เปิดชื่อ 2 บ.คู่แข่ง 'ชลกิจสากล' ไขปมถูกกีดกั้นเสนอขายน้ำ'อีสท์วอเตอร์' 5 พันล.?
เปิดชื่อ 2 เอกชน 'ทรัพยากรน้ำสยาม -ทริปเปิ้ลดี ดีเวลลอปเม้น' คู่แข่ง บ.ชลกิจสากล ขายน้ำ 'อีสท์วอเตอร์' ไขปริศนาถูกกีดกั้นจริงหรือไม่ ย้ำปมคุณสมบัติผู้เสนอราคา "งบการเงิน-กรรมสิทธิ์ที่ดิน"
"ที่ระบุว่า มีการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นก็ไม่เป็นความจริง เพราะหลังจากนั้น อีสท์วอเตอร์ก็ซื้อน้ำจากเอกชนรายอื่นด้วย และผลจากการที่เรามีบ่อซื้อน้ำแล้ว ก็ทำให้สามารถต่อรองราคาซื้อน้ำจากเอกชนรายอื่นได้เพิ่มอีก"
นี่คือ คำตอบของ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตประธานกรรมการบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ที่ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ในการสัมภาษณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี อีสท์วอเตอร์ ได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบจาก บริษัท ชลกิจสากล จำกัด เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปีเต็ม และในระหว่างอายุสัญญาจะมีการปรับราคาน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 ของทุกๆ 5 ปี ด้วย ส่งผลทำให้บริษัท ชลกิจสากลฯ ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 5 พันล้านบาท
(อ่านประกอบ : "ศิธา" ซัดถูก "ไอ้โม่ง" รีดเงิน 30ล.เล่นงาน! แจงสัญญาน้ำอีสท์วอเตอร์ 5 พันล.โปร่งใส)
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีผู้อ้างตัวว่าเป็น "ผู้ถือหุ้น" อีสท์วอเตอร์ ได้ส่งข้อมูลเงื่อนงำในการจัดทำสัญญาซื้อขายน้ำดิบระหว่าง อีสท์วอเตอร์ และ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด มาให้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบเพิ่มเติม
โดยกล่าวอ้างว่า ในกระบวนการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่เข้ามาเสนอขายน้ำดิบให้กับอีสท์วอเตอร์โครงการนี้ มีลักษณะกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่นด้วย
"การดำเนินการจัดหาผู้เสนอขายน้ำดิบสำหรับทำการเปรียบเทียบราคาครั้งนี้ มีผู้เสนอราคาจำนวน 3 ราย หนึ่งใน 3 ราย คือ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด แต่ผู้เสนออีก 2 ราย ไม่ได้รับการพิจารณา ถึงแม้ว่าจะเสนอราคาต่ำกว่า โดยอีสท์วอเตอร์ ให้เหตุผลว่าข้อมูลของทั้ง 2 บริษัท บางประการไม่ชัดเจน แต่มิได้มีการชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจน"
(อ่านประกอบ : ผู้ถือหุ้น"อีสท์วอเตอร์" ร้องสัญญาผูกขาดขายน้ำ40 ปี ส่อกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่น)
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น ว่าแท้จริงแล้วการคัดเลือกบริษัทเอกชนเข้ามาขายน้ำให้กับ อีสท์วอเตอร์ มีปัญหาเรื่องการกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่นจริงหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการอีสท์วอเตอร์ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2556 และวันที่ 29 พ.ย.2556 และมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การรับซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชน ตามที่คณะกรรมการบริหารและการลงทุนเสนอ
มีเอกชนยื่นข้อเสนอขายน้ำดิบให้อีสท์วอเตอร์พิจารณา จำนวน 3 ราย คือ 1.บริษัท ชลกิจสากล จำกัด 2. บริษัททรัพยากรน้ำสยาม จำกัด (มหาชน) และ 3. บริษัททริปเปิ้ลดี ดีเวลลอปเม้น จำกัด
โดย บริษัท ชลกิจสากล ยื่นเอกสารครบเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2556 บริษัท ทรัพยากรน้ำสยาม จำกัด (มหาชน) ยื่นเอกสารครบ 16 ธ.ค.2556
ส่วนบริษัททริปเปิ้ลดี ดีเวลลอปเม้น จำกัด ยื่นข้อเสนอ 17 ธ.ค.2556 แต่เอกสารไม่ครบขาดเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแสดงความเป็นเจ้าของบ่อเก็บน้ำ จึงยังไม่ได้มีการเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดบริหารและการลงทุนของ อีสท์วอเตอร์พิจารณา
