สตง.ขู่งัดกม.เล่นงาน ส่วนราชการ 4 พันแห่ง ไม่แจ้งผลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ
ประธาน คตง. ชงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี-กระทรวงมหาดไทย แจ้งเวียนส่วนราชการกว่า 4 พันแห่ง ในความรับผิดชอบให้เร่งรัดดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. พร้อมแจ้งผลการดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด ระบุหากฝ่าฝืนต้องรับโทษ
เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2558 ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มีการพิจารณามาตรการเร่งรัดหน่วยรับตรวจให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีที่ สตง. ได้ตรวจสอบการเงินแผ่นดินของหน่วยงานของรัฐแล้วปรากฏข้อบกพร่องเนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากที่ สตง. ได้แจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวชี้แจง หรือแก้ไขข้อบกพร่อง หรือปฏิบัติให้ถูกต้อง และให้แจ้งผลการดำเนินการให้ สตง. ทราบภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามนัยมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แล้ว ปรากฏว่ามีหน่วยรับตรวจจำนวนมากที่ยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
“ จากข้อมูลในระบบบริหารงานตรวจสอบ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 พบว่ามีรายงานผลการตรวจสอบที่หน่วยรับตรวจไม่แจ้งผลดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 1,365 รายงาน และปีงบประมาณ 2557 จำนวน 3,073 รายงาน ”
ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว คตง. อาศัยอำนาจตามมาตรา 15 (4) และมาตรา 44 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 จึงมีข้อเสนอแนะให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ให้สำนักนายกรัฐมนตรีนำกรณีดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีมติกำชับหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารที่ยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. ให้เร่งรัดดำเนินการและแจ้งผลการดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด
2. สำหรับกรณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งเวียนหน่วยงาน ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ซึ่งยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. ให้เร่งรัดดำเนินการและแจ้งผลการดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ การฝ่าฝืนละเลยไม่ดำเนินการกรณีดังกล่าวอาจมีความผิดวินัยตามนัยมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง