ภาพสะท้อน "องค์กรบริหารใหม่" ดับไฟใต้
ในขณะที่มวลน้ำ (ศัพท์แสงที่กำลังนิยมช่วงอุทกภัย) จำนวนมหาศาลกำลังทะลักล้นเข้าสู่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ รวมทั้งภาคเอกชนกำลังทุ่มความสนใจทั้งหมดไปที่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ (ติดแม่น้ำเจ้าพระยา) ยังคงมีการประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาลตามกำหนดการเดิม ไม่ยอมเลื่อนเหมือนงานอื่นๆ อีกหลายงาน
การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว หรือที่เรียกกันว่า “เวิร์คชอป” มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นเจ้าภาพ มีเป้าหมายเพื่อระดมสมองจากทุกหน่วยงานเพื่อจัดตั้ง “องค์กรบริหาร” แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเน้นการบูรณาการ
ผมเองได้ไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ด้วย บอกตรงๆ ว่ารู้สึกเหมือนเป็น “พิธีกรรม” มากกว่าการ “เวิร์คชอป” ที่เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ทุกคน ทุกหน่วยได้แสดงความคิดเห็น เพราะโครงสร้าง “องค์กรบริหาร” นั้น มีการจัดทำเป็น “พิมพ์เขียว” กันมาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ก่อนประชุม
เป็นร่าง “พิมพ์เขียว” ใหม่ที่ปรับปรุงจาก “2 โมเดล” ซึ่งเคยนำเสนอในเว็บไซต์แห่งนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา (เปิด 2 โมเดลองค์กรใหม่ดับไฟใต้ บูรณาการหรือทหารยึดเรียบ!)
(ร่าง) โครงสร้างใหม่สรุปง่ายๆ ก็คือ จะมีคณะกรรมการบริหาร หรือ “บอร์ด” ใน 2 ระดับ ได้แก่ “บอร์ดระดับนโยบาย” ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน กับ “บอร์ดระดับพื้นที่” ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต. มีแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) เป็นประธาน
ขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. หน่วยงานดับไฟใต้ที่สำคัญอีกหน่วยหนึ่งซึ่งดูแลงานด้านการพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน โดยมีกฎหมายของตัวเองรองรับคือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ถูกแยกส่วนออกเป็น "ศอ.บต.ส่วนแยก" ทำงานในพื้นที่ภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพภาคที่ 4 ส่วนเลขาธิการ ศอ.บต.ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวงนั้น ให้ไปอยู่ในโครงสร้าง นชต.ข้างบน
นี่คือโครงสร้างใหม่ที่วางเอาไว้เรียบร้อย และสรุปง่ายๆ ว่า “ทหาร” ควบคุมเบ็ดเสร็จในระดับพื้นที่ผ่านกลไกของ กอ.รมน.
การประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์คชอป ที่ผมเล่าให้ฟังอยู่นี้ จึงเสมือนเป็นการประชุม “แจ้งเพื่อทราบ” เพราะนายทหารจาก กอ.รมน.ที่ขึ้นพูดบนเวทีก็ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “นโยบายของรัฐบาลกำหนดให้ กอ.รมน.เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการบูรณาการ ฉะนั้นจึงต้องเป็นหน่วยนำ จะให้หน่วยอื่น เช่น กระทรวงศึกษาฯเป็นหลักคงไม่ได้”
พูดกันตรงๆ ชัดๆ แบบนี้ ทำพิมพ์เขียวกันมาเรียบร้อยอย่างที่เห็น น้ำท่วมหนักแค่ไหนก็ยังไม่เลื่อนประชุม แสดงว่างานนี้ กอ.รมน. “เอาจริง”
ฉะนั้นเสียงค้านจากสภาที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. นำโดย นายอาซิส เบ็ญหาวัน ที่ออกโรงกันเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน และเตรียมเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาลในวันพุธที่ 19 ต.ค. คงไม่อาจหยุดยั้งอะไรได้อีกแล้ว แม้จะมีเสียงขู่ให้ได้ยินว่าหากรัฐบาลไม่ยอมฟัง จะพากำนันผู้ใหญ่บ้านไปร่วมกดดัน และหากถึงที่สุดก็จะยื่นคำขาดลาออกจากสภาที่ปรึกษาฯแบบยกชุดก็ตาม
ดีไม่ดีจะกลายเป็นการลาออกเพื่อล้างไพ่ เปิดทางให้เลือกสภาที่ปรึกษาฯกันใหม่รับเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ที่ชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เสียด้วยซ้ำ
จะว่าไปผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างใหม่ที่ กอ.รมน.ออกแบบมานี้เท่าใดนัก แม้จะได้ยินได้ฟัง “พี่ๆ ทหาร” ยืนกรานถึงความจำเป็นของการมี “เอกภาพการบังคับบัญชา” ประเภท “ต้องสั่งคนเดียว” (โดยนัยหมายถึงคนสั่งต้องเป็นทหารด้วยหรือเปล่า?) เพราะปัญหาด้านความมั่นคงและการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นภารกิจด่วนที่สุด ต้องทำให้สำเร็จเสียก่อนจึงจะบุกเบิกงานด้านอื่นได้สะดวก เช่น งานพัฒนา ฯลฯ
