นักวิชาการผังเมืองแนะเชื่อมขนส่งสาธารณะ ร.เรือ-ร.ราง คาดรถเกือบ 8 แสนคันหายไปจากท้องถนน
นักวิชาการด้านผังเมืองธรรมศาสตร์ชี้การพัฒนาเมืองแบบก้าวกระโดดส่งผลไทยทยานสู่เมืองจราจรติดขัดอับดับ1ของโลก มีมลพิษทางอากาศสูง 50% ทุกชั่วโมงมีคนตายจากอุบัติเหตุ 2 คน
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย-สสผ. (Thai Urban Designers Association - TUDA) จัดงาน “TUDA 2015” พร้อมแสดงนิทรรศการผลงานวิชาชีพจากภาคการศึกษา หน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน และภาคประชาคม ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม – 19 กรกฎาคม 2558 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ภายใต้หัวข้อ “เจ้าพระยา คลอง เมือง”
รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล อาจารย์สาขาวิชาการและผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (UDDI) กล่าวถึงการพัฒนาเมืองว่า การพัฒนาเมืองนั้นมุ่งหวังจะเห็นความงดงาม ส่วนเรื่องการพัฒนาเมืองให้มีคุณค่าคือการอนุรักษ์และการพัฒนาไปในตัว ตั้งแต่อดีตไปจนถึงปัจจุบันว่าจะมีการส่งต่อไปยังอนาคตได้อย่างไร ดังนั้นจึงอยากให้คนไทยระลึกถึงพื้นเพของตัวเอง จริงอยู่เราปฎิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยมีการพัฒนาที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และในความก้าวกระโดดนั้นบางครั้งทำให้เราหลงลืมบางอย่างที่เป็นข้อดี ที่เคยเป็นศักยภาพของประเทศไทย
"แค่ระยะเวลา 50 ปีจะเห็นได้ว่ามีการเติบโตสูงถึง 16 เท่า ถามว่าจาก 16 เท่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับวิถีชีวิตของคนไทย ปัจจุบันเห็นได้ว่าพื้นที่ที่แบ่งเป็นสัดส่วนของการเดินทางและเมืองมีการรวมกัน แต่ตัวเลขจาก 100 ส่วนเรามีพื้นที่ทำถนนเพียง 5 ส่วนเท่านั้นถ้าเทียบกับนิวยอร์ก โตเกียวแล้วมีพื้นที่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งเป็นพื้นที่สนับสนุนในเรื่องของการเดินทาง และเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ที่มีการรองรับเพียงแค่ 5 ส่วนจาก 100 ส่วน"
ดร.ภาวิณี กล่าวว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย คือ กำลังก้าวเข้าสู่อันดับหนึ่งของประเทศที่มีปัญหาของการจราจรติดขัดสูงสุดในโลก ปัญหาการติดขัดโดยการใช้ความเร็วเฉลี่ย 10 กม./ชั่วโมง มีมลพิษทางอากาศสูงถึงร้อยละ 50 ของภาคการขนส่ง มีอันตรายในชีวิตบนท้องถนนเพราะไทยเป็นอันดับสองของโลกที่มีอุบัติเหตุทางถนนมาก ขณะที่เรานั่งคุยกันมีผู้เสียชีวิต 2 คนทุกชั่วโมงจากอุบัติเหตุทางถนน ฉะนั้นจะร่วมมือกันอย่างไรในการอนุรักษ์และร่วมกันพัฒนาเมืองไปพร้อมๆกัน
"วันนี้ปฎิเสธไม่ได้สิ่งที่กำลังพัฒนาให้เมืองและประชาชนเกิดการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ในส่วนที่คุยกัน คนไทยกำลังมีปัญหาทางด้านสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ จึงเกิดคำถามว่าพื้นที่ที่มีอยู่จะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพในการเดินทาง พื้นที่ที่มีอยู่จะรองรับการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งได้อย่างไร? ในขณะที่มีรถบนถนน 7 ล้านคัน"