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของบริษัท ทรัพยากรน้ำสยาม จำกัด (มหาชน) ก็ไม่ได้รับการพิจารณาด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการตรวจสอบพบข้อมูลว่า บ่อเก็บน้ำของบริษัทต้องรับน้ำจากคลองชลประทานท่าลาด ซึ่งสัญญาอนุญาตใช้น้ำจากกรมชลประทานหมดอายุลง และยังไม่ได้รับการต่อสัญญา จึงมีความเสียงที่จะไม่มีน้ำ
คณะกรรมการบริหารและการลงทุน จึงมีมติเห็นชอบให้รับซื้อน้ำจาก บริษัท ชลกิจสากล จำกัด ส่วน บริษัท ทรัพยากรน้ำสยาม จำกัด (มหาชน) ถ้าได้รับต่อสัญญาจากกรมชลประทานก็จะพิจารณารับซื้อน้ำต่อไป และหากมีผู้เสนอขายรายอื่นๆ ที่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ที่บริษัทกำหนด ก็ให้นำเสนอยังคณะกรรมการบริหารและการลงทุนและคณะกรรมการบริษัทพิจารณาต่อไป
ขณะที่ บริษัททริปเปิ้ลดี ดีเวลลอปเม้น จำกัด ปรากฎข้อมูลจากอีสท์วอเตอร์ว่า เพิ่งยื่นเอกสารครบช่วงก.พ.57
จากนั้นทางคณะกรรมการบริหารและการลงทุน ได้มีการพิจารณเจรจาผลการเสนอราคากับบริษัท ชลกิจสากล จำกัด และร่างสัญญาซื้อขายน้ำดิบ ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2557
หากพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นตอนการคัดเลือกบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย อาจจะระบุได้ว่า ไม่ได้มีลักษณะกีดกั้นผู้เสนอราคารายอื่นแต่อย่างใด
แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ ในหลักเกณฑ์การรับซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชน ตามที่อีสท์วอเตอร์กำหนดไว้ ในข้อ 1 คือ คุณสมบัติของผู้เสนอขายน้ำ ที่ระบุไว้ 4 ข้อย่อย คือ (1.) แสดงรายละเอียดประวัติ การจัดตั้งบริษัท (2.) หนังสือรับรองบริษัท อายุไม่เกิน 6 เดือน (3.) งบการเงินที่รับรองโดยผู้สอบบัญชีในรอบปีที่ผ่านมา และ (4.)แสดงรายละเอียดของแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เกี่ยวข้อง ความเป็นเจ้าของหรือได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำดังกล่าว
(ดูหลักเกณฑ์ประกอบ)
ขณะที่ข้อเท็จจริง ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบก่อนหน้านี้ คือ
1. บริษัท ชลกิจสากล จำกัด นำส่งงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 แจ้งว่ามีรายได้รวม 132.33 บาท มีรายจ่ายรวม 8,360.78 บาท ขาดทุนสุทธิ 8,488.45 บาท ส่วนสินทรัพย์มีเงินสด มีเงินสด258.20 บาท มีเงินฝากออมทรัพย์ 18,025.18 บาท มีหนี้สินรวม 8,000 บาท
ขณะที่งบการเงิน ปี 2555 แจ้งว่ามีรายได้รวม 212.27 บาท มีรายจ่ายรวม 14,995.55 บาท ขาดทุน 14,783.28 บาท
(อ่านประกอบ : บ.ชลกิจฯ แจ้งรายได้ 132 บ. ก่อนคว้าสัญญาขายน้ำอีสท์วอเตอร์ยาว 40 ปี 5 พันล.)
2. ที่ดินบ่อน้ำที่ 3,4,5 ของ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด ที่ระบุว่าซื้อต่อมาจากบุคคล 1 คน ในจังหวัดชลบุรี ราคารวม 150 ล้านบาท ตามสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 เกิดขึ้นหลังจากที่อีสท์วอเตอร์ ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำกับบริษัท ชลกิจสากล จำกัด อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2557
(อ่านประกอบ : พบบ.'คู่ค้า'อีสท์วอเตอร์ เพิ่งซื้อที่ดินหลังได้สัญญาขายน้ำ40ปี-ฟันรายได้งวดแรก 365ล.)
คำถามสำคัญที่ตามมาจากกรณีนี้ นอกเหนือจากปริศนาแหล่งเงิน ที่ บริษัท ชลกิจสากล จำกัด นำมาใช้ในการจัดซื้อที่ดินว่ามาจากแหล่งไหนแล้ว
อิสท์วอเตอร์ ได้นำข้อมูลเรื่องงบการเงินของบริษัท ชลกิจสากล จำกัด และระยะเวลาการซื้อขายที่ดินตามที่ตรวจสอบพบ ไปใช้ในการพิจารณาผลการคัดเลือกบริษัทเข้ามาขายน้ำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่
เพราะต้องไม่ลืมว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ บริษัท ทริปเปิ้ลดี ดีเวลลอปเม้น จำกัด ไม่ได้รับการพิจารณาข้อเสนอขายน้ำ เป็นผลมาจากเอกสารไม่ครบขาด โดยขาดเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแสดงความเป็นเจ้าของบ่อเก็บน้ำ!