ศาลปค.นัดวันสิ้นสุดหาข้อเท็จจริงคดีเขื่อนไซยะบุรี 24 ก.ค. ก่อนพิจารณาคดี
ชาวบ้าน 8 จังหวัดน้ำโขงแถลงจุดยืน หวั่นผลกระทบจากผันน้ำ-เขตเศรษฐกิจพิเศษ เสนอตั้งสภาประชาชนแม่น้ำโขง ด้านเครือข่ายส่งทนายยื่นข้อเท็จจริงคัดค้านครั้งสุดท้าย คดีเขื่อนไซยะบุรี 24 ก.ค. 58 ทีี่ศาลปค.
วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่ริมแม่น้ำโขง ในวัดป่าเทพวิมุติ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง แถลงข่าวภายหลังการประชุมร่วมกับชาวบ้านราว 80 คน ถึงท่าทีต่อปัจจัยคุกคามแม่น้ำโขง เขื่อน การผันน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศข้ามพรมแดน
น.ส.จินตนา เกษรสมบัติ ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน จ.บึงกาฬ กล่าวว่าพวกเราซึ่งเป็นคนท้องถิ่น คนหาปลา ชาวไร่ชาวนา เป็นผู้ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำโขงตลอดมา แต่แม่น้ำโขงซึ่งเป็นดังเส้นเลือดของภูมิภาค กลับถูกกระทำมาโดยตลอดนับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในจีน เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนเป็นต้นมา จนบัดนี้สร้างเสร็จไปแล้วถึง 6 เขื่อน
“หากแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปเพราะธรรมชาติ เราจำยอมรับได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงความเสียหายนั้นเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ด้วยนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ทรัพยากรแม่น้ำโขงโดยปราศจากความรับผิดชอบ พวกเราที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงจากจ.เชียงราย ลงมาถึงอุบลราชธานี ล้วนแต่เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในรอบหลายปีที่ผ่านมา"
ตัวเเทนสภาองค์กรชุมชน จ.บึงกาฬ กล่าวอีกว่าสำหรับคดีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งได้ฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 4 หน่วยงานรัฐในการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2557 ขณะนี้ศาลมีคำสั่งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 เวลา 10.00 น. ณ ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะมีการยื่นข้อเท็จจริงคัดค้านครั้งสุดท้าย และหลังจากนี้ศาลจะพิจารณาคดี
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คดีนี้จะเป็นการสร้างมาตรฐานในการสร้างความรับผิดชอบข้ามพรมแดนที่แม้ว่าการ ดำเนินการของรัฐจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่หากเกิดผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนในประเทศไทย สิทธิชุมชนย่อมได้รับการคุ้มครองและชดเชยความเสียหาย
น.ส.จินตนา กล่าวอีกว่า การผันน้ำแม่น้ำโขงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นการปัดฝุ่นโครงการเก่าที่เคยมีการศึกษาไว้นานแล้ว ทั้งแนวทางการผันน้ำโขง กก อิง น่าน แนวผันน้ำโขง เลย ชี มูล ซึ่งเรามีความเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ พิจารณาการใช้น้ำในพื้นที่ และตระหนักว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ใช้ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจะต้องผ่านกระบวนการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538 ระหว่างลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม
นายนิชล ผลจันทร์ สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง จ.บึงกาฬ กล่าวว่า กรณีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใน 8 จังหวัดริมโขง จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการลงทุน บนทรัพยากรท้องถิ่น แต่ประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรับประโยชน์ใด ๆ นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดในพื้นที่ เช่น โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.หนองคาย เหมืองแร่เหล็ก อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและเบียดขับชุมชนออกจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้อง ถิ่นดั้งเดิม ในขณะที่การจัดการป้องกันมลพิษและผลกระทบกลับยังไม่มีความชัดเจน
“เราขอยืนยันในสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร แต่การตัดสินใจต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตเรากลับถูกรวบรัด โครงการขนาดใหญ่ นโยบายต่าง ๆ ล้วนแต่ถูกตัดสินใจโดยผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน ในขณะที่สร้างผลกระทบต่อคนนับหมื่นนับแสนอย่างที่เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว รัฐ มีหน้าที่ปกป้องสิทธิให้แก่พลเมือง รัฐต้องไม่เป็นเครื่องมือให้ทุน เบียดขับประชาชน เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาแม่น้ำโขง ในฐานะปัญหาสำคัญเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน รัฐบาลต้องยอมรับสิทธิของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมีส่วนในการคิดร่วม วางแผนร่วม และประโยชน์ร่วม การตัดสินใจทุกอย่างต้องอยู่บนฐานของความรู้และข้อมูลที่เพียงพอ มิใช่ตัดสินใจเพราะเม็ดเงิน”นายนิชล กล่าว
นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์มหาวิยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งได้มารร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็นว่าประเด็นปัญหาแม่น้ำโขงมีหลายมุม นักวิชาการยังสามารถศึกษาข้อมูลได้อีก หากเราหยุดเขื่อนไม่ได้ ก็ยังมีนักวิชาการบางคนศึกษาพันธุ์ปลา ศึกษาแนวทางอนุรักษ์ในรูปแบบอื่น ในแง่กฎหมาย แม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วม ผลกระทบข้ามพรมแดนยังเป็นสิ่งที่สามารถศึกษาได้ว่าจะชดเชย เยียวยา แก้ไขปัญหา และพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศได้อย่างไร จีนเป็นต้นแบบในการเอาชนะธรรมชาติ สร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ การย้ายคนทั้งเมืองเป็นล้านคนจีนก็ทำมาแล้ว เมื่อพูดถึงประชากรลุ่มน้ำโขง 60 ล้านคน เป็นเรื่องเล็กมากสำหรับจีน จีนเห็นแม่น้ำโขงเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า เป็นเส้นทางเดินเรือเท่านั้น
ขณะที่นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ตัวแทนกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่ารัฐบาลทุกชุด ล้วนมองว่าแม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำ แหล่งพลังงาน ต้นทุนของการสร้างการเติบโตอุตสาหกรรม เวลานี้มีการปิดล้อมชาวบ้านไม่ให้เคลื่อนไหว ทั้งมาตรา 44 และพรบ.ชุมนุมสาธารณะ
“แต่ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมีหรือไม่ เรายืนยันว่าสิทธินี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การเปลี่ยนอีสาน อุตสาหกรรมจะเข้ามาเปลี่ยนแน่นอน ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตเศรษฐกิจชายแดน รัฐบาลปัจจุบันมองความมั่นคงเป็นหลัก เอาพื้นที่ชายแดนกันไม่ให้ต่างชาติเข้าข้างใน ล็อกไว้ตามชายแดน แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างจากนิคมอุตสาหกรรม ที่ว่าเงื่อนไขการอุดหนุนดีกว่า ไม่ต้องเสียภาษี 10 ปี แรงงาน ที่ดิน น้ำ เห็นได้ชัดแล้วว่า น้ำ ทุกวันนี้จะไปสู่อุตสาหกรรม เมือง เกษตรรายใหญ่ แล้วท้ายๆ ก็คือเกษตรกรรายย่อยและชาวบ้านทั่วไป”นายสันติภาพกล่าว
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องสร้างสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับแม่น้ำโขงของประเทศไทย เรามีพื้นที่แม่น้ำอิงเป็นตัวอย่างรูปธรรมแล้ว จากนี้ต้องหารือเริ่มต้นใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง
“สำหรับเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเรื่องเร่งด่วน เมื่อมีการประกาศแล้ว เราในฐานะคนพื้นที่ต้องศึกษาเนื้อหาสาระของประกาศฯ เพื่อให้รู้ว่าพิเศษอย่างไร พิเศษเพื่อใคร สิทธิประโยชน์ การใช้พื้นที่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากนั้นต้องหาแนวทางให้ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วม ที่อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีการจัดการ 1 เมือง 2 แบบ เราต้องรู้ว่าทุนทางนิเวศ ทุนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เรามีอะไร จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จากคนท้องถิ่นอย่างไร"นายนิวัฒน์กล่าว