ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสะมะแอ ท่าน้ำ ผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2512 แต่ได้รับการลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันเป็นกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร สะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันเพื่อกบฏ และสมคบกันเป็นซ่องโจร ได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้พักโทษ หลังจากที่รับโทษมาแล้วเป็นเวลา 18 ปี การพักโทษหมายความว่า นายสะมะแอเป็นอิสระและกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องไปรายงานตัวทุกๆ เดือนในระยะเวลาต้องโทษที่ยังเหลืออีก 10 ปี
นายสะมะแอเป็นผู้นำคนสำคัญผู้หนึ่งขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี หรือที่เรียกย่อว่า “พูโล” (PULO มาจากคำเต็มภาษาอังกฤษว่า Pattani United Liberation Organization) องค์กรนี้ตั้งขึ้นในประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อปี พ.ศ.2511 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแยกจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปเป็นอิสระ ในชั้นต้นองค์กรพูโลใช้วิธีปลุกระดม โดยใช้ผู้นำศาสนาอิสลาม และชายไทยมุสลิมเป็นเป้าหมาย ต่อมาใน พ.ศ.2519 จึงได้ตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น ประกอบด้วยเยาวชน ซึ่งองค์กรส่งไปรับการฝึกวิชาทหารและการก่อวินาศกรรมในประเทศลิเบียและซีเรีย
พูโลเป็นองค์กรหลัก มีองค์กรย่อยที่ขึ้นต่อพูโลหลายองค์กรที่สำคัญก็คือ แนวร่วมเพื่อการปฎิวัติชาติมะลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) เรียกย่อว่า “บีอาร์เอ็น” (BRN) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2506 ต่อมาผู้นำเกิดแตกกันแยกออกไปตั้งเป็นองค์กรย่อย แม้จะยังใช้ชื่อบีอาร์เอ็นอยู่ องค์กรย่อยที่สำคัญและเป็นต้นเหตุของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันคือ บีอาร์เอ็นโคออร์ดินาซี (BRN-Coordinasi) เรียกย่อว่า “บีอาร์เอ็นซี” (BRN-C) องค์กรย่อยนี้แหละที่เป็นผู้ให้กำเนิดกลุ่มโจรที่เรียกว่า “อาร์เคเค” (ย่อมาจาก Runda Kumpulan Kecil แปลว่าหน่วยลาดตระเวนขนาดเล็ก) อันเป็นหน่วยที่มีบทบาทสำคัญในปัจจุบันในการวางระเบิด เผา สังหารและลอบสังหารเจ้าหน้าที่ ครู พระ ภิกษุ และชาวบ้านโดยไม่เลือกเพศเลือกวัย
ก่อนที่นายสะมะแอ ท่าน้ำ จะได้รับการพักโทษนั้นได้มีการพบปะเจรจากันระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยและสมาชิกองค์กรบีอาร์เอ็นซีที่นายสะมะแอเป็นผู้นำคนหนึ่งมาแล้วหลายครั้ง โดยรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางและเจ้าหน้าที่ไทยได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นกับนายสะมะแอมาโดยตลอด ข้อมูลที่ได้นั้นเป็นประโยชน์และเป็นเหตุให้นายสะมะแอได้รับการลดโทษมาโดยตลอด จนกระทั่งได้รับการพักโทษในที่สุด
เป็นที่เชื่อกันในวงการที่เกี่ยวข้องว่า การพักโทษที่นายสะมะแอได้รับจะมีผลกระทบถึงการปฎิบัติงานของหน่วยอาร์เคเค และทำให้การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็นับว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนใต้นั้นถูกต้องและได้ผล
อย่างไรก็ตาม ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเกี่ยวเนื่องอยู่กับปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่าง ที่สำคัญคือการค้ายาเสพติดและการค้าน้ำมันเถื่อน ฉะนั้น จึงไม่ควรรีบเชื่อทีเดียวว่า การพักโทษที่นายสะมะแอได้รับในคราวนี้นั้น จะทำให้สันติภาพคืนมาสู่จังหวัดชายแดนใต้อย่างสมบูรณ์ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทหารและตำรวจ ยังจะต้องตั้งอยู่ในความประมาทและพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุร้ายที่จะมาจากการปฎิบัติของขบวนการค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อนต่อไปอีก.