ผู้ตรวจการฯ ร้องบิ๊กตู่สอบ “พระธัมมชโย” ใช้ชื่อซื้อที่ดิน 959 ล้าน- อาบัติปาราชิก
สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลง “พระธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ลงชื่อตัวเองซื้อที่ จ.พิจิตร-เพชรบูรณ์ 959 ล้าน อมไว้ 7 ปีก่อนคืนให้วัด เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ อาบัติปาราชิกตามลิขิตพระสังฆราช ร้อง "บิ๊กตู่" ใช้ม.44 ตั้งคณะตรวจสอบ
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกและเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการพิจารณากรณีผู้ร้องเรียนจาก พระสุวิทย์ ธีรมโน (หลวงปู่พุทธอิสระ) เจ้าอาวาสวัดน้อย จังหวัดนครปฐม และนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปปท.) โดยขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (ตำแหน่งในขณะนั้น) มหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระธัมมชโย ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกและเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ประเด็นที่ได้รับไว้พิจารณาคือ กรณีคดีอาญาหมายเลข ดำที่ 11651/2542 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ที่รวบรวมหลักฐานมาจากศาลอาญาได้พบว่า เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้มีการลงสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินสดจากธนาคาร ซึ่งเป็นบัญชีของวัดพระธรรมกาย เข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่จังหวัดพิจิตร และจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดิน
ซึ่งปรากฏในเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดินแล้วว่ามีการรับมอบแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายในฐานะผู้ซื้อ เป็นชื่อในนามของตัวเองไม่ใช่จากทางวัด ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมศาสนา ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษา และจัดการศาสนสมบัติของวัด ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ.2511 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
จนเมื่อปี 2549 ล่วงเลยมา 7 ปี นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้มีคำสั่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ถอนฟ้อง คดีพระธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157
"ทางศาลก็อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า กรณีที่ไปถอนฟ้องได้มีการใช้คืนทรัพย์สิน ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินอีกจำนวน 959,300,000 บาท ให้แก่ทางวัดเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นการปฎิบัติจตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช แต่ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าคืนเมื่อวันที่เท่าใด เมื่อใด อย่างไร และมีความผิดค่อนข้างชัดเจนตามหลักฐานที่เห็นว่ามีการลงชื่อตัวเอง จึงมีข้อสงสัยว่าการที่ไปคืนอาจเป็นแค่การบรรเทาผลร้ายเพื่อให้การกระทำที่ผ่านมาไม่มีความผิด" นายรักษเกชา กล่าว
นายรักษเกชา ได้กล่าวอีกว่า ในอีกกรณีที่ร้องเรียนว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามพระบัญญัติของสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นผู้ปกครองสงฆ์สูงสุด จากพระลิขิต ฉบับลงวันที่ 26 เม.ย., 1 พ.ค. และ 10 พ.ค. 2542 ที่ระบุว่า
ไม่คิดให้มีโทษ เพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ให้ ในชั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครองทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียเกิดแก่คณะสงฆ์ในพระพุทธศานา
“ซึ่งพระลิขิตดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตดังกล่าว แต่ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ไม่ได้ดำเนินการตามพระลิขิต จึงถือได้ว่าละเลยไม่ใส่ใจต่อการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์บางรูป” นายรักษเกชา กล่าวในที่สุด
ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงใช้มาตรา 32 ตามพ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือเสนอแนะไปทางนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 44 พิจารณาดำเนินการตรวจสอบ ในขณะเดียวกันก็อาจจะต้องแต่งตั้งขณะทำงานมา อันประกอบไปด้วยผู้เชียวชาญทั้งจากฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต อาทิ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนา ผู้แทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี มาปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธรรมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ตามสมเด็จพระสังฆราชบัญชาไว้ อาทิ เรื่อง พ.ร.บ.การจัดการทรัพย์สินของสงฆ์ เรื่องเงินบริจาคนั้นไม่มีใครไปตรวจสอบหรือจัดการ จึงเกิดความไม่งามในวงการพุทธศาสนาตามมา
(กดคลิกติดตามข่าวสาร ได้ใน แฟนเพจ "I love isranews ")
ภาพประกอบจาก : www.bangkokbiznews.com