เรื่องราวของตลาดข้าวและนโยบายรับจำนำข้าว (1)
"...นโยบายแทรกแซงราคาหรือพยุงราคา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรับจำนำ นโยบายประกันราคาก็ตาม รัฐบาลควรนำมาใช้ระยะหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาหรือเกษตรกรเมื่อราคาพืชผลตกต่ำและผันผวนเท่านั้น การแทรกแซงราคาที่ฝืนกลไกตลาดไม่สามารถทำได้ในระยะเวลานาน ๆ..."
การค้าขายข้าวในอดีตก่อนที่จะเริ่มมีนโยบายรับจำนำข้าวตั้งแต่สมัยรัฐบาลเปรมนั้น เป็นตลาดที่ชาวนาในฐานะผู้ผลิตจะไปขายข้าวในพื้นที่ใกล้แหล่งผลิต เช่น ท่าข้าว ตลาดกลาง สหกรณ์การเกษตร และโรงสี ปัจจัยที่กำหนดการตัดสินใจขายข้าวให้กับแหล่งใดนั้นขึ้นอยู่กับราคาที่ให้และต้นทุนขนส่งจากนา (ระยะทางจากนาข้าวถึงแหล่งรับซื้อ) จากนั้นข้าวจะถูกแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อขายต่อไปยังนายหน้าหรือหยง พ่อค้าในประเทศและผู้ส่งออกข้าว แล้วจะมีเครือข่ายของผู้รับซื้อในต่างประเทศ
ต่อมา เมื่อมีการใช้นโยบายรับจำนำข้าวต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลเปรมจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีเว้นระยะช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ใช้นโยบายประกันราคาได้ทำให้โครงสร้างตลาดของข้าวค่อย ๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อใช้นโยบายรับจำนำแทรกแซงราคาแบบตั้งเป้าหมายราคายิ่งทำให้โครงสร้างตลาดแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้ประเทศมาตั้งแต่หลังสนธิบาวริ่ง แต่ทำไมชาวนาผู้ผลิตข้าวจึงเป็นกลุ่มคนที่ยังยากจนที่สุด
เวลานี้ มีประชากรในภาคเกษตรประมาณ 6.8 ล้านคนยังอยู่อย่างยากจน ต้องมีความผิดปรกติในโครงสร้างตลาดอย่างแน่นอน ตลาดข้าวดูเหมือนเป็นตลาดเสรีแต่ไม่เป็นธรรม รัฐจึงต้องเข้าแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่การแทรกแซงโดยรัฐในหลายกรณีก็ไม่มีประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยการทุจริตรั่วไหลที่ควบคุมไม่ได้
ประกอบกับ ชาวนาต้องเผชิญกับสภาวะทางธรรมชาติและอากาศที่ไม่แน่นอน อย่างปีนี้ก็เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง การปลูกข้าวหรือพืชเกษตรอื่น ๆ ที่ยังต้องอาศัยธรรมชาติเป็นด้านหลักจากการที่ระบบชลประทานยังไม่ได้มาตรฐานดีพอ ดีพอที่จะปลูกข้าวหรือพืชเกษตรต่าง ๆ โดยไม่ต้องรอความเมตตาจากฟ้าฝน ปัญหาของข้าวไทยและพืชเกษตรบางตัวมีไล่เรียง ตั้งแต่ ต้นทุนการผลิตต่อไร่สูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ งบวิจัยพัฒนาการผลิตข้าวและพืชเกษตรน้อย ระบบชลประทานไม่ครอบคลุม (67% ปลูกข้าวนอกเขตชลประทาน – ข้อมูลปี 2554) เกษตรกรและชาวนาลดลงเพราะไม่มีความมั่นคงทางด้านอาชีพและรายได้ เป็นต้น
นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวนั้นเป็นมาตรการที่รัฐบาลใช้มาอย่างยาวนานหลายรัฐบาลหลังจากมาตรการกีดกันการส่งออกและเก็บค่าพรีเมียมข้าวได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยนโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรนี้มุ่งแก้ไขและบรรเทาปัญหาผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรต่อเกษตรกร ภาคเกษตรกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวม
โครงการรับจำนำในหลายรัฐบาลที่ผ่านมาโดยเฉพาะสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด รัฐบาลได้มีบทบาทมาชี้นำตลาดมากขึ้นตามลำดับ ชาวนาส่วนใหญ่ขายข้าวผ่านโครงการรับจำนำทำให้ธุรกิจท่าข้าวและตลาดกลางข้าวซบเซา
ในช่วงห้าหกทศวรรษที่ผ่านมา ภาคเกษตรกรรมของไทยได้มีพัฒนาการไปจากเดิมมาก โดยในช่วงปี พ.ศ. 2500 นั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีเกือบร้อยละ 40 มาจากภาคเกษตรกรรม มีประชากรอยู่ 27 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในภาคเกษตรกรรมร้อยละ 80 ขณะที่ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจากภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ หนึ่งล้านล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 11 ของจีดีพี โดยมีคนไทยหนึ่งในสามอยู่ในภาคเกษตรกรรม
ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา แรงงานภาคเกษตรกรรมในชนบทหลั่งไหลสู่อุตสาหกรรมและภาคบริการ ผลจากการหลั่งไหลออกนอกภาคเกษตรกรรมเพราะภาคเกษตรกรรมมีรายได้ต่ำและไม่แน่นอน และในที่สุดประเทศไทยก็ขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรและต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวในการทำงาน ผลผลิตต่อไร่ของการปลูกข้าวในไทยไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นเท่าไหร่ ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศร้อยละ 60 อาศัยน้ำฝนและปีนี้ (พ.ศ. 2558) ก็เผชิญภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้ผลผลิตในปีนี้ออกมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ผลผลิตต่อไร่ของไทยต่ำมากเพียง 338 กิโลกรัมต่อไร่ แม้นกระทั่งผลผลิตต่อไร่ในพื้นที่ชลประทานของข้าวไทยเองก็ต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของอาเซียนและโลก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 สมัยรัฐบาลเปรมได้มีการรับจำนำข้าวตันละ 2,500-2,700 บาท เวลานั้นชาวนาส่วนใหญ่ยังมีที่ดินของตัวเอง รัฐบาลได้วางกฎเกณฑ์ในกฎหมายเช่านาให้สัญญาเช่าเป็นแบบ 6 ปีโดยให้จ่ายค่าเช่ารายปีเป็นหลักประกันให้ชาวนาในการประกอบอาชีพ มีการดำเนินนโยบายรับจำนำต่อในสมัยรัฐบาลชาติชายโดยที่ราคาข้าวขยับขึ้นมาจำนำที่ประมาณต้นละ 3,000 กว่าบาท ช่วงนั้นเศรษฐกิจขยายตัวสูงมาก ราคาที่ดินขยับตัวขึ้นสูงมากจนกระทั่งชาวนาและเกษตรกรจำนวนไม่น้อยตัดสินใจขายที่ดินของตัวเองออกมา และ ผืนนาหรือสวนเกษตรต่าง ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานอุตสาหกรรม
ต่อมาในยุครัฐบาลชวน รัฐบาลบรรหารและรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยังคงรับจำนำข้าวผ่านกลไก องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมีคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข) กำกับดูแลนโยบายภาพรวม บางรัฐบาลรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจนั่งประธาน กนข สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตัวนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานเอง
ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2554 ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของไทยก็ต่ำสุดในกลุ่มประเทศผู้ผลิตข้าวหลักๆของโลกแล้ว แต่ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยไม่มีปัญหาและการส่งออกข้าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างปี พ.ศ. 2520-2554 ปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 2.2 แสนตัน ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกและความร่ำรวยจากการส่งออกจึงเป็นผลมาจากการขูดรีดผลประโยชน์ส่วนเกินจากผู้ผลิต คือ ชาวนา เมื่อชาวนาสามารถขายข้าวได้ในราคาสูงจากราคารับจำนำจึงทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวลดลงหลังใช้นโยบายรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อเกวียน
สิ่งที่สะท้อนว่าความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกเป็นผลจากกลยุทธด้านราคาเป็นหลักและต้องกดราคาข้าวในประเทศให้ต่ำ ผู้ผลิตชาวนาจึงได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากแรงงานของตัวเองไม่มากนัก หากการส่งออกข้าวไทยจะดีขึ้นหรือความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นต้องเกิดจาก การลงทุนปรับปรุงพันธุ์ข้าว การเพิ่มผลผลิตต่อไร่และการลดต้นทุน เป็นต้น
ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในปัจจุบันทำให้ภาคเกษตรกรรมหดตัวลงและไม่อยู่ในสภาพที่จะดูดซับแรงงานชนบทได้ ผู้คนในชนบทโดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาวค่อยๆถอยห่างจากชนบทและภาคเกษตรกรรมเพื่อหนีความไม่มั่นคงทางด้านรายได้และความยากจน ลูกหลานเกษตรกรไม่อยากเป็นเกษตรกรอีกต่อไป ภาวะดังกล่าวมีความจำเป็นต้องมีมาตรการหรือนโยบายเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรด้วยการแทรกแซงราคาโดยรัฐ ในกรณีของพืชผลเกษตรอย่างเช่น ข้าว ต้องจำเป็นต้องรับจำนำในราคาสูงเพื่อรักษาพื้นที่การผลิตข้าวเอาไว้ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวและพืชผลอื่นๆอย่างรุนแรงมาก มีความจำเป็นต้องสร้างระบบชลประทานทั่วถึงและทันสมัย ลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเพื่อยกระดับรายได้และประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร
ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจรุนแรง จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายเชิงรุกด้วยการรับจำนำข้าวในราคาสูง จึงแก้ปัญหาได้รวดเร็วและแน่นอนย่อมมีผลกระทบบางด้านเกิดขึ้นและอาจเกิดแรงต่อต้านจากผู้มีแนวทางแตกต่างหรือผู้เสียผลประโยชน์
การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่า และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง
มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรและการรับจำนำข้าวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นวิธีการแก้ปัญหาราคาตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรและราคาข้าวได้รวดเร็วที่สุด เป็นนโยบายควรนำกลับมาใช้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ซึ่งดีกว่าใช้วิธีแจกเงินให้เกษตรกรต่อไร่
นโยบายรับจำนำข้าวย่อมดีกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าการแก้ปัญหาด้วยการแจกเงินต่อไร่ให้เกษตรกร การรับจำนำ รัฐบาลยังมีสต๊อกข้าว อย่างไรก็ตาม แผนการรับจำนำครั้งใหม่ต้องทบทวนจุดอ่อนในอดีต เช่น ไม่รับจำนำในราคาสูงเกินราคาตลาดมากเกินไป ไม่รับจำนำทุกเมล็ด แยกรับจำนำข้าวในราคาตามระดับคุณภาพ ตรวจสอบขั้นตอนการรับจำนำให้โปร่งใสและลดการรั่วไหลทุจริต เป็นต้น
ต้องบริหารจัดการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสเพื่อให้ได้สภาพคล่องมาชำระหนี้ชาวนาและทำให้เกิดภาระทางการคลังให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจต่อระบบสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้หรือชำระเงินให้ชาวนาที่ถือใบประทวน โดยสถาบันการเงินสามารถนำใบประทวนซึ่งเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันมารับเงินจากรัฐบาลได้ต่อไป
ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการศึกษาทบทวนปัญหาและข้อผิดพลาดจากนโยบายรับจำนำข้าวเพื่อนำมาสู่การพิจารณาว่า จะปรับปรุงนโยบายรับจำนำข้าวอย่างไรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้หลุดพ้นจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
นโยบายรับจำนำข้าวที่ผ่านมาได้ทำให้ชาวนายากจนจำนวนไม่ต่ำกว่า 3.45 แสนราย ได้รับเงินจำนำข้าวเฉลี่ยรายละ 94,579 บาท และชาวนาระดับกลางและรายได้สูงไม่ต่ำกว่า 2.69 แสนราย ได้รับเงินจำนำข้าวเฉลี่ยรายละ 405,937 บาท
นอกจากนี้ยังทำให้ชาวนาบางรายที่มีที่ดินขนาดนา 100 ไร่ขึ้นไปมีรายได้ปีละ 2-3 ล้านบาท หรือ ชาวนาที่มีที่ดินขนาดใหญ่จะได้รายได้เฉลี่ย 4-6.6 แสนบาทต่อปี ด้วยระดับรายได้แบบนี้จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยเติบโตและขยายตัวได้อย่างมั่นคงต่อไป
รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาอย่างชัดเจนจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจของชาวนาจำนวนมากดีขึ้น ลดปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและทำให้ประชาธิปไตยฐานรากเข้มแข็งขึ้น ประชาธิปไตยรากฐานเข้มแข็งจากฐานะทางเศรษฐกิจและอำนาจต่อรองที่มากขึ้นของชาวนา มาตรการรับจำนำข้าวในราคาสูงโดยรัฐกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ชาวนาจำนวนไม่น้อยหลุดพ้นจากกับดักความยากจน
นอกจากนี้การทำให้ “ผู้คนในภาคเกษตรกรรม” มีรายได้สูงขึ้นเท่ากับเป็นการสกัดกั้นการอพยพย้ายถิ่นของชาวชนบท และ รักษาสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งลดปัญหาสังคมและความแออัดของเมืองใหญ่
สต็อกข้าวของรัฐบาลที่สะสมเพิ่มขึ้นจากการรับจำนำต้องบริหารจัดการให้ดี (จำนวนนี้สามารถนำมาเป็นอาหารสำรองทางยุทธศาสตร์จากการขาดแคลนอาหารในอนาคตจากภาวะโลกร้อนได้แต่ต้องมีระบบเก็บรักษาคุณภาพดีๆ) การมีสะต๊อกจำนวนมากขึ้นจะทำให้การระบายข้าวบริหารยากขึ้น เมื่อปล่อยข้าวออกมาในตลาดจะกดราคาในตลาดให้ปรับตัวลดลง รัฐบาลก็จะขาดทุนเพิ่มเติมอีก ส่วนการเก็บข้าวไว้รอให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้นค่อยทยอยขาย รัฐก็ต้องมีระบบการจัดเก็บสะต๊อกข้าวที่ได้มาตรฐาน รายละเอียดของนโยบายรับจำนำบางส่วนต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อปิดจุดที่จะสร้างปัญหาและลดการรั่วไหล การทุจริตนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลอมใบประทวน การนำข้าวมาเวียนเทียนสะต๊อกลม การสวมสิทธิ ตลอดจน การใช้บริษัทในเครือข่ายรับซื้อข้าวจากรัฐบาล
ที่สำคัญ รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรับจำนำเสียใหม่ ไม่ให้กลายเป็น การผูกขาดการค้าข้าวโดยรัฐบาล หรือ ตั้งราคาจำนำสูงเกินกว่าราคาตลาดมาก ๆ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณราคาที่บิดเบือน ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวเกินพอดีเกินศักยภาพและเบียดบังพื้นที่เพาะปลูกพืชผลประเภทอื่น เนื่องจากสามารถขายข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากกว่า 40% (ในช่วงที่มีการรับจำนำในราคา 15,000 บาทต่อเกวียน) สิ่งนี้ทำให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรกรรม เน้นปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตเร็วแทนพืชอื่น การรับจำนำแบบคละเกรดอาจทำให้คุณภาพข้าวย่ำแย่ลงในอนาคต เกษตรกรขาดแรงจูงใจผลิตข้าวคุณภาพ
นโยบายแทรกแซงราคาหรือพยุงราคา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรับจำนำ นโยบายประกันราคาก็ตาม รัฐบาลควรนำมาใช้ระยะหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาหรือเกษตรกรเมื่อราคาพืชผลตกต่ำและผันผวนเท่านั้น การแทรกแซงราคาที่ฝืนกลไกตลาดไม่สามารถทำได้ในระยะเวลานาน ๆ เพราะจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบตลาด ระบบการผลิตและฐานะทางการคลังของรัฐบาล และไม่สามารถสร้างรายได้หรือชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาหรือเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ หลังจากที่รายได้เกษตรกรมีความมั่นคงด้วยการจำนำข้าวแล้ว ก็มุ่งไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มอำนาจของเกษตรกรในโครงสร้างการผลิตและโครงสร้างการตลาด
ผมมีข้อเสนอในเรื่องนโยบายภาคเกษตรดังต่อไปนี้
ข้อแรก ต้องมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานการถือครองที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดิน จัดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อเกษตรกร รวมทั้งการพลักดันให้มีการเก็บภาษีที่ดินเพื่อกระตุ้นให้นำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการผลิต
ข้อสอง ไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อ ไตรลักษณะของภาคเกษตรกรรมของไทย อันประกอบด้วย เกษตรดั้งเดิม เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ทางเลือก ในขณะที่โลกเผชิญความท้าทายทางด้านความมั่นคงอาหารและพลังงาน