แต่ผมคิดว่านั่นเป็นเหตุผลที่ค่อนข้างเชย และสังคมไทยได้ผ่านการถกเถียงกระทั่งก้าวข้ามเหตุผลพวกนี้มาหมดแล้ว จนนำมาสู่ยุทธศาสตร์หลักที่ใช้ยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร” ที่ไม่มีใครโต้แย้งอีกต่อไป
เรื่องตลกร้ายก็คือ โครงสร้างที่ให้ “ทหารคุมเบ็ดเสร็จ” นี้ ก็ยังอ้างยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร” อยู่อีก
และแม้จะไม่มีผลใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ผมขอบันทึกข้อสังเกตส่วนตัวซึ่งกลั่นกรองจากความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่ายที่ได้ยินได้ฟังมา สรุปไว้เป็นข้อๆ เพื่อเป็น “ภาพสะท้อน” ของโครงสร้างองค์กรบริหารใหม่ดับไฟใต้ ณ ปี 2554 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนี้
1.สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลชุดนี้ แท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีนโยบายดับไฟใต้เตรียมเอาไว้เลยก่อนเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร เพราะเมื่อเข้ามาก็เชื่อทหารและ กอ.รมน.ว่าต้องใช้โครงสร้างดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความไร้เอกภาพและการบริหารงบประมาณทันที ทั้งๆ ที่ปัญหาเหล่านั้นได้แก้ไขไปในระดับหนึ่งแล้ว จนนำมาสู่โครงสร้างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ กอ.รมน.รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ศอ.บต.รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและการอำนวยความยุติธรรม โดยทั้งสองหน่วยมีกฎหมายรองรับเหมือนกัน เป็นหน่วยงานระดับเดียวกัน เพื่อถ่วงดุลและหนุนเสริมกันและกัน
2.การเปลี่ยนโครงสร้างในลักษณะย้อนหลังกลับไปเหมือนโครงสร้างช่วงก่อนปี พ.ศ.2549 (มีกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กอ.สสส.จชต. ซึ่งมีกองอำนวยการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กสชต.มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คุมระดับนโยบาย เหมือนโครงสร้างปัจจุบันเป๊ะ) นับเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าโครงสร้างนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จ เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงปี 2548-2549 ค่อนข้างรุนแรง และปัญหาภาคใต้ก็กลายเป็นเหตุผลหนึ่งของการทำรัฐประหาร
3.ไม่ปรากฏว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยสมัยที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล (ธ.ค.2551 ถึง มิ.ย.2554) เสนอโครงสร้างลักษณะนี้ (ให้ทหารคุมเบ็ดเสร็จในระดับพื้นที่) โดยเฉพาะในห้วงที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. กระทั่งกฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2553 แต่กลับเห็นด้วยไปในแนวทางที่ให้มีกฎหมายรองรับ ศอ.บต.อย่างเป็นรูปธรรรม ส่วนที่เห็นต่างมีเพียงเรื่องจำนวนจังหวัดที่ ศอ.บต.ต้องรับผิดชอบ ว่าควรมี 5 จังหวัดหรือ 3 จังหวัดรวม 4 อำเภอของ จ.สงขลาเท่านั้น
4.แสดงให้เห็นว่านโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเรื่องการกระจายอำนาจและจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นแค่เทคนิคการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้คิดจะนำมาผลักดันให้เกิดขึ้นจริงเมื่อเป็นรัฐบาล
5.จากการเข้าร่วมรับฟังเวิร์คชอป และจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายต่างๆ ค่อนข้างชัดเจนว่าการปรับโครงสร้างเที่ยวนี้มุ่งเน้นไปที่การบริหารงบประมาณเป็นหลัก โดยเฉพาะงบของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ นอกเหนือจากกองทัพ กอ.รมน. และ ศอ.บต. ซึ่งมีการให้ข้อมูล (จากฝ่ายทหาร) ว่าไม่ค่อยลงไปถึงพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งๆ ที่เป็นเม็ดเงินส่วนใหญ่ของงบประมาณในแต่ละปี คือราวๆ กว่า 1 หมื่นล้านบาท