อาจารย์สาขาวิชาการและผังเมือง มธ. กล่าวถึงระบบราง มีการใช้พื้นที่ 84 กม. ในอนาคตอันใกล้อีก 5 ปีเราจะมีระบบรางเพิ่มขึ้นเท่าตัว มีระบบรางให้บริการ 183 กม.ในขณะที่เราใช้พัฒนาระบบทางรางซึ่งใช้งบประมาณสูงมาก และอาจจะมีการเวนคืนพื้นที่เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนาไปข้างหน้า
"ส่วนเรือที่มีอยู่จะใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าอย่างไร ในปัจจุบันเราใช้คลองในการสัญจร ระบบเครือข่ายทางบกและทางน้ำมีระบบที่เหมือนกัน มีการเชื่อมต่อในเรื่องของโครงข่ายในเรื่องของระบบหลักและระบบรอง มีระยะทางที่ให้บริการเพียงแค่ 68 กม. จากทั้งหมดที่มี 700 กม. ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันตั้งแต่ชานเมือง กลางเมือง จนถึงพื้นที่ใจกลางเมือง"
ทั้งนี้ทาง UDDI มีการหาคำตอบด้วยการศึกษาวิจัย โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกๆพื้นที่ในทุกปริมณฑลทั้งหมด 1,200 ชุด มีสมมติฐานว่าคนที่อยู่ใกล้พื้นที่จะสามารถเข้าถึงทางเดินได้และจะมีโอกาสเข้าถึงการเดินทางน้ำได้ดีกว่า ด้วยการอยากทราบว่าอะไรที่เป็นส่วนของการทำให้คนยึดติดกับการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลกลับมาใช้ระบบขนส่งมวลชนทางน้ำได้ จึงเป็นโจทย์ที่เราตั้งคำถามไว้
และคำตอบที่ได้พบว่าผู้ที่มีการใช้การขนส่งทางน้ำมีมากถึงร้อยละ 50 เพราะมีการใช้ในชีวิตประจำวันที่แตกต่างกัน และจุดประสงค์สำคัญของการใช้ คือ เรื่องของราคา และคุณภาพของการให้บริการ จึงเป็นประเด็นสำคัญในการร่วมมือในการพัฒนาว่าจะทำการเชื่อมต่อระบบการคมนาคมขนส่งในทุกรูปแบบการเดินทางให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร รวมถึงทางเดิน ทางจักรยาน และเข้าสู่สถานีได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการทำกิจกรรมรอบสถานี
"วันนี้แนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน หรือระบบ TOD กำลังจะเกิดขึ้น หากทางภาครัฐร่วมมือกับทางเอกชนและภาคประชาคมต่างๆ จะสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางได้สูงถึงร้อยละ 6.13 มลพิษที่เกิดขึ้นจะน้อยลง รถเกือบ 8 แสนคันจะหายไปจากถนนเพราะเราจะคืนพื้นที่สาธารณะที่ดีให้กับประชาชนและกทม.ได้"
ดร.ภาวิณี กล่าวด้วยว่า การจะทำให้คนเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง คงจะต้องหาคำตอบโดยการพัฒนาคุณภาพให้สามารถหาคำตอบได้ว่า จะสามารถเชื่อมระบบขนส่งสาธารณะ ระบบทางเท้า การเดินทางในรูปแบบอื่นๆ และสามารถพัฒนาเข้าสู่เมืองได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างไรถึงจะการันตีเวลาในการเดินทาง ทำให้เกิดการเข้าถึงที่สะดวกสบายและสามารถตอบวัตถุประสงค์ของผู้คนได้ และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ร.เรือและร.รางจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ อีกทั้งการกำหนดบทบาทและพัฒนาสู่ย่านที่สำคัญของเมืองกรุงเทพโดยไม่ลืมตัวตนของไทยและเป็นเวนิสของตะวันออก