มองการพัฒนาสองฝั่งเจ้าพระยา จากริมฝั่งเทมส์
กรุงเทพฯ กับกรุงลอนดอน มีความคล้ายคลึงกันหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือมีแม่น้ำไหลผ่าน ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกรุงเทพฯ กรุงลอนดอนก็มีแม่น้ำเทมส์ ขณะที่กรุงเทพมหานครกับกระทรวงมหาดไทยได้ผุดโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาเฟสแรก เป็นแผนสร้างทางเดิน ทางจักรยานและพื้นที่พักผ่อนสาธารณะเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไปจนถึงสะพานพระราม 7 ฝั่งละ 7 กิโลเมตร กรุงลอนดอนได้มีการพัฒนาทางเลียบริมฝั่งแม่น้ำเทมส์มาหลายสิบปีแล้ว ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่แม่น้ำไหลผ่านกรุงลอนดอนเท่านั้น แต่ช่วงนอกกรุงลอนดอนด้วย เรียกได้ว่าเกือบตลอดเส้นทางแม่น้ำ แม่น้ำเทมส์มีความยาว 346 กิโลเมตร แต่ทางเลียบริมแม่น้ำเทมส์ที่เรียกว่าเทมส์พาธ (Thames Path) มีความยาว 296 กิโลเมตร ในส่วนกรุงลอนดอนมีความยาว 96.5 กิโลเมตร
เทมส์พาธ ไม่ได้เป็นทางที่ปูลาดเรียบตลอดเส้นทาง บางส่วนเป็นเส้นทางธรรมชาติ ที่สมัยก่อนเป็นทางสำหรับรถม้าหรือแรงงานที่ใช้ลากเรือท้องแบนที่บรรทุกสิ่งของหรือลำเลียงขนส่งสินค้าไปตามชุมชนที่อยู่ตามแม่น้ำลำคลองที่แยกออกไปจากแม่น้ำเทมส์ โดยเฉพาะชุมชนที่เรือแล่นเข้าไม่ได้ เนื่องจากมีสะพานขวางลำน้ำ อย่างไรก็ตามพอการคมนาคมขนส่งก้าวหน้าขึ้น มีรถไฟ มีการตัดถนน เส้นทางริมฝั่งแม่น้ำที่ใช้ม้าและแรงงานลำเลียงสินค้าก็ถูกธรรมชาติเข้ายึดครอง มีต้นไม้ ต้นหญ้าขึ้นปกคลุมแทน ครั้นพอมีการพัฒนาทำเทมส์พาธ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ปรับปรุงเส้นทางดังกล่าวรวมเป็นส่วนหนึ่งของเทมส์พาธ อย่างไรก็ตามเทมส์พาธไม่ได้เลียบแม่น้ำทุกช่วง โดยเฉพาะในเขตเมือง มีบางช่วงที่ต้องอ้อมโครงการอสังหาริมทรัพย์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือพื้นที่ส่วนบุคคล ออกมาจากฝั่งแม่น้ำและวกกลับเข้าเลียบแม่น้ำอีกรอบ
เส้นทางเทมส์พาธในกรุงลอนดอนเป็นเส้นทางที่น่าเดินเล่นหรือปั่นจักรยานมาก เพราะตลอดเส้นทางล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อาคาร ร้านค้าหลายแห่ง โดยเฉพาะผับที่อยู่ริมแม่น้ำบางผับมีอายุย้อนไปหลายร้อยปีและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์ซุกซ่อนอยู่ทุกหนแห่ง บางผับมีบันทึกระบุชัดเจนว่ามีบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักคนไหนบ้างเคยแวะเวียนมาที่ผับ อาคารและผับเหล่านี้ตั้งสลับคละเคล้าเคียงข้างกับตึกสมัยใหม่ ตลอดจนโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยริมฝั่งแม่น้ำเทมส์อีกหลายต่อหลายโครงการ ที่ดึงดูดให้คนกลับมาอยู่ริมแม่น้ำ โดยสมัยก่อนคนที่มีฐานะมักไม่ค่อยนิยมพักริมแม่น้ำ เพราะจัดว่าเป็นพื้นที่อันตราย โดยเฉพาะด้านตะวันออกของกรุงลอนดอน เนื่องจากเป็นถิ่นของผู้ใช้แรงงานขนสิ่งสินค้าที่เข้ามาทางเรือ เป็นพื้นที่สกปรกทั้งริมแม่น้ำและในแม่น้ำ รวมทั้งเป็นพื้นที่สีเทาด้วย แต่ในสมัยนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ได้มีการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ อาคารที่เคยเป็นคลังเก็บสินค้า ส่วนใหญ่อยู่ด้านตะวันออกของกรุงลอนดอน ถูกปรับให้เป็นที่อาคารที่พัก และได้รับความนิยมมาก เพราะผู้พัฒนาไม่ได้ทุบอาคารทิ้ง ยังคงโครงสร้างเดิม ทำให้อาคารที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีเพดานสูงและหน้าต่างกว้าง