ข้อสาม ใช้ เทคโนโลยี การบริหารจัดการความรู้ เพื่อ เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตร (ข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ)
ข้อสี่ เพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสวัสดิการให้ชาวนาและเกษตรกร
ข้อห้า ทะยอยลดระดับการแทรกแซงราคาลง (แต่ต้องไม่ยกเลิกทันที) โดยนำระบบประกันภัยพืชผลและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาแทนที่ ทำให้ “ไทย” เป็นศูนย์กลางของตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรของภูมิภาค
ข้อหก พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร
ข้อเจ็ด จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีภายใต้ WTO, FTA, AEC
ข้อแปด ส่งเสริมการขยายฐานในรูป Offshore Farming เกษตรพันธะสัญญาโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV
ข้อเก้า การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ ครัวของโลก รัฐควรลดบทบาทแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตรลง ลดการบิดเบือนกลไกราคา
ข้อสิบ จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรให้มากและหลากหลายและพัฒนาไทยสู่การเป็น “ครัวของโลก” และทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยของโลก
ข้อสิบเอ็ด ทำให้ ชาวนาหรือเกษตรกรทั้งหลายเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้นปล่อยสินเชื่อถึงเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง โรงสี หรือ บริษัทค้าปัจจัยการผลิตทั้งหลาย บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรให้เป็นเอกภาพและเร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร
ข้อสิบสอง นำนโยบายรับจำนำข้าวกลับมาดำเนินการจนกว่าราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นระดับหนึ่งและยกเลิกนโยบายแจกเงินให้ชาวนาเนื่องจากเป็นมาตรการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สิ้นเปลืองและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรนอกจากบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวนาในระยะสั้นมากๆ เพราะเงิน 1,000 บาทใช้ไม่เกินสามวันก็หมดแล้ว นอกจากนี้การกำหนดมาตรการแบบนี้อยู่บนฐานคิดแบบสังคมสังเคราะห์และส่งเสริมวัฒนธรรมอุปถัมภ์อันไม่ได้ทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้นในระยะยาวและยังเป็นการทำให้ประชาธิปไตยฐานรากอ่อนแอลงด้วย
นอกจากนี้เรายังต้องเตรียมตัวรับมือกับข้อตกลงการเปิดเสรีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (CEPT-ทำข้อตกลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536) และข้อตกลง ATIGA ต่อข้าวไทย เช่น การปรับลดภาษี ไทยลดภาษีศุลกากรในสินค้าข้าวให้เหลือ 0% ตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอื่น ๆ ได้จัดข้าวอยู่ในบัญชีสินค้าที่มีการอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List) จึงค่อยทยอยลดภาษี
ประเด็นเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ประเด็นเรื่องมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่เราทำข้อตกลงเอาไว้เรื่องมีผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตข้าวในประเทศไทย เราจึงต้องมีมาตรการรับมือเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมข้าวและประเทศโดยรวม .
มูลค่าการส่งออกข้าวรวม (HS 1006) ของอาเซียนที่ส่งออกไปยังตลาดโลกในปี 2551 – 2554
หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศ | 2551 | 2552 | 2553 | 2554 | สัดส่วน ปี 2551 (ร้อยละ) | สัดส่วน ปี 2554 (ร้อยละ) |
ไทย | 3,622 | 2,513 | 2,879 | 3,294 | 66.9 | 60.0 |
เวียดนาม | 1,755 | 1,601 | 1,894 | 2,041 | 32.4 | 37.2 |
กัมพูชา | 4 | 13 | 38 | 114 | 0.1 | 2.1 |
เมียนมาร์ | 20 | 25 | 10 | 31 | 0.4 | 0.6 |
สิงคโปร์ | 7 | 4 | 4 | 5 | 0.1 | 0.1 |
ลาว | 1 | 5 | 3 | 4 | 0.0 | 0.1 |
บรูไน | 1 | - | - | 2 | 0.0 | 0.0 |
อินโดนีเซีย | 1 | 2 | 1 | 1 | 0.0 | 0.0 |
ฟิลิปปินส์ | 2 | 2 | 1 | - | 0.0 | 0.0 |
มาเลเซีย | - | - | - | - | - | - |
รวม | 5,413 | 4,165 | 4,830 | 5,492 | 100.0 |
100.0 |
ที่มา : Global Trade Atlas, 2013/อัทธ์ พิศาลวานิช, ข้าวไทย ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ปริมาณการส่งออกข้าวสารในประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญของโลกในปี 2551/52 -2554/55
หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศ | 2551/52 | 2552/53 | 2553/54 | 2554/55 | สัดส่วน ปี 2551/52 (ร้อยละ) | สัดส่วน ปี 2554/55 (ร้อยละ) |
อินเดีย | 2.1 | 2.2 | 4.6 | 10.3 | 7.1 | 26.3 |
เวียดนาม | 6.0 | 6.7 | 7.0 | 7.7 | 20.4 | 19.8 |
ไทย | 8.6 | 9.0 | 10.6 | 6.8 | 29.3 | 17.5 |
ปากีสถาน | 3.2 | 4.0 | 3.4 | 3.5 | 10.9 | 9.0 |
สหรัฐอเมริกา | 3.0 | 3.9 | 3.2 | 3.3 | 10.2 | 8.5 |
บราซิล | 0.6 | 0.4 | 1.3 | 1.1 | 2.0 | 2.8 |
อุรุกวัย | 0.9 | 0.8 | 0.8 | 1.1 | 3.1 | 2.7 |
กัมพูชา | 0.8 | 0.8 | 0.9 | 0.8 | 2.7 | 2.0 |
เมียนมาร์ | 1.1 | 0.4 | 0.8 | 0.7 | 3.7 | 1.8 |
อาร์เจนตินา | 0.6 | 0.5 | 0.7 | 0.6 | 2.0 | 1.6 |
ประเทศอื่นๆ | 2.5 | 2.8 | 2.8 | 3.1 | 8.5 | 8.1 |
รวม | 29.4 | 31.6 | 36.2 | 39.0 | 100.0 |
100.0 |
ที่มา : United States Department of Agriculture (USDA), 2013/อัทธ์ พิศาลวานิช, ข้าวไทย ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เนื้อที่เพาะปลูกข้าวของโลกและประเทศในอาเซียน
ประเทศ |
เนื้อที่เพาะปลูก (ล้านไร่) |
อัตราการขยายตัว (ร้อยละ) |
สัดส่วนปี 2553/54 (ร้อยละ)
|
สัดส่วนปี 2554/55 (ร้อยละ) | |||
2552/53 | 2553/54 | 2554/55 | 2553/54 | 2554/55 | |||
อินโดนีเซีย | 75.6 | 75.5 | 76.0 | -0.1 | 0.7 | 7.7 | 7.6 |
เวียดนาม | 46.5 | 47.6 | 48.4 | 2.3 | 1.7 | 4.8 | 4.9 |
ไทย | 68.4 | 66.7 | 68.8 | -2.5 | 3.1 | 6.8 | 6.9 |
เมียนมาร์ | 43.8 | 43.8 | 40.6 | -0.1 | -7.1 | 4.4 | 4.1 |
ฟิลิปปินส์ | 27.6 | 28.3 | 28.6 | 2.6 | 1.1 | 2.9 | 2.9 |
กัมพูชา | 16.8 | 17.4 | 17.3 | 3.4 | -0.4 | 1.8 | 1.7 |
ลาว | 5.6 | 5.4 | 5.1 | -2.9 | -5.7 | 0.5 | 0.5 |
มาเลเซีย | 4.2 | 4.2 | 4.3 | -0.3 | 1.5 | 0.4 | 0.4 |
รวม | 288.5 | 288.8 | 289.1 | 0.1 | 0.1 | 29.3 | 29.1 |
โลก | n/a | 985.0 | 993.8 | - | 0.9 | 100.0 | 100.0 |
ที่มา : United States Department of Agriculture (USDA), Foreign Agriculture Service, 2013
การวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อตัน ผลผลิตต่อไร่ รายได้ต่อตัน และกำไรสุทธิต่อไร่ของไทยในอาเซียน พ.ศ. 2555
รายการ | ปีการผลิต 2555 | เปรียบเทียบส่วนต่าง | |||
เวียดนาม | ไทย | เมียนมาร์ | ไทยกับเวียดนาม |
ไทยกับ เมียนมาร์ |
|
ต้นทุนค่าใช้จ่าย (บาท/ตัน) | 4,070 .76 | 9,763.40 | 4,644.50 | 5,692.64 | 5,118.90 |
ผลผลิต (กก./ไร่) | 900 | 450 | 420 | -450 | 30 |
รายได้ (บาท/ตัน) | 7,251.50 | 11,319.37 | 9,605.86 | 4,067.87 | 1,713.51 |
เงินเหลือ (บาท/ตัน) | 3,180.74 | 1,555.97 | 4,961.36 | -1,624.77 | -3,405.39 |
ที่มา : เวียดนามอ้างอิงจาก Angiang Plant Protection Joint – Stock Company, Vietnam เมียนมาร์อ้างอิงจาก South – East Asian agri benchmark Rice Network, Thailand (March 19-22, 2013) และของไทยอ้างอิงจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ภาพประกอบ:www.publicpostonline.com