคำพูดคนอื่นง่ายๆ มากกว่าคนในครอบครัว ด้วยการพูด คุย ทั้งๆที่ยังไม่เคยรู้จักกัน
4.คนจำพวกที่หาช่องทางลับในการที่จะทำอะไรสักอย่าง ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น หลอกให้โอนเงิน ฉ้อโกง ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมเราในทุกๆวัน
"อยากให้เปลี่ยนอย่าคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ของเรา อนาคตสามารถเป็นปัญหาต่อเราได้ และไม่สามารถหนีพ้นได้"
ด้านนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล มูลนิธิเพื่ออินเตอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง กล่าวถึง กลไกการอภิบาลอินเทอร์เน็ตใน ช่องทางที่คนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ในตอนนี้ไม่มีความเป็นศูนย์กลางเท่าที่ควร เพราะตัวอินเทอร์เน็ตมีสภาพที่ต่างคนต่างใช้ มีเพียงข้อตกลงกันอย่างหลวมๆ เช่น ในการตั้งเซิฟเวอร์ต่างๆใครก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต แต่การสื่อสารต่างๆต้องทำตามเงื่อนไขของโปรโตคอลซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน อินเทอร์เน็ตไม่ได้มีส่วนกลางแต่ก็ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ เช่นเดียวกับการอภิบาลอินเตอร์เน็ตที่จะมีการจัดการดูแล แต่ละองค์กร ชุมชนต่างมีการทำงานที่แตกต่างกันไป แต่ละคนต่างมีเป้าหมายทางธุรกิจ การที่จะทำงานร่วมกันได้ต้องหาพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถมีการตกลงกันได้ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ในพื้นที่เดียว เพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องการแสดงของเว็บไซต์ควรมีมาตรฐานอย่างไร
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันการเข้าถึงเรื่องของอินเทอร์เน็ตไม่ได้มีกลุ่มให้พูดคุยกันเพียงแค่กลุ่มเดียว ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเป็นเวทีกลางที่มีพื้นที่ใหญ่คือ องค์กรความร่วมมือด้านการจัดสรรชื่อและหมายเลขทางอินเทอร์เน็ต (ICANN) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดสรรทรัพยากรหมายเลขหรือชื่อทางอินเทอร์เน็ตและเป็นองค์กรระดับบนสุดในโครงสร้างการบริหารงานและพัฒนาระบบโดเมนโลก ICANN จึงมีการดำเนินงานอย่างมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างหลักประกันในเรื่องเสถียรภาพ (stability) และความมั่นคงปลอดภัย (security)ให้แก่ระบบชื่อและหมายเลขของอินเตอร์เน็ต ว่าใครจะได้ชื่ออะไรและได้เลขหมายอะไร อีกทั้งเรายังสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เมื่อมีการประชุมและออกมาตรฐานอะไรออกไปจะเกิดการหารือกัน เปิดให้รับฟังความคิดเห็นตามเวลาที่กำหนด
ขณะที่นางสาวปิตินันท์ คูอมรพัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ กล่าวว่า เดิมที่ภาระหน้าที่ต่างๆเหล่านี้เคย บริหารโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งทำสัญญากับหน่วยงานทางทางด้านเทคนิคคือ IANA (Internet Assigned Numbers Authority ) ซึ่งหลังจากที่มีการมอบความรับผิดชอบต่างๆเหล่านี้มายัง ICANN แล้ว IANA ก็กลายเป็นหน่วยปฏิบัติงาน หนึ่งของ ICANN ที่ทำหน้าที่หลักในการดูแล และจัดการเกี่ยวกับหมายเลขชุดประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP) และทางสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) มีโอกาสได้เข้าไปเป็นตัวแทนภาครัฐ ทาง ICANN ทุ่มเทการทำงานเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพการดำเนินงานของระบบอินเตอร์เน็ต และส่งเสริมการแข่งขันเสรี และเพื่อที่จะดำรงอยู่เป็นตัวแทนของชุมชนอินเตอร์เน็ตโลกที่ทำหน้าที่พัฒนา นโยบาย เพื่อการดำเนินงานภารกิจต่างๆเหล่านี้ด้วยกระบวนการจากล่างสู่บน บนพื้นฐานของมติที่เป็นเอกฉันท์ และยังมีส่วนของทางรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ทางภาครัฐมีหน้าที่แค่ให้คำปรึกษา ให้ความเห็นได้แต่ไม่มีสิทธิโหวต เพราะในเรื่องของอินเทอร์เน็ตใครหลายๆคนก็ไม่อยากให้รัฐบาลเข้ามาเท่าไหร่ แต่บางทีมีสิ่งที่ต้องฟังเหมือนกัน
นางสาวปิตินันท์ กล่าวด้วยว่า อย่างในเว็บไซต์ AMEZON เป็นเว็บไซต์ที่มีการขายของ และการที่ให้จดชื่อใหม่ขึ้นทำให้เว็บไซต์ AMEZON เปลี่ยนไปยื่นขอจดเป็น .AMEZON (ดอทอะเมซอน) ซึ่งในประเทศแถบอเมริกาใต้ไม่ยอมเพราะเป็นแม่น้ำของทางประเทศเขา จึงเกิดการสู้กันระหว่างประเทศ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีกฎหมายที่มีร่วมกันระหว่างประเทศ ดังนั้นเป็นบทบาทที่ทางภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง และในส่วนของ ICANN เองเป็นการที่เปิดให้ทางสังคมเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อเราเสิร์จเข้าไปในอินเทอร์เน็ตเราก็จะพบว่าตอนนี้มีเรื่องอะไรบ้างที่คนแสดงความคิดเห็น และในเรื่องที่สำคัญมี 5 เรื่องที่กำลังเป็นปัญหาสำหรับ ICANN คือ
1. เดิมที่การควบคุม ICANN คือรัฐบาลสหรัฐ และถ้าหมดสัญญาเขาจะไม่ต่อเนื่องจากมีเสียงพูดกันว่าทางสหรัฐอเมริกาชอบเข้าไปเจาะระบบคนอื่น และในสัญญานี้จะหมดใน ก.ย.ปี58 เมื่อหมดสัญญานี้ไปสังคมต่างๆต้องช่วยกันสร้างกลไกใหม่
2. ผู้ลงทะเบียนโดเมนเนม (Registrants) ที่จะจัดให้มีการใช้ชื่อใหม่ๆ และในการจดชื่อนั้นจะมีการเช็ค และตรวจสอบผู้จดอย่างไร
3. การใช้ภาษาท้องถิ่นบนอินเตอร์เน็ต เนื่องจากตอนนี้ราคาโทรศัพท์ถูกลงแล้ว การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องง่าย ภาษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
4. การกำกับดูแลนโยบายเพื่อกรณีพิพาทในโดเมนเนม
5. เรื่องไวรัสบนเว็บไซต์และเป็นเว็บไซต์ที่ก่อปัญหา จะจัดการเว็บไซต์เหล่านี้อย่างไร การปิดเว็บเหล่านี้นั้นทางตำรวจมองว่าในความเป็นสิ่งที่มีความรุนแรงเกินไป ควรมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้