ปธ.สร.กฟผ.ชี้พื้นที่ภาคใต้ผลิตไฟฟ้าได้ถึง2,500 เมกกะวัตต์
ประธานสหภาพแรงงานกฟผ.เผยโรงไฟฟ้าในภาคใต้ผลิตไฟฟ้าได้ 2,500 เมกกะวัตต์ ระบุหากต้องการเสริมความมั่นคงของระบบจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานระบุปัญหาไม่ใช่การสร้างแต่อยู่ที่พลังงานที่รัฐบาลเลือกใช้
การเคลื่อนไหวในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าอยากให้กลุ่มที่คัดค้านและมองภาพรวมเนื่องจากในภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 3,000 เมกกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณไฟฟ้ามีเพียง 800 เมกกะวัตต์ จะทำให้ไฟฟ้าไม่เพียงพอและต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ในปัจจุบันอยู่ที่ 3,100 เมกกะวัตต์ ขณะที่การผลิตไฟฟ้าสามารถผลิตได้ประมาณ 2,500 เมกกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเป็นการนำส่งมาจากภาคกลางอีก 600 เมกกะวัตต์ เนื่องจากกฟผ.มีระบบเชื่อมทั้งระบบ ฉะนั้นไฟฟ้าจึงเพียงพอ แต่หากต้องการความมั่นคงจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าประจำ เพราะพื้นที่ภาคใต้โรงไฟฟ้าทั้งหมดที่มีตอนนี้หากโรงไฟฟ้าเดินกำลังเต็มที่ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 2,000 ดังนั้นเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่ม และจากสถิติที่ผ่านมาคือภาคใต้มีสถิติการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตลอด
ด้านศ.ดร.พลายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์หรือกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้พอหรือไม่สำหรับวันนี้ ความจริงก็พอ แม้จะมีดึงมาจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลางบ้าง แต่ในอนาคตปริมาณความต้องการเรื่องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งปกติเพิ่มขึ้นทุกปีอาจจะอยู่ราวๆ 400-600 เมกกะวัตต์ ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มจึงเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้ไฟฟ้าเพียงพอสำหรับในอนาคต
“ถ้าถามว่าไม่สร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่เพิ่มจะเป็นอย่างไร ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้กับความต้องการใช้ก็จะปริ่มๆ และหากในอนาคตธุรกิจการท่องเที่ยวบูมความต้องการใช้ไฟฟ้าก็จะยิ่งมากขึ้น ดังนั้นการมีโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อมารองรับความต้องการในอนาคต แต่ที่เป็นปัญหาขณะนี้คงเป็นเรื่องของพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตมากกว่า”
ขณะที่ผศ.ประสาท มีแต้ม ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ปริมาณการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวนมาก เหลือประมาณ 52% ซึ่งมาตรฐานค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5% เท่านั้น แต่ที่ออกมาบอกว่าผลิตได้แค่นี้ไม่พอต้องดึงมาจากที่อื่นไม่เป็นความจริง นั่นคือการไม่นับข้อมูลโรงไฟฟ้าจริงๆ มีการเอาโรงไฟฟ้าไปซ่อน บอกข้อมูลไม่ครบ นี่คือปัญหา
ส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้านั้นเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ผศ.ประสาท กล่าวว่า ปี 2557 อยู่ที่ 2,683 เมกกะวัตต์ สำหรับปีนี้ไม่แน่ใจว่าเท่าไหร่ บางแห่งที่ผลิตไฟฟ้าแล้วส่งมาในพื้นที่กฟผ.ไม่นับ การส่งจากมาเลเซียก็ไม่คิด ผลเลยออกมาว่าผลิตไฟฟ้าไม่พอเป็นข้อมูลที่บิดเบือน อย่างกรณีของกรุงเทพฯเองก็ไม่มีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเองเป็นการนำส่งมาจากแหล่งผลิตอื่นเช่นเดียวกัน
“ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ปัญหาใหญ่คือถ้าจะสร้างทำไมต้องเป็นถ่านหิน อ้างว่าเพราะความมั่นคงทั้งๆที่เราไม่ได้ผลิตถ่านหินเอง แค่อยากจะถามรัฐบาลว่าทำไมถึงไม่ใช่ทรัพยากรที่เรามีมาทำโรงไฟฟ้า หรือต้องการตอบสนองนักธุรกิจที่ขายถ่านหินเมื่อไม่มีคำตอบที่ชัดเจนก็มองเหตุผลอื่นไม่ได้ เพราะวันนี้ต่างประเทศถอนทุนออกจากธุรกิจถ่านหินเกือบหมดแล้ว และบริษัทในประเทศไทยเองก็ปิดไปแล้ว 2 แห่ง”