ศาลฎีกาฯนัดไต่สวนคดี‘หมอเลี้ยบ’ผิดต่อ ตน.หน้าที่ 8 ต.ค.นี้-‘อุบลรัตน์’เจ้าของสำนวน
องค์คณะผู้พิพากษาโหวตลับให้ “อุบลรัตน์” ปธ.สิ่งแวดล้อมศาลฎีกาเป็นเจ้าของสำนวน คดี ‘หมอเลี้ยบ’ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ นัดไต่สวนครั้งแรก 8 ต.ค.58
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 58 ศาลฎีกาได้ประกาศ ข่าวศาลฏีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผ่านทางเว็บไซต์www.supremecourt.or.th โดยมีเนื้อหาว่า
ด้วยวันนี้เวลา 09.00น. องค์คณะผู้พิพากษาได้มีการประชุมเพื่อเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ในคดีหมายเลขดำที่ อม.39/2558 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จำเลย เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 โดยวิธีลงคะแนนลับ ผลการลงคะแนนปรากฏว่า นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา ได้รับเลือกให้เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และองค์คณะผู้พิพากษา ได้ประชุมปรึกษาคดีแล้วเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม มาตรา9 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และคำฟ้องถูกต้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ8 จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง นัดพิจารณาครั้งแรก วันที่8 ต.ค. 58 เวลา 09.30 น.
อย่างไรก็ตาม คำแถลงข่าวของศาลฎีกาฯ มิได้ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาของ น.พ.สุรพงษ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ นพ.สุรพงษ์ ถูกกล่าวหาและ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าแต่งตั้งกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยโดยมิชอบ
และ 17 ก.ค.56 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิด นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากกรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือใน บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมิชอบ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ที่ประชุมมีมติให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และได้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง