ชัตดาวน์ระยะสั้น กรมชลฯ วอนชาวนางดสูบน้ำ หวังประเมินปริมาณคงเหลือ
กรมชลฯ สรุปสถานการณ์น้ำภาวะแล้ง พบพื้นที่เสี่ยง 1.46 ล้านไร่ รมว.กษ.แนะแนวทางแก้ปัญหาเร่งบริหารจัดการแหล่งน้ำเกิดประโยชน์ ยก ‘สระพระราม 9’ ตัวอย่าง ยันต้องทำทุกวิธีรักษาข้าวไว้ แจงรัฐไม่แช่น้ำให้คนกรุงเทพฯ
วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) รับฟังข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำและภัยแล้งจากกรมชลประทาน ณ อาคารที่ทำการฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน สามเสน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทานรายงานสรุปสถานการณ์น้ำ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก 4.95 ล้านไร่ พื้นที่สุ่มเสี่ยง 1.46 ล้านไร่ สถานีสูบน้ำผลิตประปา 107 สถานี ใช้น้ำวันละ 5.76 ล้านลบ.ม./วัน เฉพาะน้ำท้ายเขื่อนป่าสัก 1.38 แสนลบ.ม./วัน สูบน้ำเพื่อการเกษตร 355 สถานี และมักพบปัญหาการยอมรับของเกษตรกร ซึ่งต้องทำความเข้าใจในพื้นที่ในความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีก 20 วัน
นายปีติพงศ์ กล่าวถึงการดูแลพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อสถานการณ์ภัยแล้งว่ากรมชลประทานต้องตรวจสอบให้ละเอียด เพราะการเพาะปลูกข้าวในไทยปัจจุบันแทบไม่มีนาปีหรือนาปรังแล้ว ฉะนั้นการจำแนกพื้นที่สุ่มเสี่ยงนั้นต้องมาจากสภาพข้อเท็จจริง ส่วนการแก้ไขปัญหาต้องใช้ความสามารถที่มีอยู่ในการบรรเทา ซึ่งอาจไม่ได้ผล 100% เช่น ต้องพูดคุยกับเกษตรกร หากพบมีการสูบน้ำใช้ในปริมาณมากเกินไป และต้องบริหารจัดการน้ำที่เหลือให้เกิดประโยชน์
นอกจากนี้ต้องบริหารจัดการแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ทั้งที่มีอยู่เดิมหรือสร้างขึ้นใหม่ให้เกิดประโยชน์เหมือนกับสระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนการเคลื่อนย้ายน้ำจากโครงการชลประทานหนึ่งไปสู่อีกโครงการชลประทานหนึ่งทำได้ แต่ต้องประสานงานและดูรอบเวรให้ชัดเจน
รมว.กษ. กล่าวต่อว่า สำหรับบางพื้นที่มีการใช้น้ำบาดาลต้องพยายามประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อให้เกิดการประสานงานมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้ในการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าวได้ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การแก้ปัญหาเฉพาะจุดจะไม่เกินความสามารถของกรมชลประทาน ดังนั้นต้องพยายามที่สุดเพื่อดูแลภาคเกษตรกรรมให้ได้ นอกเหนือจากการใช้น้ำในการรักษาระบบนิเวศเพื่อผลักดันน้ำเค็ม และควรประสานงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว และกรมพัฒนาที่ดิน ด้วย
“ข้าวแล้งได้อย่างมาก 7 วัน ซึ่งผมเคยบอกกรมฝนหลวงว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ 7 วันมีฝนโปรยลงมา 1 ครั้ง แต่เชื่อว่าไม่ง่าย ฉะนั้นแต่ละจังหวัดต้องพยายามดูว่าจะทำอย่างไร” นายปีติพงศ์ กล่าว และว่าวิกฤต 2 อาทิตย์นี้ รออะไรไม่ได้ ทำอะไรต้องทำเลย เราต้องรักษาข้าวไว้ให้มาก และควรเร่งชี้แจงกับสังคมไม่มีการกักน้ำให้คนกรุงเทพฯ แต่อย่างใด
สำหรับการเพาะปลูกข้าวรอบต่อไปจะดำเนินการอย่างไร รมว.กษ. ระบุได้ให้กรมชลประทานเร่งดูแล เพราะอนาคตหากเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ่อีก ต้องปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกในพื้นที่ชลประทานลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างให้น้อยลง จากเดิมปีละ 3 ครั้ง และจะดำเนินการลดน้ำเพื่อทราบปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ต่อการบริหารจัดการ 2-3 วัน เพราะมีเวลากำหนด 2 อาทิตย์ คาดว่าฝนจะตก ส่วนมาตรการอื่น ๆ ได้เฉพาะเตรียมไว้ เพราะสถานการณ์ยังไม่แน่นอน
ส่วนมาตรการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับความเสียหายมีวิธีหลายแบบ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้คิด อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องการกำหนดชัดเจนว่าใครเป็นผู้เสียหาย เพราะเราไม่ต้องการดูแลผู้ไม่ได้รับความเสียหาย ดังนั้นต้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการส่งน้ำ ปริมาณการใช้น้ำ มีบ่อน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติควบคู่ เพื่อจะได้พื้นที่สุ่มเสี่ยงที่แท้จริง
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน เปิดเผยถึงตัวเลขความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกที่ประเมินในช่วงนี้ โดยสมมุติฐานถ้าฝนไม่ตกไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมจะมีพื้นที่เพาะปลูกเสียหายประมาณ 1.46 ล้านไร่ ถ้าระยะนี้มีฝนตกโปรยปรายต่อเนื่องจำนวนความเสียหายนี้ก็จะลดลง โดยตัวเลขนี้ประเมินจากแผนการลดการจ่ายน้ำแล้ว อย่างที่รัฐมนตรีระบุว่าเรามีช่วงเวลาเสี่ยง 2 อาทิตย์ เนื่องจากคาดว่าจะมีฝนตกแน่นอนในวันที่ 1 สิงหาคม
ส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเสี่ยง รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่า ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน โดยขอให้เกษตรกรในพื้นที่หยุดใช้สถานีสูบน้ำหรือเครื่องสูบน้ำรายทาง เพื่อที่จะประเมินว่า น้ำที่ใช้การอุปโภคบริโภคแท้จริงมีจำนวนเท่าไหร่ ถึงจะมาจัดลำดับความสำคัญว่าพื้นที่ใดเสี่ยงมากก็จะต้องรีบจัดสรรน้ำไปช่วยเหลือก่อน โดยจะต้องใช้น้ำที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เฉพาะน้ำในเขื่อนเพียงอย่างเดียว แต่จะนำน้ำฝนที่ตกมาในช่วงนี้มาใช้ด้วย ดังเช่นปีที่แล้วเราใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพียงวันละ 3 ล้านลบ.ม. ที่เหลือใช้น้ำฝนเราก็อยู่ได้
“จะปรับลดการจ่ายน้ำจะเริ่มต้นวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 01.00 เป็นต้นไป ลงเหลือ 18 ล้านลบ.ม./วัน ทั้งนี้ ยืนยันมาตรการที่ทางรัฐบาลกำหนดได้คาดการณ์ไว้เตรียมพร้อมถึงปีหน้า หากพบว่าสถานการณ์ภัยแล้งยังไม่คลี่คลาย” นายไพโรจน์ ระบุ และว่า ขณะนี้คลองชัยนาท-ป่าสัก เสียหายหนักสุด เนื่องจากน้ำไม่เข้าคลอง ประกอบกับน้ำค้างท่อถูกดึงไปใช้หมดแล้ว .