วิกฤติภัยแล้ง: น้ำ ดิน อากาศ และการรับมือ
“ก่อนหน้านี้สำนักงานอุทกศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ ได้มีการประกาศออกมาเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่ามีโอกาสมากถึง 90% ที่จะเกิดเอลนินโญ่ในปีนี้และจะมีต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหรือกลางปี2016 หรือ พ.ศ.2559 โดยเอลนินโญ่ทำให้เกิดฝนแล้งในทวีปเอเชีย นี่จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราต้องพัฒนาด้านการพยากรณ์อากาศ”
จากภาวะวิกฤติภัยแล้งที่กินระยะเวลายาวนาน บวกกับนิสัยที่เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทำให้ประเทศไทยในวันนี้เข้าสู่ภาวะน้ำวิกฤติการเกษตรไม่พอใช้ น้ำอุปโภคบริโภคกำลังจะขาดแคลน ถนนในพื้นที่ริมคลองเกิดการทรุดตัวเป็นรายวัน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีวิกฤติภัยแล้ง: น้ำ ดิน อากาศ และการรับมือ ณ ห้องประชุม 1 สกว. ชั้น 15 เพื่อรายงานสถานการณ์ นำเสนอแนวทางแก้ปัญหา และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงการเตรียมพร้อมในระยะยาวสำหรับอนาคตบนฐานการบูรณาการองค์ความรู้จากนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ ที่รับทุนสนับสนุนจาก สกว.
เริ่มจากดร.ดุษฎี ศุขวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายถึงสถานการณ์ฝน ว่า โดยปกติการพยากรณ์ลมฝนที่เป็นรายวันก็มีความยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และการพยากรณ์ล่วงหน้าเป็นเดือน ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ดังนั้นการพยากรณ์ที่ผ่านมาจะเป็นการหาเปอร์เซ็นต์และค่าความผิดปกติ และขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่จะวิจัยบนพื้นฐานของการวิจัยนั้น ทั้งนี้ในเรื่องของการพยากรณ์รายฤดูที่ใช้ มี 3 แบบ คือ
1.การพยากรณ์ด้วยแบบจำลองภูมิอากาศ มีการใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ในการคาดหมายการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆทั้งบรรยากาศ ดิน และน้ำ เป็นวิธีการคาดหมายที่เชื่อถือได้ดี แต่การพยากรณ์ทั้งโลกอาจจะไม่ครอบคลุมเท่ารายวัน ซึ่งในภาพรวมของโลกไม่สามารถมาเจาะจงได้ว่า ประเทศไทยมีฤดูแบบไหน ปัญหาสำคัญของประเทศเราคือ วิธีการนี้ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถภาพสูงและมีซอฟแวร์ที่ซับซ้อน เหมือนในต่างประเทศอย่าง ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการ ทำได้แค่เพียงพยากรณ์อากาศแบบรายวัน
2.การพยากรณ์ทางสถิติ เป็นวิธีการทางสถิติโดยการดูข้อมูลสภาพอากาศตั้งแต่อดีตและปัจจุบันกับอนาคต ซึ่งวิธีการนี้เป็นการทำที่ง่ายสามารถเชื่อถือได้ในบางครั้ง เนื่องจากความถูกต้องในการคาดหมายแปรผันได้มากในแต่ละปี เช่น ในประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่ใช้วิธีแบบจำลองนี้
3.การพยากรณ์แบบผสมผสาน เป็นการนำข้อดีของการพยากรณ์ด้วยแบบจำลองและการพยากรณ์เชิงสถิติมาประยุกต์ร่วมกัน ใช้ผลการพยากรณ์จากจำลองภูมิอากาศ มาลดมาตราส่วนโดยใช้วิธีทางสถิติ เพื่อพยากรณ์แบบเจาะจงพื้นที่
ดร.ดุษฎี บอกว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่มีฮาดแวร์และซอฟแวร์ที่ดีกว่ากรมอุตุฯ จากปัญหาเหล่านี้ทาง สกว.จึงได้มีการสนับสนุน ด้วยการมองถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อมรสุมของเอเชียอาคเนย์ การแปรผันรายปีของมรสุมฤดูร้อนของเอเชียใต้และผลกระทบต่อการผิดปกติของภูมิอากาศในจีนและไทย รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมการพยากรณ์ฝนรายฤดูสำหรับประเทศไทย และในปัจจุบันการพยากรณ์เรื่องของเอลนินโญ่มีความถูกต้องมากขึ้น
