'ประภาส ปิ่นตบแต่ง' วิพากษ์ออกแบบรธน.เพิ่มอำนาจผู้ดี ลดอำนาจประชาชน ปรองดองเกิดยาก
"เลิก ค่านิยมการเสนอตัวแทนเข้ามาจัดการจากผู้อาวุโส เพราะได้ไม่คุ้มเสีย อย่าหลงใหลได้ปลื้มกับอำนาจนอกระบบ ร่วมกันคืนพื้นที่ปกติให้คนในสังคมได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นการเดินขบวน การต่อรองเรื่องปากท้อง การต่อรองเรื่องสภาพการครองชีพ และที่สำคัญคือไม่สร้างประชาธิปไตยแบบจารีตนิยม"
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “การเมืองภาคประชาชน ประชาธิปไตย และทางเลือกของการพัฒนา: บทเรียนจากวิกฤติการเมืองไทยในห้วงหนึ่งทศวรรษ” โดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.ประภาส กล่าวตอนหนึ่งถึงการเมืองภาคประชาชนที่หลายคนอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน เนื่องจากต้องยอมรับว่า แนวคิดเรื่องภาคประชาชนนั้นเป็นแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ ที่ไม่ได้จะหาความจริงแท้แน่นอน และนิยามของคำว่าภาคประชาชนก็เกิดขึ้นจากผู้คนหลายฝ่ายที่มาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในทัศนคติส่วนตัวมองว่า วลีของคำว่า ภาคประชาชนเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2530 เป็นต้นมา โดยเกิดขึ้นจากคนจน คนด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นจากบริบทในเชิงโครงสร้างของรัฐบาลที่มีการปรับเปลี่ยน มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้คน ทำให้การเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทประชาธิปไตยครึ่งใบ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ภาคประชาชนเกิดขึ้นในบริบทที่เป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นกลไกในการเข้าถึงนโยบาย เข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มคนจนหรือคนด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการใช้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนยังมีข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมการตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่
"ที่ผ่านมาการเมืองของภาคประชาชนจะอาศัยการเมืองบนท้องถนนเพื่อต่อรองกับรัฐบาล และเป็นการเริ่มทำให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเริ่มเห็นหัวคนจนมากขึ้น ดังนั้นจึงอาจเรียกได้ว่า ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเป็นแนวทางของการต่อรองในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเมื่อเข้าสู่ยุคปฏิรูปการเมือง"
ดร.ประภาส กล่าวอีกว่า การสร้างการเมืองในภาคประชาชนก็เกิดเป็นอีกมิติ เป็นภาคประชาชนที่สร้างพื้นที่ในกระบวนการผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ และการเมืองภาคประชาชนยังเป็นสิ่งเดียวกับการพัฒนาประชาธิปไตยในบริบทของโลก แม้จะมีการโจมตีว่า เรานำประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใช้และกล่าวว่า ประชาธิปไตยในแบบตัวแทนนั้นไม่เหมาะสมกับสังคมไทย
"ที่จริงเราเอาแบบอย่างเขามาไม่หมด ประชาธิปไตยนั้นมีทั้งแบบทางตรงและแบบมีส่วนร่วม ซึ่งการใช้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นเพียงส่วนขยายหนึ่งของคำว่า ประชาธิปไตย แท้จริงแล้วควรมีกลไกในสองระดับ คือ อย่างแรก การถ่ายโอนอำนาจในการตัดสินใจ และการลงประชามติ กระบวนการประชาพิจารณ์ต่างๆ ไม่ได้อยู่เพียงแค่ผู้แทนหรือตัวแทนเท่านั้น หากแต่ต้องขยายอำนาจมาสู่ประชาชนด้วย แต่เราไม่ค่อยเอามาใช้ เช่น กระบวนการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม การถ่ายโอนอำนาจสู่ประชาชน และความเป็นประชาธิปไตยนั้นมากกว่าการลงคะแนนเสียง คือการยึดมั่นในหลักการที่ว่าอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจคือประชาชน”
ดร.ประภาส กล่าวถึงความถดถอยของภาคประชาชนเกิดขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2531 เป็นปัญหาแบบตัวแทนประชาธิปไตยเต็มใบ มีการใช้อำนาจรัฐแบบทุจริตจนเกิดการถกเถียงและนำมาสู่การเคลื่อนไหว การเมืองภาคประชาชนมีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจนเกิดการผันแปรไปสู่ภาคประชาชนที่มองปัญหาแตกต่างไปจากคนจน
