"ชุดโต๊ปมาเลย์" ยอดขายพุ่งรับวันรายอ
เมื่อใกล้ถึงวันฮารีรายอ ซึ่งหมายถึงวันเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอน พี่น้องมุสลิมทั้งชายและหญิงทุกวัยต่างพากันออกจับจ่ายเลือกสรรเสื้อผ้าชุดใหม่เตรียมไว้ใส่ต้อนรับวันสำคัญกันถ้วนหน้า
เหตุนี้ทำให้ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายทองรูปพรรณ และร้านรองเท้า เต็มไปด้วยลูกค้าที่มาเลือกหาข้าวของถูกใจ
ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร...ดีขึ้นหรือดิ่งลงก็ตาม...แต่เมื่อถึงวันสำคัญอย่างฮารีรายอ ทุกคนก็ทลายข้อจำกัดด้านเงินในกระเป๋าไปเสียสิ้น ทำให้คนในอาชีพค้าขายที่ปกติต้องพยุงตัวให้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด ก็ยังยิ้มได้ในเทศกาลรายอ
ทุกย่านการค้าของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคึกคักไม่แพ้กัน เช่น ย่านตลาดเก่า อำเภอเมืองยะลา แหล่งรวมร้านเสื้อผ้ามุสลิม พากันเปิดต้อนรับลูกค้ากันตลอดทั้งวัน แม้แต่ละร้านจะบอกผู้พานพบว่าขายได้เรื่อยๆ ไม่หวือหวาก็ตาม
เจ้าของร้านอาบูวะพาณิชย์ บอกว่า สินค้าของร้านเน้นของผู้ชาย ปีนี้ขายได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายพอไปได้ แต่ปีที่แล้วยอดขายดีกว่ามาก สาเหตุที่ปีนี้ยอดขายลดลง เพราะภาวะเศรษฐกิจโดยรวมถดถอย ส่งผลถึงธุรกิจเสื้อผ้า
ไม่ไกลกันนักเป็น ร้านนูนูห์ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นสินค้าระดับพรีเมียม เป็นร้านติดแอร์ ลูกค้าเดินเลือกช้อปสบายใจ ที่นี่เน้นฮิญาบแบบเรียบหรูดูดี สไตล์ของนูนูห์ ลูกค้าส่วนใหญ่เข้ามาแล้วจะมีสินค้าติดมือกลับไปทุกคน
"เปิดมา 2 ปีกว่ากับสาขายะลา ได้รับการตอบรับดีมาก ช่วงใกล้วันรายอขายดีเป็นพิเศษ ลูกค้ามากันแต่เช้า เลือกฮิญาบให้เข้ากับชุด รวมทั้งสินค้าที่สั่งตัดก็เยอะเช่นกัน โดยทางร้านจะส่งไปตัดกับทางโรงงานที่กรุงเทพฯ" ลูกจ้างร้านนูนูห์ บอกกล่าว
ปีนี้กระแสการสวมใส่ "ชุดโต๊ป" หรือเสื้อผู้ชายมุสลิมสไตล์อาหรับ เป็นชุดยาว แขนยาว มาแรงไม่แพ้ชุดอื่นๆ โดยเฉพาะแบรนด์ ERLAH ของมาเลเซียที่เข้ามามียอดขายล้นหลามที่ชายแดนใต้
แวรูฮานี กูโฮง เจ้าของร้าน Chan-tik ย่านจะบังติกอ อำเภอเมืองปัตตานี คือผู้ที่มองเห็นช่องทางธุรกิจนี้จากเฟซบุ๊คของเพื่อนที่อัพรูปเจ้าของแบรนด์ เธอเห็นว่ามีแต่คนอยากได้ชุดโต๊ปไว้ใส่ในวันรายอ รวมทั้งสามีของเธอ
"ให้น้องสาวที่อยู่ เคแอล (กัวลาลัมเปอร์) มาเลเซีย ลองหาแบรนด์นี้ดู ตอนแรกก็จะซื้อให้สามี แต่ด้วยความเป็นคนค้าขายจึงเริ่มคิดเอามาวางขายด้วย ตอนนั้นทางร้านมีแค่ 20 ชุด เลยจัดมาทั้งหมด ขายหมดภายใน 2 วัน ยอดออเดอร์ถล่มทลาย จัดมาใหม่ขาย 2 วัน 50 ชุดก็หมด ทึ่งมากกับแบรนด์นี้"
เธอเล่าต่อว่า เจ้าของแบรนด์ตกใจเมื่อเห็นน้องสาวไปรับของล็อตที่ 2 เขาถามว่าขายที่ไหน ทำไมถึงได้มาเอาอีก น้องสาวบอกว่ามีหน้าร้านที่ปัตตานี ออเดอร์เป็นร้อยชุดก็ขายหมด
"ทั้งดีใจและตกใจกับกระแสแรงมากของชุดโต๊ปแบรนด์นี้ กระแสแรงจริงๆ หนุ่มๆ บ้านเราถึงกับต้องหามาใส่ และตอบรับอย่างดีมากๆ" แวรูฮานี กล่าว
ร้านขายทองรูปพรรณ เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของพี่น้องมุสลิมในวันฮารีรายอ เพราะผู้หญิงนิยมสวมใส่ทองคำเป็นเครื่องประดับในวันรื่นเริงนี้ ยอดขายของร้านทองแต่ละร้านจึงไม่เงียบเหงา
"ปีนี้มียอดขายเรื่อยๆ พอไปได้ พอๆ กับปีที่แล้ว ไม่คึกคักมากนัก ด้วยเศรษฐกิจที่เห็นๆ กันอยู่ บางคนเอาของเก่ามาเปลี่ยนลายใหม่ บางคนก็ซื้อใหม่ หรือบางคนก็มาจำนำ มีลูกค้าหลากหลาย" เจ้าของร้านทองซังเต้ง 2 ตรงข้ามศูนย์การค้ายะลาสแควร์ ใกล้สถานีรถไฟยะลา เล่าให้ฟัง
ส่วน ร้านทองนายเล็ก ย่านตลาดเทศวิวัฒน์ อำเภอเมืองปัตตานี บอกเช่นเดียวกันว่า ปีนี้ยอดขายไม่เป็นตามเป้า ขายได้เรื่อยๆ เพราะราคายางพารา อาหารทะเล ผลไม้ ซึ่งเป็นรายได้หลักของคนในพื้นที่ถูกลง ทำให้การซื้อหาทองและสิ่งของอื่นๆ มียอดซื้อลดลงตามไปด้วย
วันรายอปีนี้...มุสลิมแทบทุกคนจะสวมใส่เสื้อผ้าแพรพรรณชุดใหม่ สะอาด และหวังว่าเด็กๆ และผู้ด้อยโอกาสจะมีหลากหลายองค์กรร่วมกันแบ่งปันจัดหาชุดรายอสำหรับพวกเขา เพื่อจะได้มีไว้สวมใส่ในวันสำคัญนี้อย่างเท่าเทียม