“ก่อนหน้านี้สำนักงานด้านอุทกศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ ได้มีการประกาศออกมาเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า มีโอกาสมากถึง 90% ที่จะเกิดเอลนินโญ่ในปีนี้และจะมีต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหรือกลางปี2016 หรือ พ.ศ.2559 โดยเอลนินโญ่ทำให้เกิดฝนแล้งในทวีปเอเชีย นี่จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราต้องพัฒนาด้านการพยากรณ์อากาศ”
ในปัจจุบันนี้การพยากรณ์เอลนิลโญ่โดยกรมอุตุฯของอเมริกามีความชัดเจนมากขึ้น โดยปรากฎการณ์เอลนินโญ่ปีนี้จะมีความรุนแรงเหมือนในหลายๆ โมเดลที่มีการคาดการณ์ไว้ และอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ดร.ดุษฏี บอกว่า การพยากรณ์ฝนรายฤดูยังต้องมีการพัฒนา โดยเฉพาะการพยากรณ์ในพื้นที่เจาะจง เพราะตอนนี้ยังไม่มีการพยากรณ์ล่วงหน้าเกิน 9 เดือน และคาดว่าในปีนี้ฝนของประเทศไทยจะน้อยกว่าปกติ
ขณะที่รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปี 2556 เป็นต้นมาปริมาณน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ย จึงมีผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อน น้ำในวันที่ 1 พ.ย.จะเป็นตัวบอกว่าจะปลูกนาปรังเมื่อไหร่ และในวันที่ 1 ม.ค.จะดูว่าควรจะกักน้ำอย่างไร
"โดยปกติแล้ว พ.ค. มิ.ย. และ ก.ค.จะเป็นฝนแรกจากการที่ฝนทิ้งช่วง และในเดือนส.ค. และก.ย.จะเกิดพายุ ในกฎกติกาที่เปลี่ยนไปในปี 2554 คือในเดือน พ.ค. มีการกดน้ำลง 50% ช่วงต้นไม่ปล่อยน้ำมาก ด้วยการเพิ่มน้ำในเดือน ก.ค. และในปี 2557 น้ำเข้ามาน้อย 2558 ยิ่งน้อยเข้าไปอีก ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดน้ำท่วมทำให้เกิดความระมัดระวังในการเก็บกักน้ำในเดือน พ.ค. มากขึ้น"
รศ.ดร.สุจริต กล่าวต่อว่า ช่วงหลังฝนตกน้อยลงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย และในเดือน พ.ค.ยังมีน้ำไม่ถึงเกณฑ์ แนวโน้มเริ่มเกิดขึ้นหลังจากปี 2554 ผลกระทบจากการควบคุมเขื่อน การทำนาปรังมีผลกระทบอย่างมาก คาดว่าวันที่ 1 พ.ค.นี้ฝนจะตก เราได้ปล่อยน้ำไปดูแลชลประทานประมาณ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตรทำให้เราต้องปล่อยน้ำให้กับชาวนา ฝนที่ตกน้อยต่อเนื่องมา 3 ปี จึงมีผลทำให้แล้งจนมาถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดจากนี้ไป คือ เรื่องเอลนินโญ่
"จากแนวโน้มดังกล่าวฝนน่าจะตก 1 ส.ค.เป็นอย่างต่ำ และตกไม่เกิน 2 เดือน รวมๆแล้วฝนตกประมาณ 100 วัน ระยะเวลาเท่านี้ชาวนาควรปลูกข้าวในระยะสั้น ถ้าวันที่ 1 พ.ย. เรามีน้ำ 6 พันล้านลูกบาศก์เมตรจะมีน้ำให้เราใช้ เพราะปัจจุบันเราใช้น้ำประปาประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร"
นักวิชาการ จากจุฬาฯ กล่าวเพิ่มว่า ฝนที่จะตกในช่วงนี้ไปเป็นฝนที่มีมาจากประเทศอินเดียและลมตะวันออกเฉียงใต้ และจะมาจากอินโดจีน คาดว่าไม่เกิน 2 ลูกนี้ และปีนี้น้ำไม่ท่วมอย่างแน่นอน พร้อมกับคาดหวังอย่างมากว่า ภัยแล้งปีนี้จะอยู่ไม่นาน จากนี้ไปต้องช่วยกันประหยัดน้ำประปา รวมถึงการเตรียมแหล่งกักเก็บน้ำเฉพาะหน้า
นอกจากนี้ในระยะ 1- 2 เดือน มีการคาดการไว้ว่า ถ้าอีก 2 เดือนฝนตก เดือนหนึ่งได้น้ำปริมาณ 300-400 มิลลิลิตร(มล.) ถ้าได้มากกว่า 400 มิลลิลิตร(มล.) ก็สบายใจ แต่ถ้าได้ต่ำกว่า 200 มล. ก็ทำได้แค่ประคอง !!