แนวคิดการพัฒนาเทมส์พาธ มีขึ้นมาตั้งแต่ราวทศวรรษ 1930 โดยสภาเขตต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ผุดไอเดียว่าน่าจะพัฒนาทางม้าลากเรือดั้งเดิมให้เป็นทางเดินหรือทางจักรยานให้ประชาชนได้ใช้ แต่กว่าเทมส์พาธจะเป็นรูปเป็นร่างได้ ก็ราวทศวรรษ 1980 คณะกรรมการที่ดูแลเรื่องกิจการชนบทประกาศว่าการสร้างเส้นทางเลียบแม่น้ำเทมส์ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ จากนั้นจึงได้มีการปรับปรุงเส้นทางม้าดั้งเดิมขึ้นมาใหม่ โดยคงให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ส่วนเส้นทางในเขตเมือง บางช่วงเป็นทางปูคอนกรีต บางช่วงที่อยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีทางเดินแบบยุคโบราณที่เป็นหินก้อนวางเรียงเป็นทางเดินอยู่แล้ว ก็คงไว้แบบนั้น
ในแง่ของการบริหารเทมส์พาธอยู่ในความดูแลของ เนเชอรัล อิงแลนด์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกิจการสิ่งแวดล้อม อาหารและชนบท หน้าที่รับผิดชอบหลักของเนเชอรัล อิงแลนด์ เป็นเรื่องของการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่แม่น้ำเทมส์อยู่ในความดูแลของเอ็นไวรอนเมนท์ เอเจนซี ที่เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกิจการสิ่งแวดล้อม อาหารและชนบท
แม้ว่าเทมส์พาธในกรุงลอนดอน ได้กลายเป็นเส้นทางเดินที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และชื่นชมบรรยากาศในยุคปัจจุบันของกรุงลอนดอน แต่มีเสียงวิจารณ์เส้นทางเทมส์พาธ ไม่ต่างไปจากทางเดินในเรือนจำ เพราะว่ามีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดติดอยู่เกือบทุกมุม บางเส้นทางถูกห้ามเข้า มีประตูปิดกั้น เพราะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล
การพัฒนาเทมส์พาธในกรุงลอนดอนที่ผ่านมา ว่าไปแล้วไม่ต่างไปจากโครงการพัฒนาสองฝั่งเจ้าพระยาของกระทรวงมหาดไทยกับกรุงเทพมหานครในขณะนี้นัก ในประเด็นที่ว่าควรจะจัดการบริหารพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำอย่างไร โดยเฉพาะริมแม่น้ำเทมส์ด้านตะวันออกของสะพานทาวเวอร์บริดจ์ ที่สมัยก่อนเป็นท่าเรือและคลังสินค้าที่พลุกพล่านมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ใครควรจะมีเสียงดังกว่ากันในการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำช่วงดังกล่าว วาเนสซา เทย์เลอร์ นักวิจัยที่สถาบันพาณิชย์นาวีกรีนิชเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนว่า ที่ถกเถียงกันมาคือหลังทศวรรษ 1960 ที่รัฐบาลมีแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ฝ่ายที่ถกเถียงกันคือ รัฐบาล