‘ดร.สมเกียรติ’ ยันสื่อยึดหลักวิชาชีพ ห้ามวิจารณ์ คสช.ไม่ได้
'สุภิญญา กลางณรงค์' เผยวารสารศาสตร์กับความมั่นคงไปด้วยกันได้ เเต่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัด วอนเลิกนำจรรยาบรรณปนกับ กม. ด้านปธ.สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ชี้ปัจจุบันสื่อไทยไร้สามัคคี ต่างคนต่างมีจุดยืน ผลประโยชน์ ยังไม่พบสื่อบันเทิง สิ่งพิมพ์มีปัญหา
วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 คณะทำงานจริยธรรม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเสวนา ‘3/97/103/37 วารสารศาสตร์ภายใต้กฎหมายความมั่นคง’ ณ ห้องคอนเวนชันฮอลล์ 1 อาคารศูนย์การเรียนรู้ (อาคาร D) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ตอนรัฐประหารใหม่ ๆ มีความไม่เข้าใจและหวาดระแวง ซึ่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ทำให้ค่อนข้างล่วงเกินวิธีการทำงานของสื่อมวลชนมาก
ยกตัวอย่าง ข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใด รวมทั้งบรรณาธิการ พิธีกร สื่อมวลชน และเจ้าของกิจการสิ่งพิมพ์ รายการวิทยุโทรทัศน์ และรายการวิทยุกระจายเสียง เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการหรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสนับสนุนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
ประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตั้งคำถามว่า จะทำงานกันได้อย่างไร หนักไปมากกว่านั้น คือ การห้ามวิจารณ์ คสช. สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาแก่วงการวิชาชีพ ซึ่งได้เข้าเจรจาและนำมาสู่การประกาศ คสช.ฉบับที่ 103 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 เกี่ยวกับการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยสื่อมวลชนสามารถวิจารณ์ได้ แต่ข้อมูลต้องไม่เท็จ ซึ่งก็ยอมรับได้
เเล้วกฎหมายความมั่นคงกระทบกับการทำงานของสื่อหรือไม่ นายภัทระ ระบุว่าน่าเสียดายปัจจุบันสื่อมวลชนไม่สามัคคีกัน ต่างคนต่างมีจุดยืน มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเน้นนำเสนอข้อมูลธุรกิจ เเต่โทรทัศน์จะมีปัญหามากพอสมควร ดังเช่น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งดำเนินรายการรูปแบบมอบความรู้แก่ประชาชน ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่องบันเทิงและสื่อสิ่งพิมพ์ไม่พบปัญหา
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอาวุโส และนักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่ค้นหาความจริงภายใต้หลักจรรยาบรรณวิชาชีพ และเชื่อว่าเรามีความเป็นมืออาชีพ ดังนั้นการห้ามไม่ให้นำเสนอความจริงจึงทำไม่ได้ แม้จะมีการออกประกาศต่าง ๆ โดยเฉพาะการห้ามวิจารณ์ คสช. ทั้งที่กิจกรรมสมควรต้องวิจารณ์ ส่วนจะเป็นไปในแง่บวกหรือลบ ไม่ต้องมาบอก เพราะเป็นอาชีพของเรา
ทั้งนี้ สื่อกระแสหลักต้องมีความสามัคคียึดมั่นในหลักวิชาชีพที่ทำอยู่และยืนยันกับ คสช.ว่า เรายึดความจริงเป็นหลัก แต่หากไม่มีความสามัคคีจะเกิดความลำบาก ส่วนสื่อที่มีเป้าหมายทางการเมือง ต้องยอมรับแตะไม่ได้ เพราะมีความอิสระจริง ๆ แม้จะมีกฎหมายกำกับดูแลอยู่ก็ตาม อย่างไรก็ดี เชื่อว่าประชาชนยังคงรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อกระแสหลักอยู่
“หลักทฤษฎีกล่าวว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่สร้างประชาธิปไตย ดังนั้นถ้าจะร่วมสร้างประชาธิปไตยต้องให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพ เพราะการขาดเสรีภาพในการสื่อสารจะไม่มีวันสร้างสังคมประชาธิปไตยได้” ดร.สมเกียรติ ระบุ
ขณะที่น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา กสท.ลงมติกรณีขัดมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ทั้งหมด 8 เรื่อง โดย 4 กรณี ไม่เกี่ยวกับการเมือง และอีก 4 กรณีเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งล้วนมีเงื่อนไขลงนามในเอ็มโอยูทั้งสิ้น ได้แก่ Peace TV, 24 TV, สถานีวิทยุชุมพร ซิตี้ และช่อง 13 สยามไท ดังนั้นหากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสถูกลงมติกรณีนำเสนอข่าวกลุ่มดาวดินไม่เหมาะสมมีความผิดจริงตามมาตราดังกล่าว จะกลายเป็นฟรีทีวีช่องแรกทันที
“สถานการณ์ขณะนี้ทุกคนมักนำเรื่องจรรยาบรรณมาปนกับกฎหมาย ทั้งที่อำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามมาตรา 37 ต้องตัดสินสิ่งที่ขัดหลักกฎหมายเท่านั้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป แต่กรณีขัดหลักจรรยาบรรณ ดังเช่น การนำเสนอไม่เป็นกลาง ต้องให้องค์กรวิชาชีพกำกับดูแลกันเองก่อน หากนำค่านิยมมาผูกพันกับกฎหมายจะเกิดความยุ่งยาก”
กรรมการ กสท. กล่าวด้วยว่า วารสารศาสตร์กับความมั่นคงไปด้วยกันได้ หากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจน แต่วารสารศาสตร์กับอำนาจนิยมไปด้วยกันไม่ได้ เพราะวารสารศาสตร์คือการตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นปากเสียงกับประชาชน ซึ่งไม่ควรห้ามวิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่ขณะนี้เมื่อเถียงกันมักอ้างว่าอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ฉะนั้นต้องพยายามถ่วงดุลกลับมา .