ปธ.ทีดีอาร์ไอขายไอเดียระบบปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องลดการเมืองให้น้อยลง
ปธ.ทีดีอาร์ไอชี้ระบบปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องลดการเมืองให้น้อยลง ยันมีความสำคัญใช้ต่อรองกับนายจ้าง ด้านนักวิชาการชี้โรงงานย้ายฐานผลิตไม่เกี่ยวค่าจ้างขั้นต่ำ เหตุธุรกิจ 100% มีต้นทุนค่าจ้างไม่ถึง 10% คงไม่มีฤทธิ์เดชตัดสินอยู่หรือไป
วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดสัมมนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ-ข้อเท็จจริงและทิศทางที่ควรเป็นในอนาคต’ ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล
ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงช่วงที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญทำให้ธุรกิจหลายแห่งปิดตัว แต่ปัจจัยหลักเกิดจากอาการเจ็บป่วย มีหนี้สินมาก่อนแล้ว และความเหมาะสมของค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องกลับไปศึกษาปรัชญาจำเป็นต้องวัดจากประสิทธิภาพการผลิตอย่างเดียวหรือไม่ โดยค่าจ้างต้องคุ้มค่ากับผลผลิต หากไม่คุ้มค่าก็ถือเป็นการจ่ายเกิน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรปล่อยให้ลอยตัวแทนการกำหนดขั้นต่ำ
ทั้งนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมาตรการทางสังคมที่ต้องนำความสามารถในการรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นตัวตั้ง และต้องประกันว่า เมื่อเข้ามาทำงานแล้วจะอยู่ได้อย่างมนุษย์ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ ต้องทำให้ลูกจ้างทำงานอย่างเป็นผู้เป็นคน ซึ่ง รมว.แรงงาน ท่านหนึ่ง เคยบอกว่า ต้องไม่ทำงานเป็นวัวเป็นควาย แต่ควรมีเวลากลับบ้าน เลี้ยงดูลูกได้ ตรงกันข้ามปัจจุบันลูกจ้างต้องทำงานล่วงเวลา (โอที) เพราะค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงพอสำหรับการค้ำจุนความเป็นมนุษย์
นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวถึงกรณีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่มีสายป่านยาวไม่มากว่า รัฐบาลต้องมีนโยบายอุ้มชูธุรกิจเหล่านี้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม หากรัฐบาลต้องการก็ควรเข้ามาช่วยอุดหนุน เเละไม่ควรนำแง่ประสิทธิภาพตัดสิน เพราะลูกจ้างไม่มีวันมีรายได้เพียงพอ ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำดีที่สุด คือ ต้องได้รับค่าจ้าง โดยมีเวลากลับไปดูเเลครอบครัว ด้วยเหตุนี้การคิดค่าจ้างจากมิติทางสังคมจึงสำคัญ
“ค่าจ้างขั้นต่ำมักตกเป็นแพะรับบาปเวลาเกิดการเคลื่อนย้ายโรงงาน ทั้งที่ความจริงเกิดจากสาเหตุอื่นที่มีต้นทุนมากกว่า ซึ่งธุรกิจ 100% มีต้นทุนเกี่ยวกับค่าจ้างไม่ถึง 10% ฉะนั้นเรื่องดังกล่าวไม่มีฤทธิ์เดชที่จะทำให้โรงงานตัดสินใจอยู่หรือไปได้” ศาสตราภิชานแล กล่าว และว่า ที่ผ่านมาไทยมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีน้อยเกือบที่สุดในเอเชีย ฉะนั้นกำลังคนเท่ากันกลับทำได้น้อยกว่า ไม่ใช่เพราะคนไทยไม่ฉลาด แต่เกี่ยวกับการไม่ปรับปรุงเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่
ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงอัตราค่าจ้างโดยรวมของไทยจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ด้วยปัจจัย 2 อย่าง คือ ไทยอยู่ในจุดเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ปลายปี 2558 น่าจะอยู่ช่วงขาขึ้น แต่แรงงานจะลดลง ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว แรงงานลดลง ทำให้ค่าจ้างโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างขั้นต่ำควรกำหนดเฉพาะแรงงานเริ่มต้นเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานด้วย และธุรกิจต้องดำเนินกระบวนการผลิตลดการสูญเสีย หันมาใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือมากขึ้น
ทั้งนี้ ยืนยันค่าจ้างขั้นต่ำมีความจำเป็น เพื่อคุ้มครองแรงงาน และมีส่วนช่วยในการต่อรองกับนายจ้าง เพราะสหภาพแรงงานไทยไม่เข้มแข็ง แต่ระบบปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องลดความเป็นการเมืองให้น้อยลง แทนที่จะใช้ปัจจัยเดิมพิจารณา ให้เหลือเพียงการกำหนดจุดตั้งต้นค่าจ้างขั้นต่ำที่อ้างอิงกับค่าใช้จ่ายจริงของแรงงานเพื่อยังชีพ อย่างน้อยที่สุดต้องพ้นเส้นความยากจน และไม่จำเป็นต้องมีอัตราเท่ากันทั้งประเทศ
ขณะที่นางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรอบระยะเวลาการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 เห็นชอบกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัด เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า แต่ละจังหวัดมีค่าครองชีพและสภาพเศรษฐกิจ สังคม แตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลระดับจังหวัดอยู่