จีดีพีเกษตรติดลบมากสุดรอบ 36 ปี ‘ดร.อนุสรณ์’ แนะรัฐแทรกแซงตลาดทุกมิติ
ผลพวงภัยแล้งคาดทำจีดีพีเกษตรทั้งปีติดลบ 3.3-3.4% มากที่สุดในรอบ 36 ปี นักวิชาการ ม.รังสิต แนะรัฐเร่งมาตรการช่วยเหลือทุกมิติ เข้าแทรกแซงสถานการณ์เต็มที่ ยกกรณีข้าวหนุนจำนำดีกว่าเเจกเงิน เเต่ต้องทบทวนจุดอ่อนในอดีต
ภายหลังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยผลสำรวจผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคเกษตร ช่วงครึ่งปีแรก 2558 (ม.ค.-มิ.ย.2558) ติดลบ 4.2% จากช่วงเดียวกัน และคาดว่าจากปัญหาภัยแล้งที่ยังมีอิทธิพลยาวไปถึงช่วงกลางปี 2559 จะทำให้ทั้งปีติดลบ 3.3-3.4% หรือติดลบมากที่สุดในรอบ 36 ปี นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูลการเกษตรของประเทศ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงภาวะจีดีพีภาคเกษตรติดลบว่า ภาคเกษตรกรรมของไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ค่อนข้างชัดเจน นอกจากการเจอกับภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ยังประสบกับภัยแล้งที่รุนแรงด้วย ฉะนั้นไม่แปลกใจที่จีดีพีภาคเกษตรหดตัวในรอบ 36 ปี ทำให้มาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรต้องดำเนินการในทุกมิติ โดยรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์อย่างเต็มที่ เพราะการปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยลบ เกษตรกรจะไม่สามารถรองรับปัญหาได้ เนื่องจากมีสถานะด้อยโอกาสอยู่แล้ว ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และอำนาจต่อรอง
การให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงนั้น คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ยกกรณีมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรและการรับจำนำข้าวว่า เป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นวิธีการแก้ปัญหาราคาตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรและราคาข้าวได้รวดเร็วที่สุด เป็นนโยบายควรนำกลับมาใช้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ ซึ่งดีกว่าใช้วิธีแจกเงินให้เกษตรกรต่อไร่
“นโยบายรับจำนำข้าวย่อมดีกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าการแก้ปัญหาด้วยการแจกเงินต่อไร่ให้เกษตรกร การรับจำนำ รัฐบาลยังมีสต๊อกข้าว อย่างไรก็ตาม แผนการรับจำนำครั้งใหม่ต้องทบทวนจุดอ่อนในอดีต เช่น ไม่รับจำนำในราคาสูงเกินราคาตลาดมากเกินไป ไม่รับจำนำทุกเมล็ด แยกรับจำนำข้าวในราคาตามระดับคุณภาพ ตรวจสอบขั้นตอนการรับจำนำให้โปร่งใสและลดการรั่วไหลทุจริต เป็นต้น”
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ต้องบริหารจัดการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้ได้สภาพคล่องมาชำระหนี้ชาวนาและทำให้เกิดภาระทางการคลังให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจต่อระบบสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้หรือชำระเงินให้ชาวนาที่ถือใบประทวน โดยสถาบันการเงินสามารถนำใบประทวนซึ่งเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันมารับเงินจากรัฐบาลได้ต่อไป
"รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการศึกษาทบทวนปัญหาและข้อผิดพลาดจากนโยบายรับจำนำข้าวเพื่อนำมาสู่การพิจารณาว่า จะปรับปรุงนโยบายรับจำนำข้าวอย่างไรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้หลุดพ้นจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ"
ทั้งนี้ หากภาคเกษตรหดตัวมากจนกระทบความเป็นอยู่เกษตรกร ทำให้เกิดหนี้สินและที่ดินหลุดมือ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า แม้ไม่เจอวิกฤตขณะนี้ภาวะที่ดินหลุดมือก็มีมากอยู่แล้ว โดยในแง่ชาวนาไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และที่ดินภาคเกษตรจำนวนหนึ่งถูกเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม ถ้าจะมองยุทธศาสตร์ของประเทศให้สมดุล ต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ด้วยการวางระบบมากกว่านี้
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรไม่มีเฉพาะที่ดินหลุดมือ แต่ยังรวมถึงแรงงานภาคเกษตรลดลงด้วย เพราะลูกหลานไม่อยากเป็นเกษตรกร เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอน จนไม่สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทำให้ลูกหลานเกษตรกรไม่อยากเป็นเกษตรกร และแรงงานภาคเกษตรขณะนี้เป็นแรงงานข้ามชาติรับจ้างมากขึ้นเป็นลำดับ” ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ-เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น