ทำไมคนโกงไม่ถูกดำเนินคดี..... (ซะที)
ป.ป.ช. มีเรื่องร้องเรียนใหม่เข้าสู่กระบวนการเฉลี่ยปีละ 2,581 เรื่อง แต่มีขีดความสามารถดำเนินการให้เสร็จเฉลี่ย 1,528 เรื่อง ซึ่งแปลว่าจะมีคดีตกค้างสะสมปีละเกือบ 1,000 เรื่อง (รวมตกค้างอยู่ 8,581 คดี ณ สิ้นธันวาคม 2556) และมีแนวโน้มว่าจะมีเรื่องร้อง เรียนเข้าในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ1
เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ป.ป.ช. จะดำเนินการตามขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการเฉลี่ย คือ
1. ขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ปี
2. ขั้นตอนไต่สวนข้อเท็จจริง ใช้ระยะเวลาดำเนินการเฉลี่ย 3 ปี (1,059 วัน)
3. จากนั้นเมื่อเห็นว่าคดีมีมูลความผิดจึงเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วชี้ขาดว่าคดีมีมูล (ไม่มีข้อมูลว่าใช้เวลาแค่ไหน) ก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อไป แต่ในกระบวนการดำเนินคดีในชั้นอัยการสูงสุดพบว่าต้องใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานถึง 398 วัน และนานสุดถึง 4 ปี ก่อนนำฟ้องคดีขึ้นสู่ศาล2
4.เมื่อศาลอาญารับฟ้องแล้วจะใช้เวลาพิจารณาคดีจนถึงมีคำพิพากษา (ศาลชั้นต้น-ผู้เขียน) เฉลี่ย 636 วันหรือ 1 ปี 9 เดือน และนานสุด 1623 วันหรือประมาณ 4 ปีครึ่ง3 (เฉพาะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2544 – 2557 ได้มีคำตัดสินคดีไปแล้ว 33 คดี4)
ข้อสังเกต : ระยะเวลารวมของค่าเฉลี่ยในสามขั้นตอนแรกมากกว่า 7 ปี
ปรกติแล้วอายุความของคดีที่เกี่ยวกับคอร์รัปชันจะอยู่ระหว่าง 1 – 20 ปี ตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 แยกเป็น
1.คดีที่มีโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปี มีอายุความ 20 ปี (เช่น คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์)
2.คดีที่มีโทษจำคุก 7 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี มีอายุความ 15 ปี
3.คดีที่มีโทษ 1 ปี ถึง 7 ปี มีอายุความ 10 ปี (เช่น คดีการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์)
4.คดีที่มีโทษจำคุก 1 เดือน ถึง 1 ปี มีอายุความ 5 ปี
5.คดีที่มีโทษจำคุกต่ำกว่า 1 ปีหรือมีโทษอย่างอื่น มีอายุความ 1 ปี
จากมุมมองของคนนอก ผมมองว่า...
การที่ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการกับเรื่องร้องเรียนได้เสร็จเพียงร้อยละ 60 ต่อปี และใช้เวลาในการดำเนินคดีโดยเฉลี่ยมากเช่นนี้ อาจเกิดจาก ปัจจัยภายใน เช่น ขาดแคลนทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ ขาดเครื่องมือหรืออำนาจที่มีประสิทธิภาพเพื่อการปฏิบัติภารกิจ การออกแบบองค์กรหรือกระบวนการทำงานที่ผิดพลาดมาแต่แรก บุคคลากรขาดประสบการณ์หรือขาดความมุ่งมั่น ความไม่มีประสิทธิภาพของผู้บริหาร ปัจจัยภายนอก เช่น การถูกกดดันกลั่นแกล้ง การขาดความร่วมมือที่ดีจากองค์กรหรือผู้เกี่ยวข้อง และปัญหาความเป็นอิสระขององค์กร กฎหมายหรือระบบของกระบวนการยุติธรรมบกพร่อง
วันนี้ผมยังไม่มีโอกาสศึกษาข้อมูลการใช้งบประมาณของ ป.ป.ช. ในแง่ของต้นทุนดำเนินงาน การใช้งบด้านบุคลากรและบริหารจัดการและการใช้งบดำเนินโครงการ ว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน
แต่ที่แน่ๆ ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้รับงบประมาณจากรัฐในแต่ละปีต่ำมากและมักต้องใช้วิธีตั้งงบประมาณเผื่อไว้ให้สภาฯ ตัดลงครึ่งหนึ่ง5เสมอ โดยปี 2557 ได้รับเพียง 1,320 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหน้าที่ในการป้องกันประเทศจากความเสียหายของคอร์รัปชันปีละ 2 – 3 แสนล้านบาทเป็นอย่างน้อย
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
23 กรกฎาคม 2558
1สรรเสริญ พลเจียก, เลขาธิการ ป.ป.ช., นิติเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยการทำงานของ ป.ป.ช., สนง.ป.ป.ช., มีนาคม 2558, น. 8-9, 55 - 57
2ศิริรัตน์ วสุวัตและประเสริฐศักดิ์ กุมภีพงษ์ นิติเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่อต้านการทุจริต, สนง. ป.ป.ช., มีนาคม 2558, น.7,79
3ศิริรัตน์ วสุวัต, อ้างแล้ว, น.79
4อนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล, สัมภาษณ์ 23 มีนาคม 2558
5เมธี ครองแก้ว, นิติเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต, สนง. ป.ป.ช., มีนาคม 2558, น.111
ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.trueactivist.com