พนักงานการท่า ชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำและบริษัทที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ ท้ายที่สุดผู้ที่ชนะคือบริษัทผู้พัฒนา ที่สามารถเข้าไปลงทุนพัฒนาและปรับพื้นที่ริมแม่น้ำให้กลายเป็นอาคารที่พักทันสมัยสำหรับคนมีฐานะ เมื่อ 12 ปีก่อน ทางสภากรุงลอนดอนเคยออกรายงานเตือนว่าพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์จะกลายเป็นพื้นที่แคบ ๆ ริมฝั่งที่มีการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับคนมีฐานะได้อาศัยและชื่นชมทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำ
การสร้างเทมส์พาธเลียบฝั่งแม่น้ำเป็นหนทางหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์กลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามที่เปิดโอกาสให้เพียงคนมีฐานะเท่านั้น แต่ให้คนทุกชนชั้นและฐานะได้เข้ามาใช้ประโยชน์และชื่นชมบรรยากาศของสองฝั่งเทมส์ร่วมกัน บริษัทที่ยื่นแบบก่อสร้างอาคารที่พักริมแม่น้ำเทมส์จะต้องยอมเปิดพื้นที่ทางเดินริมแม่น้ำให้คนทั่วไปเข้ามาเดินเล่นและพักผ่อนได้ อย่างไรก็ตามบริษัทเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์บางบริษัทเปิดให้คนนอกใช้พื้นที่ได้เป็นเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น ทุกวันนี้ยังคงมีทางเดินริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนและสภาท้องถิ่นในกรุงลอนดอนในเขตที่แม่น้ำไหลผ่านก็ยังไม่แน่ใจว่าประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเดินเล่นหรือไม่
หากมองเปรียบเทียบเทมส์พาธกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฟสแรกกินพื้นที่ริมฝั่ง 14 กิโลเมตร จะเห็นได้ว่าเทมส์พาธเป็นโครงการที่ใหญ่กว่ามาก แค่พื้นที่เทมส์พาธในกรุงลอนดอนก็ยาวกว่าหลายเท่า ปัญหาการเข้าใช้พื้นที่ริมแม่น้ำในส่วนของโครงการอสังหาริมทรัพย์ริมแม่น้ำเทมส์ เป็นเพียงมิติหนึ่งของการบริหารจัดการพื้นที่ริมแม่น้ำเทมส์ และพื้นที่เจ้าปัญหาดังกล่าวนี้เป็นเพียงบางเสี้ยวของเทมส์พาธ ยังคงมีพื้นที่ของเทมส์พาธอีกหลายสิบกิโลเมตรในกรุงลอนดอนที่ประชาชนสามารถเข้าไปพักผ่อนได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามเนื่องจากแม่น้ำเป็นสมบัติของทุกคน และทุกคนควรมีโอกาสเข้าใช้ประโยชน์และชื่นชมแม่น้ำ แต่ทางเข้าไปชมแม่น้ำจำกัดเฉพาะคนบางกลุ่มในสังคมเท่านั้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็น สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ฝั่งละ 7 กิโลเมตร ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีคำตอบชัดเจนให้สังคมหายคลางแคลงใจ รวมทั้งคำถามที่ว่าทำไมโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบเป็นหมื่นล้านขนาดนี้ ต้องรีบเร่งให้เกิด การพัฒนาเป็นเรื่องที่ทำได้และจำเป็น แต่จะต้องทำให้เกิดความสมดุลมากที่สุดระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ เทมส์พาธในกรุงลอนดอนอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะใช้ศึกษาได้