สคร.คาดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติไม่เกินไตรมาสแรก ปี 59
จุฬาฯ จัดเวทีถกปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ‘บรรยง พงษ์พานิช’ เผยปี 56 รายได้รวมรัฐวิสาหกิจ 5.1 ล้านล้านบาท 10 ปี ขยับขึ้น 300% สะท้อนบทบาทสำคัญในระบบ ศก. คาดดัน พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจฯ เข้าสภา หวังตั้งบรรษัทแห่งชาติทันไตรมาสแรกปีหน้า
วันที่ 20 กรกฎาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ ‘ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย’ ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และกรรมการคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กล่าวถึงเหตุผลต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจว่า เนื่องจากรัฐวิสาหกิจขยายขนาดขึ้นมากขึ้นตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี 2546-56 รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์ขยายตัวจาก 4.5 ล้านล้านบาท ขยับขึ้นเป็น 11.8 ล้านล้านบาท (ขนาดเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า) ทำให้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจไหลเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจรัฐมากขึ้น ซึ่งสวนกระแสหลักการของโลกที่พิสูจน์แล้วว่า การบริหารภายใต้ระบบศูนย์กลางไม่ประสบความสำเร็จ
ขณะที่รายได้รวมรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง พบว่า ปี 2556 อยู่ที่ 5.1 ล้านล้านบาท ขยับขึ้นจากเดิม 1.55 ล้านล้านบาท ในปี 2546 คิดเป็น 300% นั่นหมายถึงรัฐวิสาหกิจมีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ และรายได้รวมดังกล่าวเทียบเท่ากับการลงทุนในภาครัฐ สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ภายใต้รัฐมากขึ้น นอกจากนี้ไทยมีเงินลงทุนปีละ 7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3.5 แสนล้านบาท ลงทุนโดยรัฐวิสาหกิจ และอีก 3.5 แสนล้านบาท ลงทุนโดยรัฐ ซึ่งมีขนาดพอ ๆ กัน
“ทุกปีเรามักได้ยินรัฐวิสาหกิจมีกำไร 3 แสนล้านบาท ซึ่งหากฟังเฉย ๆ จะรู้สึกเยอะ แต่เมื่อนึกถึงการนำทรัพย์สมบัติ 12 ล้านล้านบาท มาบริหารได้กำไรเพียงเท่านั้น ถือเป็นอัตราที่แย่มากเพียงใด เพราะมีอัตรากำไรเพียง 3% เท่านั้น”
นายบรรยง ยังกล่าวถึงการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ พบว่า รัฐวิสาหกิจทำกำไรมักเป็นกิจการผูกขาด เช่น การไฟฟ้า การท่าเรือ การท่าอากาศยาน ปตท. เป็นต้น ส่วนกิจการต้องแข่งขันกับเอกชนกลับขาดทุน เช่น การบินไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย กสท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจหลายแห่งขาดประสิทธิภาพ และไม่สามารถแข่งขันได้ ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาจากสายการบินแห่งชาติ คือ การบินไทยจ้างพนักงานพอ ๆ หรือมากกว่าสายการบินแห่งชาติประเทศคู่แข่ง แต่สามารถสร้างรายได้และกำไรต่ำกว่ามาก
ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ระบุถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. ... ซึ่งได้ขับเคลื่อนกันมาว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยภาพรวม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการให้รัฐวิสาหกิจต้องเปิดเผยข้อมูลและการตรวจสอบต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส เพียงพอ ระบุประเภทข้อมูลทางการเงินและข้อมูลสำคัญที่ต้องเปิดเผยตามแบบรายงานมาตรฐาน 56-1 ของ กลต.
ส่วนการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีทุนประเดิม 1 พันล้านบาท และมีทุนเรือนหุ้น ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ที่สำคัญ กำหนดไม่ให้นำหุ้นบรรษัทออกจำหน่ายไม่ว่ากรณีใด ๆ เพื่อลดข้อกังวลเกี่ยวกับการแปรรูป นอกจากนี้การกำกับดูแล กรณีการดำเนินการเรื่องสำคัญที่หลายฝ่ายกังวลใจ บรรษัทไม่มีอำนาจทำได้เอง เช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่จะมีผลต่อการเป็นรัฐวิสาหกิจ การควบ โอน แยก ยุบเลิกรัฐวิสากิจ เป็นต้น
นายรพี กล่าวอีกว่า การจัดทำบัญชีต้องได้มาตรฐานสากล พร้อมกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ดูแลให้มีระบบควบคุมและตรวจกิจการภายในที่เหมาะสม และต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานประจำปีให้คณะรัฐมนตรี พร้อมเปิดเผยต่อสาธารณชน อย่างไรก็ดี ยังกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัท 12 แห่ง โอนมาให้ตราเป็นกฎกระทรวง โดยมีบรรษัทเป็นผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. ... ว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเดือนสิงหาคม 2558 หลังจากนั้นจะส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คาดว่าใช้เวลา 2-3 เดือน และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ไม่น่าเกินไตรมาสแรกของปี 2559 .