พิพิธภัณฑ์หลักนิติธรรม…ฟื้นคุกเก่าสู่แหล่งเรียนรู้ระดับโลก
เอ่ยถึง "พิพิธิภัณฑ์" หลายคนคงนึกภาพอาคารขนาดใหญ่ บรรยากาศทึบๆ ทึมๆ ที่มีของเก่ามาวางเรียงกัน และมีคำอธิบายยาวยืดให้คนปัจจุบันได้เรียนรู้อดีตแบบน่าเหนื่อยหน่าย ถ้าไม่ใช่ผู้ที่สนใจจริงๆ อาจจะชวนหลับมากกว่าชวนให้น่าติดตาม
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยกำลังมีพิพิธภัณฑ์ในความหมายของ "ความทันสมัย" ในแบบของ Discovery museum ที่ไม่น่าเบื่อ แม้ว่าธีมของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นเรื่องหนักๆ อย่าง "หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม" ก็ตาม
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ (Thailand Institute of Justice) กำลังมีโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้ โดยพลิกฟื้นเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเดิม ซึ่งปัจจุบันคือ "สวนรมณีนาถ" ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ระดับโลก โดย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษของ TIJ ทรงทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ เล่าให้ฟังว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเดิมนั้น ในส่วนที่เป็นเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ได้บริจาคสถานที่ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นสวนสาธารณะไปแล้ว ก็คือ สวนรมณีนาถ แต่บางส่วนของพื้นที่ด้านหน้าก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ของกรมราชทัณฑ์อยู่ และกระทรวงยุติธรรมได้มีโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น พร้อมให้มีผลงานเรื่อง "ข้อกำหนดกรุงเทพ" หรือ UN Bangkok Rules ว่าด้วยมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ จัดแสดงเอาไว้ด้วย เพราะเป็นข้อกำหนดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ฉบับแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพผลักดันจนสำเร็จ และใช้ชื่อเมืองหลวงของไทยเพื่อประกาศเกียรติ
"TIJ ได้พัฒนาต่อยอดจากตรงนี้ โดยจะทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ มีเนื้อหา 2 ส่วนสำคัญ คือ การเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์กับความยุติธรรม กับอีกส่วนหนึ่งเป็น Discovery museum เพื่อการเรียนรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม"
ดร.กิตติพงษ์ เล่าต่อว่า พิพิธภัณฑ์ที่กำลังจัดสร้างอยู่นี้ ไม่ใช่เอาของเก่ามาวางเรียงกัน แต่จะเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาความยุติธรรม โดยธีมหลักคือ "กระบวนการยุติธรรมต้องยุติธรรม" เพราะการปฏิรูปไม่ว่าเรื่องใด รวมทั้งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถึงที่สุดแล้วต้องย้อนกลับไปปฏิรูปคน
"ที่ผ่านมาเราปฏิรูประบบดีหมด กฎหมายดีหมด แต่สิ่งที่อาจจะนึกถึงน้อยไปคือ คนต้องยุติธรรมด้วย TIJ จึงอยากใช้สถานที่นี้สร้างจิตสำนึกความยุติธรรม เน้นไปที่เด็กและเยาวชน ทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมต้องยุติธรรม ถ้าไม่ยุติธรรมแล้วจะเสียหายขนาดไหน" ผู้อำนวยการ TIJ ระบุ