“สิ่งที่สำคัญสำหรับงานวิจัยคือการสำรวจน้ำ การจะใช้น้ำในแต่ละชุมชนจะต้องแบ่งใช้กันอย่างไรอีก 2 ปี ปัญหาที่เราคิดต่อคือ การแล้งไม่ได้แล้งในปีเดียว มีแนวโน้มที่จะแล้งอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้แล้งกลางหรือจะแล้งมาก เพราะว่าดินแห้งเยอะ จากอดีตเราเคยแล้ง 3 ปีต่อเนื่อง แต่เมื่อ10 ปีที่ผ่านมาฝนตกเยอะ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะแล้งมาก เป็นเรื่องไม่แน่นอน ฉะนั้นต้องเตือนตัวเองตั้งแต่นี้ไป แนวโน้มระยะสั้นที่รัฐบาลกำลังทำ อยากเสนอว่า ให้จัดทำบัญชีน้ำ เพื่อจะได้รู้ว่าควรจะใช้น้ำแค่ไหนในพื้นที่ตัวเอง”
ทั้งนี้ ดร.สุจริต ยังเสนอแนวทางในการปฏิรูป ว่า
1. ต้องมีกฎหมายแม่บทเรื่องน้ำของประเทศ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 7 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถบรรจุภาพรวมการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในทุกมิติ เชื่อมโยงกับในระดับลุ่มน้ำ และมอบอำนาจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหาร
2. ต้องเป็นกฎหมายเชิงรุก เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ และใช้เครื่องมือจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ใช้ที่หลากหลาย นำไปสู่การสร้างสังคมให้มีความสุข
3. การทำกฎหมายหรือนโยบายควรอาศัยงานทดลองจากฐานวิจัย ประสบการณ์จากพื้นที่จริง กระบวนการทดลองทางสังคม
4.การจัดตั้งคณะกรรมการขนาดเล็กในระดับลุ่มน้ำ เพื่อกระจายอำนาจในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม และยังรวมไปถึงการบูรณาการแผนที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนคุณภาพสิ่งแวดล้อม
5. การจัดตั้งสำนักยุทธศาสตร์ในการประสานการทำงานระหว่างกระทรวง และใช้กลไกระหว่างจังหวัดในการทำงานแนวราบ ซึ่งควรมีกลไกการมีส่วนร่วมในระดับต่างๆตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
รศ.ดร.สุจริต ย้ำตอนท้ายด้วยว่า การปฏิรูปควรทำให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อการตอบสนองของทรัพยากรต่อการเติบโตของประเทศ การปรับโครงสร้างการใช้น้ำให้เหมาะสมกับความต้องการและสภาพความแปรปรวน รวมถึงการแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ มีกฎหมายและหน่วยงาน กติการองรับ
ด้านผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวว่า ปกติเมื่อเกิดปัญหา ชาวบ้านเป็นผู้รับผลกระทบของปัญหา ชาวบ้านไม่ค่อยมีโอกาสร่วมตัดสินใจทั้งๆที่เป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงได้เชิญชวนชาวบ้านให้เกิดการสนใจ และวิธีการสร้างปัญญาให้กับท้องถิ่น ไม่ใช่ให้ชาวบ้านรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว กระบวนการที่สำคัญคือ ต้องสร้างสำนึกให้ตระหนัก ถ้าไม่ตระหนักก็ยากที่จะขับเคลื่อน
