ดร.วิชช์ จีระแพทย์ : พนักงานอัยการ ต้องอิสระ
"...เป็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่า เจตนารมณ์ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเจตนาแอบแฝง ต่อองค์กรอัยการ และ การทำหน้าที่ของพนักงานอัยการในอนาคตเช่นไร ต้องการให้องค์กรนี้ และการสั่งคดีของพนักงานอัยการอยู่ในกำมือของผู้มีอำนาจจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรม สังคม ประชาชน และประเทศชาติ ดังกล่าว.."
หมายเหตุ: เมื่อ 17 ก.ค.58 ดร.วิชช์ จีระแพทย์ ผู้ตรวจการอัยการ เขียนบทความถึงสำนักข่าวอิศรา ต่อกรณีสถานะขององค์กรอัยการและความเป็นอิสระของพนักงานอัยการที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช...ดังต่อไปนี้
----------
ด้วยทราบความคืบหน้าของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช... มาตรา ๒๒๘ สถานะขององค์กรอัยการ และความเป็นอิสระของพนักงานอัยการ ว่า วรรคหนึ่ง “องค์กรอัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” และ วรรคสอง บัญญัติว่า “ พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ และกฎหมายอื่น” เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเกิดความคลุมเครือ ในสถานะองค์กรอัยการ และการดำรงตนในความเป็นอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และการดำเนินคดีในศาลของพนักงานอัยการ ส่งผลให้เกิดความเป็น “อธรรม” ขึ้นได้ โดยเหตุผลดังนี้
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๕ วรรคหนึ่ง “พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ และตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการและกฎหมายอื่น” วรรคสอง “ พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม” จึงทำให้สถานะขององค์กรอัยการเป็นอิสระ และคงความเป็นอิสระในการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการแต่นั้นมา
การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ยกร่างเกี่ยวกับสถานะ และความเป็นอิสระขององค์กรอัยการ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .. มาตรา ๒๒๘ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ดังกล่าว จึงเป็นที่คลุมเครือว่า ในกาลต่อไปในอนาคต องค์กรอัยการมีสถานะเช่นใด และเมื่อไม่ได้รับรองไว้ว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายการเมือง ย่อมสามารถเข้ามาครอบงำองค์กรอัยการ โดยออกกฎหมายให้โอนหน่วยงานอัยการไปอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตกอยู่ภายใต้อำนาจสั่งการของรัฐมนตรีซึ่งมาจากฝ่ายการเมืองก็ได้ ส่วนความเป็นอิสระของตัวพนักงานอัยการในการสั่งคดี การดำเนินคดีในศาล ก็ไม่ได้รับรองโดยรัฐธรรมนูญอีกต่อไป จึงอาจถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจได้ตลอดเวลาส่งผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม สังคม ประชาชน และประเทศชาติโดยรวม
แม้ในการยื่นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของกลุ่มนายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ ซึ่งได้ยื่นคำขอแก้ไขในส่วนนี้ว่า มาตรา ๒๒๘ วรรคหนึ่ง “องค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย” วรรคสอง “ พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี ดำเนินคดีในศาล และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ และกฎหมายอื่น” กลับไม่ได้รับการพิจารณา ทั้งที่เป็นความเห็นในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม เป็นหลักประกันสถานะองค์กรอัยการ และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ
จึงเป็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่า เจตนารมณ์ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเจตนาแอบแฝง ต่อองค์กรอัยการ และ การทำหน้าที่ของพนักงานอัยการในอนาคตเช่นไร ต้องการให้องค์กรนี้ และการสั่งคดีของพนักงานอัยการอยู่ในกำมือของผู้มีอำนาจจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรม สังคม ประชาชน และประเทศชาติ ดังกล่าว
จึงขอนำเสนอไปยังประชาชน สังคม และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านบทความนี้ เพื่อขอให้พิจารณาทบทวน ถึงความสำคัญขององค์กรอัยการ และ ความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของพนักงานอัยการ ไม่ให้ถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจในอนาคต ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า องค์กรอัยการ และพนักงานอัยการจะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง และทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง และส่งผลไปยังประชาชนให้ได้รับความคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง
ดร.วิชช์ จีระแพทย์ ผู้ตรวจการอัยการ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘
อ่านประกอบ:
โกวิท ศรีไพโรจน์ :ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสถานะของพนักงานและองค์กรอัยการ