ชาวบ้านฟ้อง กนอ. ถอนตั้งนิคมฯระยอง
ทนาย ส.โลกร้อนนำชาวบ้านระยองยื่นศาลปกครองแผนกสิ่งแวดล้อมฟ้อง กนอ. เพิกถอนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง ลั่นกดดันรัฐบาล คลอด พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ หลังตกกรอบพิจารณา
วันที่ 19 ต.ค. 54 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยนายเศรษฐา ปิตุเตชะ และนายสุทธิ อัชฌาสัย แกนนำกลุ่มชาวบ้านอำเภอบ้านค่าย จ.ระยอง พร้อมชาวบ้านประมาณ 50 คน เดินทางยังศาลปกครองระยอง อ.เมือง จ.ระยอง ยื่นฟ้องการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อเพิกถอนการประกาศจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) จ.ระยอง หลังมีการประกาศจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย 54 โดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชน
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า มีการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่ายไปก่อนที่จะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ก่อให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมากมายอันส่งถึงผลกระทบต่อประชาชน ทั้งด้านโรคภัย สิ่งแวดล้อมที่จะทรุดโทรมตามมา ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับวันที่ 31 ส.ค. ปี 53 กำหนดว่าการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจัดเป็นประเภทรุนแรง ดังนั้นจึงต้องมีการสำรวจความคิดเห็นก่อน มิใช่อนุมัติแล้วมาดำเนินการภายหลัง
จึงเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม. 67 วรรค 2 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ม. 11 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน ปี 2548 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ปี 2546
ดังนั้น จึงต้องฟ้องเพิกถอนระงับเพื่อให้กลับไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจะได้รับความเห็นชอบจากประชาชนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ทางศาลปกครองระยองได้มีการรับฟ้องแล้ว โดยบรรจุคดีดังกล่าวอยู่ในแผนกคดีสิ่งแวดล้อม หมายเลข ส8/2554
“การฟ้องศาลครั้งนี้นับเป็นปฐมบทการตอบโต้รัฐบาล ที่ไม่ยืนยันการพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ทันกรอบ 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ ซึ่งการเรียกร้องครั้งนี้เพื่อยืนยันว่าองค์การอิสระนั้นมีความสำคัญกับประชาชนมาก” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 23 ส.ค. 54 ในเรื่องนโยบายที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อ 5.3 ว่า รัฐบาลจะดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเร่งรัดการควบคุมมลพิษโดยการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงขององค์กรภาคประชาชน รวมทั้งผลักดันกฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม
ที่มาภาพ : www.thaisgwa.com