ผศ.ดร.บัญชร กล่าวถึงการสำรวจทุนเรื่องแหล่งน้ำเป็นสิ่งที่ชาวบ้านยังต้องเผชิญ บางพื้นที่น้ำไม่พออาบก็ได้อาบน้ำที่ไร่ ก่อนเข้าบ้าน ซึ่งถ้าน้ำขาดแคลนก็ต้องมีการสำรวจแหล่งน้ำ เช่น น้ำบนดิน ใต้ดิน น้ำฝน สิ่งที่ทำตามมาคือ เรื่องของการออกแบบการจัดการ เช่น ในเรื่องของการปลูกพืช จะใช้พืชชนิดไหนในน้ำแบบนี้ ประเภทพืชที่เหมาะกับการบริการน้ำที่มี ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันแต่
"ถ้าปล่อยให้ชาวบ้านคิดเองฝ่ายเดียว ชาวบ้านคงดิ้นรนไม่ออก เพราะปากท้องก็ต้องกิน เงินทองยังต้องใช้ เราจึงต้องหาระบบการหนุน" เพื่อให้ชาวบ้านหาทางเลือกรวมถึงคนภายนอกเข้าไปเสริม จะก่อให้เกิดการยกระดับในอีกหลายๆเรื่อง ในด้านของระบบการจัดการน้ำมีอีกหลายแบบ นอกจากระบบการจัดการที่ตัวน้ำยังสามารถเพิ่มการใช้ภูมิปัญญาเดิมบางส่วนใช้ภูมิปัญญาใหม่เข้าไปจัดการ นอกจากนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ใช้งบจาก อบต. เข้าไปขุด ลอก คู คลอง บาดาล
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เห็นว่า การจัดการน้ำไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวน้ำ เพราะเมื่อมีปัญหาน้ำ จะคิดถึงต้นน้ำ ไม่เหมือนทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะชาวบ้านเห็นถึงชีวิตน้ำกับชีวิตคน ถ้าเห็นชีวิตน้ำกับชีวิตคนเมื่อไหร่ วิธีการจัดการเรื่องน้ำด้วยความคิดว่า สิ่งมีชีวิตต้องเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ได้จัดการน้ำอย่างเป็นทรัพย์ แต่ระบบแบบนี้กลับไม่ค่อยเกิดขึ้น
"การรณรงค์เพื่อให้คนเกิดจิตสำนึก เป็นการรณรงค์เพียงชั่วคราว และไม่เคยทำกันอย่างจริงจัง และเข้าถึงรากเหง้าของชีวิต อยากให้คิดถึงชีวิตคนกับชีวิตน้ำให้ชัดขึ้น
นอกจากนี้ ผศ.ดร.บัญชร ย้ำอีกว่า การจัดการเรื่องปัญหาต่างๆไม่ใช่เป็นเรื่องของชาวบ้านฝ่ายเดียว แต่ควรให้อำนาจของชุมชนท้องถิ่นจัดการเอง รวมถึงการฟังเสียงจากชาวบ้านเป็นเรื่องที่ดีต่อภาวะวิกฤตในตอนนี้ เพราะเขาเป็นคนที่เผชิญปัญหาเอง ได้มีโอกาสมาสะท้อนปัญหาและมีทางเลือกของตัวเอง โดยรัฐบาลคอยหนุน และการจัดการน้ำควรจัดการตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงลุ่มน้ำขนาดใหญ่ รัฐควรใช้โอกาสวิกฤตเหล่านี้กระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดปัญญา น้ำเป็นเรื่องของคนทุกคน กลุ่มต่างๆควรมีโอกาส และวางระบบกันให้ดี