"ค้านมาแล้ว 40 ปี" โครงการริมน้ำเจ้าพระยา ดร.สุเมธ ชี้หากจะเดินหน้า ขอให้เปลี่ยนรูปแบบ
“คนไทยไม่มีการต่อต้านธรรมชาติ อาจพูดได้ว่าคนไทยเองมีความขี้เกียจเลยอยู่กับธรรมชาติดีกว่าเพราะไม่ต้องไปสร้างอะไรให้วุ่นวาย สถาปัตยกรรมต่างๆจากอดีตจึงสามารถดำรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้”
ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะ สถาปัตยกรรม(สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) เล่าวันวานของแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยกรุงศรีอยุธยา ไว้ในงาน“TUDA 2015” ซึ่งจัดขึ้น ณ ชั้น 5 สยามพารากอนว่า มีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกันและเกิดมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่สองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เพียงบอกเล่าประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่มีมานับแต่วันวานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ยังสามารถเชื่อมโยงสะท้อนคุณค่าความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำแห่งวัฒนธรรม ไว้อย่างโดดเด่นอีกด้วย
ดร.สุเมธ เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 400 ปีก่อน กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่อยู่ใต้น้ำ เหมือนกับพื้นที่ในบางขุนเทียนตอนนี้ กรุงเทพฯ หรือสมัยนั้นเรียกว่า "บางกอก" เข้ามามีตัวตนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการสร้างป้อมปราการที่แข็งแรง ในปัจจุบันเมืองบางกอกอยู่ในบริเวณพื้นที่ของทหารเรือ ป้อมที่ทหารเรือใช้ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมือง
บางกอก จึงเป็นเมืองคลองน้ำ 2 สายตัดกัน สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของกรุงเทพฯ ถิ่นบางกอก
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการสร้างป้อมฝั่งตรงกันข้าม ซึ่งในปัจจุบันอยู่แถววัดโพธิ์ โดยมีการสร้างเป็นรูปดาว ซึ่งได้ขอยืมช่างจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาช่วยในการสร้างป้อมปราการดังกล่าว คนที่มีช่วงอายุมากกว่า 60 ปีต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะเดิมทีเป็นคุ้งน้ำที่ใหญ่โต เริ่มมาตั้งแต่เมืองนนท์ แม่น้ำเจ้าพระยาจะเลี้ยวขวาออกคลองบางกอกน้อย แล้วอ้อมไปออกทางบางกอกใหญ่ และยังมีคุ้งแม่น้ำใหญ่อีกอันหนึ่งเรียกว่า "กระเพาะหมู" หรือในสมัยนี้เรียกว่า "บางกระเจ้า" และจากกระเพาะหมูเลี้ยวโค้งไปลงสู่อ่าวไทยในที่สุด
หากมองกว้างออกไป กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เป็นเหมือนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ใหญ่มาก ที่มีแม่น้ำสายอื่นๆ และยังเป็นโคลนตมที่ไหลออกไปสู่ทะเล
มายุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์ คลองที่มีการขุดลัดคุ้งแม้น้ำบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ ที่มีการขุดคลองลัดคุ้งน้ำได้กลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันอยู่บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)
เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 แม่น้ำเจ้าพระยา ได้กลายเป็นใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ
ดร.สุเมธ บอกว่า จากการเขียนของชาวต่างประเทศที่ได้เข้ามาท่องเที่ยวในสมัยนั้น อธิบายภาพเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยาของเมืองไทยว่า
"เปรียบเสมือนชุมชนลอยน้ำ ซึ่งหมายความว่า ทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจะเต็มไปด้วยเรือนแพ ที่จอดกันอยู่แน่นขนัด ซึ่งในบางครั้งอาจมีเรือจอดกันถึง 2-3 แถว รวมถึงถ้าได้ขึ้นไปบนบก ลึกเข้าไปจะยิ่งพบว่า ประชากรที่อยู่อาศัยมีน้อยกว่าแถวริมสองฝั่งแม่น้ำ"
ขณะที่มาสมัยธนบุรี ถูกเปรียบเป็น "เมืองน้ำ" แต่มีความเห็นว่า ไม่ตรงกับความหมายที่ต่างชาติให้ไว้ว่าเป็น "เวนิส" เพราะการที่จะได้ชื่อว่า เวนิสนั้นต้องเกิดจากคลองที่สร้างอยู่บนดิน
