เกษตรเตรียมดันแผนช่วยน้ำท่วมเข้าครม.-เร่งกู้ซากไก่เน่าอยุธยา
รัฐมนตรีเกษตรฯ เร่งหน่วยงานในสังกัดสรุปแผนช่วยเหลือน้ำท่วมก่อนเสนอเข้าครม.อังคารหน้า ด้านกรมปศุสัตว์เร่งฝัง-เผากำจัดซากไก่ตายที่อยุธยา เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูผู้เลี้ยงไก่ไข่เข้าเอ้กบอร์ดหลังน้ำลด
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดในการจัดทำแผนบูรณการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาอุทกภัย ในช่วง 4-6 สัปดาห์นี้ที่ระดับน้ำในพื้นที่ยังท่วมสูงให้แล้วเสร็จเพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช. )ภายในวันศุกร์ที่ 21 ต.ค.54 ซึ่งสศช. จะเป็นผู้รวบรวมวิเคราะห์ จัดกลุ่มและลำดับขั้นตอนการดำเนินการในภาพรวมให้เป็นระบบและไม่เกิดความซ้ำซ้อนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ต่อไป เพื่อให้แผนดำเนินการในการเข้าไปฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ประสบภัยสามารถดำเนินการได้ทันที
ด้านนายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาอุทกภัยด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ พบว่า ในด้านพืชมีพื้นที่การเกษตรประสบความเสียหายรวมจำนวน 65 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 1.02 ล้านราย พื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหาย 10.3 ล้านไร่ ประมาณการมูลค่าความเสียหาย 22,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการสำรวจแล้ว 39 จังหวัด เกษตรกร 360,397 ราย พื้นที่ 3,350,499 ไร่ โดยความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือ แบ่งเป็น 1.ธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)ได้เริ่มทยอยโอนเงินผ่านไปยังบัญชีเกษตรกรแล้วจำนวน 106,375 ราย เป็นเงินจำนวน 3,045.752 ล้านบาท 2.สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างโอนเงินให้แก่ ธกส.อีกจำนวน 580.882 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 26,867 ราย 3.กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งหลักฐานขออนุมัติเงินจากสำนักงบประมาณแล้ว 21 จังหวัด เกษตรกร 133,224 ราย วงเงิน 3,626.563 ล้านบาท ขณะที่การสำรวจความเสียหายภาคประมงที่คาดว่าจะมีเกษตรกรประสบภัยจำนวน 105,070 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย แบ่งเป็น บ่อปลา 158,741 ไร่ กุ้ง/ปู/หอย 19,921 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ 140,743 ตารางเมตร กรมประมงได้ขออนุมัติเงินงวดเพื่อเร่งจ่ายช่วยเหลือให้แก่เกษตรผู้ประสบภัยแล้วเช่นกัน
สำหรับด้านปศุสัตว์มีเกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 148,555 ราย จำนวนสัตว์ที่ได้รับผลกระทบรวม 14,192,288 ตัว นอกจากการให้ความช่วยเหลือในการอพยพเคลื่อนย้ายสัตว์ให้สัตว์อยู่ในที่ปลอดภัย เช่น บนเส้นทางหลวงและบริเวณเนินดินพื้นที่สูงที่ไม่มีน้ำท่วมขัง การให้ความสนับสนุนเสบียงสัตว์จำนวน 3,667.21 ตัน ได้แก่ หญ้าแห้ง 2,350.24 ตัน หญ้าหมัก 4.15 ตัน และหญ้าสด 1,312.82 ตัน อาหารสุนัข 3.161 ตัน การให้บริการทางด้านสุขภาพสัตว์ และการเตรียมการพื้นที่สำรองของหน่วยงานกรมปศุสัตว์เพื่อรองรับการอพยพสัตว์ และเปิดพื้นที่สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ จำนวน 29 แห่งทั่วประเทศแล้ว กรมปศุสัตว์ยังได้เตรียมความพร้อมด้านการชดเชยความเสียหาย ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยให้แต่ละจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อของบประมาณชดเชย โดยขณะนี้มีจำนวน 10 จังหวัด ที่ระดับน้ำลดลงแล้ว ซึ่งได้รับการช่วยเหลือแล้วเป็นงบประมาณจำนวน 11 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในส่วนความเสียหายในพื้นที่จ.อยุธยา นายทฤษฏี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า มีฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่อยู่หนาแน่น จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายจำนวน 384 ล้านบาท แบ่งเป็นแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 2 ล้านตัวมูลค่า 200 ล้านบาท ไข่ไก่ในเล้าที่ไม่สามารถเก็บได้จำนวน 3 ล้านบาท โรงเรือนเสียหายประมาณ 175 ล้านบาท ซึ่งนอกจากการเร่งกู้ซากไก่ทั้งการใช้สารพด.6 ของกรมพัฒนาที่ดินเพื่อย่อยสลายซากไก่และลดผลกระทบด้านกลิ่นซึ่งคาดว่าจะใช้ทั้งหมดประมาณ 1 แสนลิตรในช่วง 2 เดือนนี้แล้ว ยังจะเร่งดำเนินการเก็บกู้ซากไก่ที่สามารถเข้าไปเก็บได้เพื่อขนใส่รถไปฝังที่ด่านกักกันสัตว์ที่นครนายก และแบ่งอีกส่วนหนึ่งไปเผาที่เตาเผาซากทำลายสัตว์ ที่ศูนย์ราชการของกรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่หลังน้ำลดแล้ว นอกจากการเร่งทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค เล้าโรงเรือนแล้ว ยังรวมถึงการชดเชยเป็นเงินสดตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามมติครม. อีกส่วนหนึ่งคือการนำแม่ไก่ไข่ยืนกรงมาเลี้ยงใหม่ และการให้ความช่วยเหลือด้านอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินในการพักชำระหนี้ ซึ่ง 2 เรื่องดังกล่าวจะต้องเสนอเข้าที่ประชุมเอ้กบอร์ดเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลดต่อไป