6.ความพยายามย่อยองค์กร ศอ.บต.เป็น ศอ.บต.ส่วนแยก เพื่อเข้ามาอยู่ใต้โครงสร้าง กบชต.ที่มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานนั้น เหตุผลหลักคือการแก้ไขปัญหาการบังคับบัญชา เนื่องจากเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นข้าราชการพลเรือนระดับ 11 (ตามกฎหมาย ศอ.บต.) ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 เทียบเท่าระดับ 10 หากจะให้เลขาธิการ ศอ.บต.มาอยู่ในโครงสร้าง กบชต.ย่อมลักลั่น และแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่อาจบังคับบัญชาได้
7.จากข้อ 5 และ 6 สะท้อนให้เห็นว่าการเวิร์คชอปและนโยบายบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล มุ่งเน้นการจัดการปัญหาของหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง โดยเฉพาะการจัดการเรื่องงบประมาณ มากกว่าที่จะมุ่งไปยังความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งผมเห็นด้วยว่าภาครัฐควรแก้ไขอุปสรรคปัญหาที่ส่งผลทำให้การบริหารงานติดๆ ขัดๆ เช่นนี้ แต่ไม่ควรยกขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นต้องประชุมเวิร์คชอปในระดับชาติ เพราะภาพที่ออกมากลายเป็นว่าเกิดปัญหาความไม่สงบมาเกือบ 8 ปีแล้ว แต่หน่วยงานรัฐยังจัดทัพกันไม่เสร็จเลย ถือเป็นการลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายรัฐเองไปโดยปริยาย
8.จากการศึกษาข้อมูลของผมเอง คิดว่าปฏิบัติการทางทหารเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเดินมาถึงทางตันแล้ว คือทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว พิจารณาจากสถิติการเกิดเหตุรุนแรงที่ทรงตัวมาตั้งแต่ปี 2551 (ใช้โครงสร้าง กอ.รมน.ควบคู่ ศอ.บต.) คือจำนวนเหตุรุนแรงไม่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้นการจะยกระดับปัญหาให้ประสบความสำเร็จในขั้นต่อไปได้ จึงต้องใช้นโยบายทางการเมืองและการอำนวยความยุติธรรม ควบคู่ไปกับนโยบายจัดการศึกษาและชำระประวัติศาสตร์ร่วมกัน (ระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่) เพื่อปลดเงื่อนไขการสร้างความคิดความเชื่อที่ทำให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ไหลไปเป็นแนวร่วมของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
ฉะนั้นการเปลี่ยนโครงสร้างกลับมาให้ทหารคุมเบ็ดเสร็จ จึงเท่ากับเป็นการ “เดินถอยหลัง” และแทบไม่มีทางเป็นไปได้ที่สถานการณ์ในพื้นที่จะดีขึ้นไปกว่านี้ หรือกลับไปสู่ภาวะสุขสงบอย่างสมบูรณ์ หากไม่ปลดเงื่อนไขทางความคิดในหมู่คนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนเสียก่อน (ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะของหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทหาร)
9.แม้ กอ.รมน.จะยืนยันว่ายังคงยึดยุทธศาสตร์หลัก (เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา) และยุทธศาสตร์รอง 6 ยุทธศาสตร์ (เสริมสร้างความเข้าใจ / พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ / ป้องกันและแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อน / การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน / การรักษาความปลอดภัย / การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน) ที่ครอบคลุมทุกมิติอยู่เช่นเดิม โดยจัดประชุมเวิร์คชอปเพื่อหาเจ้าภาพเข้าไปรับผิดชอบงานส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกันทั้งในและต่างประเทศก็ตาม ทว่าการกำหนดให้ “ทหาร” เป็นหน่วยนำย่อมเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดสู่ประชาคมโลก โดยเฉพาะองค์การการประชุมชาติอิสลาม หรือโอไอซี และองค์การสหประชาชาติ ว่าไทยยังเดินหน้าใช้ “การทหาร” แก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบ แทนที่จะใช้ “การเมือง” โดยให้ “พลเรือน” เป็นหน่วยนำ
ทั้ง 9 ข้อนี้คือ “ภาพสะท้อน” ที่ผมมองเห็นเมื่อได้ยิน ได้ฟัง และได้พิจารณา (ร่าง) องค์กรบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล สรุปก็คือใครที่ยังตั้งความหวังกับรัฐบาลชุดนี้อยู่ก็ขอให้หวังต่อไปเถิด...
แต่สำหรับผมหมดหวังแล้วครับ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-2 ภาพจากการประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาล วันอังคารที่ 18 ต.ค.2554