วิธีการที่ไม่เอาของเก่ามาวางเรียง กับสิ่งที่ ดร.กิตติพงษ์ เรียกว่า Discovery museum คือ การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละคร อาจจะด้วยเทคนิคแอนนิเมชั่น หรือแสง-สี-เสียง ลักษณะเป็น role play โดยตัวละครหลักเป็นผู้หญิงสาวสวย...ทำไมถึงต้องเป็นผู้หญิงสวย ดร.กิตติพงษ์ อธิบายว่า เพราะความสวยของผู้หญิงจะทำให้คนทั่วไปมีอคติว่าผู้หญิงสวยมักไม่ทำความผิด หรือทำอะไรก็ไม่ผิด
ทั้งนี้ เรื่องราวของผู้หญิงสวยคนนี้ก็จะเป็นว่า เธอได้กระทำความผิดร้ายแรงขึ้นมาอย่างหนึ่ง จากนั้นก็ให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้เลือกบทบาทให้ตัวเอง ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล แล้วก็เริ่มทำคดีนี้ จากนั้นก็มาวิเคราะห์ว่าคดีผิดพลาดตรงไหน เช่น ถ้าเล่นบทศาลแล้วตัดสินผิด ผลกระทบต่อเธอจะเป็นอย่างไร ครอบครัวของเธอต้องเผชิญกับอะไร
หรือถ้าเล่นบทเป็นตำรวจ แล้วรวบรวมพยานหลักฐานได้ไม่ดี มีการเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน จะเกิดปัญหาอะไรตามมา หากไม่มีพยานต้องทำอย่างไร ใช้นิติวิทยาศาสตร์ได้ไหม ถ้าเป็นอัยการแล้วพิจารณาสำนวนไม่รอบคอบจะเกิดอะไรขึ้น เหล่านี้ถือเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้จากตัวของตัวเอง ได้สวมบทบาทเสมือนจริงในการอำนวยความยุติธรรม
ดร.กิตติพงษ์ อธิบายต่อว่า นอกเหนือจากอาคารที่ทำเป็น role play แล้ว อาคารที่เป็นเรือนจำเดิมจะอนุรักษ์ไว้ มีประวัติของเรือนจำ รูปแบบการลงโทษที่มีวิวัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบัน เชื่อว่าจะดึงความสนใจของผู้เข้าชมได้
อย่างไรก็ดี วิธีการดึงความสนใจไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ แต่จะทำจากภายนอกด้วย เช่น ใกล้ๆ กันนั้นจะมีโครงการรถไฟฟ้าตัดผ่าน ก็จะไปขอให้สถานีรถไฟฟ้านั้นเป็น Justice Station มีการจัดนิทรรศการเล็กๆ มี yellow tape หรือ เทปกั้นสถานที่เกิดเหตุ เหมือนเป็นเส้นนำทางจากสถานีรถไฟฟ้าเข้าสู่ตัวพิพิธภัณฑ์ อาคารที่ได้รับการบูรณะปรับปรุงจะทำให้เป็นมาตรฐานสากล
นอกจากนั้น อาคารบางส่วนจะจัดเป็นห้องสมุดด้วย โดยเป็นห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือและงานวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมจากทั่วโลก เด็กๆ เยาวชน และผู้ที่สนใจเข้าชมจะได้เข้าไปเรียนรู้เรื่องราวของกระบวนการยุติธรรมในทุกมิติ
"ไฮไลท์จะอยู่ที่ role play เพราะการที่ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้สวมบทบาทเสมือนจริง จะทำให้สิ่งเหล่านี้ติดตรึงอยู่ในความทรงจำ ทุกคนจะได้เรียนรู้ว่ามาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมคืออะไรในแบบที่จับต้องได้ สัมผัสได้ ถ้าคนในกระบวนการยุติธรรมทำผิดมาตรฐานแล้วจะเกิดอะไรขึ้น มีผลกระทบอะไรตามมา ทั้งหมดเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างจิตสำนึกจากรากฐานที่จะนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง"
ดร.กิตติพงษ์ ย้ำด้วยว่า จะสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในแบบที่ไม่ใช่เอาของเก่ามาวางเรียงกัน หรือเป็นเพียงแหล่งรวบรวมของโบราณ แต่จะเป็น Rule of law Education แบบใหม่ที่ไม่มีสอนกันในวิชากฎหมาย เป็นพิพิธภัณฑ์ Crime and Justice Discovery Museum ที่ดีที่สุดในโลก
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อาคารเก่าในสวนรมณีนาถกำลังได้รับการปรับปรุงเพื่อพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ระดับโลก