51 องค์กรภาคประชาสังคมสิ่งแวดล้อม จี้ กฟผ.ยุติประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
51 องค์กรภาคประชาสังคมสิ่งแวดล้อมค้าน กฟผ.เปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 5 ส.ค. 58 ยันโครงการยังไม่ผ่าน คชก.-กระทบแหล่งทรัพยากร บุกทำเนียบทวงคำตอบนายกฯ ยุติแผนทั้งหมด
วันที่ 19 กรกฎาคม 2558 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม 51 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วม ‘คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และการเปิดประมูลโครงการ’ ใจความว่า
ตามที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้ทำการอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อแสดงการคัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน จ.กระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และ กฟผ.กำลังจะเปิดประมูลการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในวันที่ 5 สิงหาคม ที่จะถึงนี้นั้น
พวกเรา 51 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม ของแถลงสนับสนุนการแสดงออกของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินและมีความเห็นข้อเรียกร้องร่วมกัน ดังนี้
1.การแสดงออกของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเป็นการแสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตยและมิได้มีการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด
2.พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรือ แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Sites) เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนก โลมา วาฬ และพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวนของไทย และอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก พื้นที่ชุ่มน้ำและชายฝั่งทะเลอันดามัน
ทั้งยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชนท้องถิ่น ทั้งในด้านการประมง และการท่องเที่ยว จึงเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ที่มีความสำคัญและความอ่อนไหวในทางธรรมชาติแห่งนี้
3.การเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ทั้งที่โครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำ EHIA ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และยังไม่ได้รับการอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี
โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการ ‘คู่ขนาน’ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขัดกับหลัก ‘ธรรมาภิบาล’ ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน
4.ขอให้ กฟผ.ยุติแผนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และยกเลิกการเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โดยทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันที่ 20 กรกฎาคม 2558 เวลา 09.00 น. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และประชาชนจ.กระบี่ จะเดินทางออกจากจุดปักหลักหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามคำตอบจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อการยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต่อไป .