"กลับกันของประเทศไทย เป็นเมืองลอยน้ำที่เกิดขึ้นมาจริง นับได้ว่า กลางใจเมืองของเมืองหลวงเราคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แต่เมื่อมองห่างออกไปจากน้ำแล้ว จะพบเรือที่เรียกกันว่า "เรือสะเทินน้ำสะเทินบก" ซึ่งหมายถึง เรือที่มีการยกพื้นใต้ถุนโล่ง เมื่อเกิดน้ำท่วมก็จะท่วมเข้าไปในใต้ถุนเรือ เมื่อถึงหน้าน้ำจะเอาเรือลอยน้ำเพื่อใช้ในการสัญจรไปมาได้ทุกแห่งหน ดังกับเป็นถนน(น้ำ)ไปหมด" นี่คือสภาพของกรุงเทพฯธนบุรี ที่ดร.สุเมธ ฉายภาพให้เราฟัง
ศิลปินแห่งชาติฯ เล่าต่อถึงช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างถนนแรกขึ้น ซึ่งในความคิดคนส่วนใหญ่ คิดว่าถนนแรกนั้นคือ ถนนเจริญกรุง แต่อันที่จริงแล้วเป็นถนนพระรามที่ 4 ซึ่งในสมัยนั้นมีการขุดคลองพระราม 4 แล้วนำดินมาถมไว้ข้างๆ จึงกลายเป็นถนนไปโดยปริยาย
เช่นเดียวกับถนนวิทยุ ซึ่งเป็นการขุดคลองสองข้างและนำมาถมไว้ตรงกลาย จึงกลายเป็นถนนเช่นเดียวกัน ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 ยังถือว่ากรุงเทพฯ นั้นเป็นเมืองน้ำเมืองคลอง ประชากรส่วนใหญ่จะอาศัยและทำกิจกรรมต่างๆ กันในน้ำเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดเป็นความเข้าใจทางด้านปรัชญาและสัญชาติญานที่ไม่เกิดการต่อต้านธรรมชาติ โดยให้น้ำสามารถไหลผ่านเรือนแพ สามารถที่จะไหลผ่านใต้ถุนบ้านไปได้ ไม่มีการต่อต้านธรรมชาติเนื่องจากเราอยู่กับธรรมชาติ
“ตรงกันข้ามกับต่างประเทศ อย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปัจจุบันครึ่งหนึ่งของประเทศจะอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล แสดงว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ต้องเกิดการต่อต้านกับธรรมชาติเพื่อไม่ให้น้ำสามารถเข้ามาท่วม 50% ของพื้นที่ประเทศ และในอ่าวอัมสเตอร์ดัม ทะเลของอัมสเตอร์ดัมเคยเป็นน้ำเค็ม แต่ปัจจุบันเป็นน้ำจืด ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วคนหรือประมาณ 100 กว่าปี เพราะน้ำจืดจะค่อยไหลมาจากแม่น้ำ ค่อยๆสูบเอาน้ำเค็มออก และมีการสร้างทำนบเป็นวงกลมและสูบน้ำออก น้ำเค็มจะทำให้ดินนั้นเค็ม
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ อ่าวอัมสเตอร์ดัม สามารถปลูกข้าวบาเร่ย์ ดอกทิวลิป ฯลฯ ได้ จากเมื่อก่อนที่ไม่เคยปลูกอะไรได้เลย”
เมื่อหันมองย้อนมาที่ประเทศไทยบ้าง ศิลปินแห่งชาติ ท่านนี้ บอกว่า ของประเทศไทยไม่ต้องสร้างทำนบอย่างอัมสเตอร์ดัม เพราะคนไทยไม่มีการต่อต้านธรรมชาติ อาจพูดได้ว่า คนไทยเองมีความขี้เกียจเลยอยู่กับธรรมชาติดีกว่า เพราะไม่ต้องไปสร้างอะไรให้วุ่นวาย สถาปัตยกรรมต่างๆ จากอดีตจึงสามารถดำรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
สำหรับเรื่องโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ดร.สุเมธ มองว่า รัฐบาลก่อนๆ เคยมีการนำเสนอรูปแบบทางเดินริมน้ำ หรือถนนริมน้ำเจ้าพระยาไว้ก่อนแล้ว ซึ่งส่วนตัวได้มีการเสนอว่า ควรจะจัดทำเป็นทางคนเดิน ทางจักรยาน ที่ห่างออกมาจากฝั่งเพื่อไม่ให้กระทบกับวัดวาอาราม หรือโฉนดที่ดินของคนในชุมชนที่อยู่ริมน้ำ และในการห่างออกมาเพื่อให้เป็นทางจักรยาน ซ้ำยังสามารถมีตลาดน้ำ หรือมีเรือนแพ ซึ่งดีสำหรับการท่องเที่ยว เป็นการรื้อฟื้นทัศนียภาพในสมัยโบราณได้ เรือนแพนี้อาจจะจัดทำเป็นรูปแบบของโฮมสเตย์ก็ได้
“ทว่าคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า โครงการเหล่านี้จะมีความเป็นไปได้ ตัวอย่างทางเดินริมน้ำที่เกิดขึ้นจริงของประเทศ ออสเตรเลีย ซึ่งทำเป็นทางเดินทางจักรยาน เป็นแบบเดียวกันกับที่เรากำลังจะทำ ซึ่งมีตัวอย่างจริงที่ต่างประเทศทำอยู่ก่อนแล้ว ใครจะคัดค้านโครงการของรัฐบาลก็แล้วแต่ ส่วนตัวเคยคัดค้านมา 40 ปีแล้ว แต่ตอนนี้ถ้าจะทำควรมีการดัดแปลงรูปแบบก่อน"
ท้ายสุดดร.สุเมธ กล่าวย้ำว่า นอกจากทางเดินที่เคยเสนอคณะที่ปรึกษา กทม.เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มองเห็นว่า กรุงเทพฯ มีซอยต่างๆ ที่สามารถเข้าไปตามท่าน้ำ ท่าเรือได้ ทำไมไม่จัดทำเป็น "สวนลอยน้ำ" เพราะคนในกรุงเทพฯ ยังขาดสวนลอยน้ำ ซึ่งจะทำเป็นแพ และสามารถปลูกต้นไม้ได้ ถ้ามีการถมดินประมาณ 20 ฟุต ต้นไม้ที่ใหญ่ 6-8 เมตรก็สามารถปลูกได้อีกด้วย