ทั้งนี้หากมองปัญหาเลือกตั้งโดยเชื่อมโยงไปยังพรรคการเมืองก็จะเห็นอยู่ในรูปแบบทุนนิยมสามานย์ ในแง่นี้ ดร.ประภาส มองว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็จะเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง มีการเสนอทางออก การจัดการปัญหา มีการชุมนุมเดินประท้วง การยกระดับการเคลื่อนไหวและไม่ได้สนใจเรื่องกระบวนการมีการยอมรับอำนาจนอกระบบได้ ซึ่งในแง่ของสังคมประชาธิปไตยอุดมคติจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยแบบตัวแทนสอดคล้องกับแนวคิดของภาคประชาชนที่มีความเฉพาะของไทยที่เป็นไปได้ตาม กระแส
ความคิดของผู้นำภาคประชาชนไม่ได้ยึดอยู่บนหลักประชาธิปไตย และมองการเมืองเป็นการเมืองในสังคมอุดมคติ คือ ต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม และสิ่งต่างๆเหล่านี้ปรากฏชัดขึ้นทุกวัน ไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจของประชาชนในการออกแบบประชาธิปไตย ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนว่า มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบกำกับ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยง่าย เพราะไม่มีพื้นฐานในการให้อำนาจกับประชาชน
นักวิชาการจุฬาฯ กล่าวถึงภาคประชาสังคมที่ไม่ยึดหลักการของประชาธิปไตย และยอมรับรัฐประหารคือลักษณะของนักฉวยโอกาส ที่มีเป้าหมายในการสร้างสังคมการเมืองที่ดีตามการเมืองอุดมคติ มีลักษณะการสนับสนุนประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับเรื่องคุณธรรม ความเป็นกลางที่มุ่งเอาอำนาจออกจากประชาชนแทนการถ่ายโอนอำนาจ การเมืองภาคประชาชนที่แท้จริงนั้นคือการจรรโลงประชาธิปไตยและการถ่ายโอน อำนาจไปสู่ชนชั้นล่างซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในจินตนาการทั้งกลุ่มเสื้อเหลือหรือ เสื้อแดงมากนัก
“การออกแบบระบบเลือกตั้งทุกครั้งพยายามดึงอำนาจจากประชาชนตลอดเวลา ตรรกะอยู่ที่คนข้างล่าง แต่คนกลุ่มนี้ถูกมองว่า โง่และพยายามจะให้เสียงต่างๆ เหล่านี้หายไป และทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหารพื้นที่ของคนเหล่านี้ก็จะหายไปด้วย”
ดร.ประภาส กล่าวด้วยว่า ปีนี้อาจจะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของชาวนา ต้นปีทำนา อากาศเปลี่ยนร้อนข้าวตาย น้ำไม่มี ข้าวราคาถูก กระทบชาวบ้าน หากอยู่ในรัฐบาลประชาธิปไตยคงเกิดการเดินขบวนอย่างกว้างขวาง แต่ภาวะแบบนี้แค่ภาพผืนนาแตกระแหงลงสื่อก็ทำไม่ได้แล้วเพราะเขาห้าม ดังนั้นนี่จึงเป็นบทเรียนสำคัญ
"หนึ่งปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหารประชาชนถูกตัดขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ชนชั้นนำกำหนดอำนาจในการตัดสินใจยึดธุรกิจมากกว่าประชาชนที่อยู่ข้างล่าง และเป็นบทพิสูจน์มาโดยตลอดแล้วว่า เป็นเช่นนี้ ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการประชาธิปไตยในเชิงกระบวนการปฏิรูปการเมืองก็เกิดการจำกัดตัวแทนในสภาไม่เป็นประชาธิปไตย"
ส่วนประเด็นเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ ดร.ประภาส มองว่า ก็คงออกแบบสังคมการเมือง มาในลักษณะของประชาธิปไตยค่อนใบเท่านั้นเอง เอาอำนาจของประชาชนออก นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัดในการออกแบบรัฐธรรมนูญ และยังจะเป็นการนำไปสู่รัฐราชการแบบเก่า อำนาจการตัดสินใจก็จะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
"หากกล่าวแบบถึงที่สุดคือเรียกง่ายๆ ว่า ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่ไว้ใจประชาชน"
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะเห็นจากรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างนี้ คงเป็นการสถาปนาแบบชนชั้นนำ เพิ่มอำนาจผู้ดี ลดอำนาจประชาชน ฉะนั้นหากหวังเรื่องปรองดองคงจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากที่ผ่านมาการเมืองภาคประชาชนนั้นพยายามจรรโลงประชาธิปไตยมาโดยตลอด ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวที่ไหนที่จะเข้ามาสู่การเมืองและออกแบบนโยบายสาธารณะ และจะกระจายผลประโยชน์ให้ชาติได้เท่ากัน บทพิสูจน์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้บางกลุ่ม เท่านั้น
ท้ายสุด รศ.ดร.ประภาส ย้ำด้วยว่า จะต้องเลิกค่านิยมการเสนอตัวแทนเข้ามาจัดการจากผู้อาวุโส เพราะว่าได้ไม่คุ้มเสีย อย่าหลงใหลได้ปลื้มกับอำนาจนอกระบบ ร่วมกันคืนพื้นที่ปกติให้คนในสังคมได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นการเดินขบวน การต่อรองเรื่องปากท้อง การต่อรองเรื่องสภาพการครองชีพ และที่สำคัญคือไม่สร้างประชาธิปไตยแบบจารีตนิยม