75% เด็กพิเศษ จบ ม.3 ไม่ได้เรียนต่อ ไร้วิชาชีพติดตัว -นำร่องฝึก 6 วิทยาลัยสารพัดช่าง
สอศ.-สสค.-จุฬาฯ จับมือ 6 วิทยาลัยสารพัดช่าง จัดการศึกษาสายอาชีพ เพื่อการมีงานทำแก่เด็กพิเศษ เหตุ 75% จบ ม.3 โตไปไม่มีวิชาชีพเลี้ยงตัว ‘พล.ร.อ.ณรงค์’ ระบุเป็นการเปลี่ยนภาระสังคมเป็นพลังสังคม ด้าน โฆษก กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ เผยสปช.เล็งปรับจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวตามสภาพผู้เรียนจำเป็น ขยายผลเชื่อมต่อข้อมูลเด็กตั้งแต่แรกเกิด
วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2558 พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนาม "ความร่วมมือการจัดการศึกษาสายอาชีพ เพื่อการมีงานทำแก่เด็กพิเศษทางการเรียนรู้ (ออทิสติก สมาธิสั้น แอลดี)" ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยสารพัดช่าง 6 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง พระนคร สี่พระยา ธนบุรี สมุทรปราการ และเชียงใหม่ ณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
พลเรือเอกณรงค์ กล่าวว่า โครงการเกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกจะออกจากการเรียนสายสามัญในช่วงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเติบโตไปโดยไม่มีวิชาความรู้ด้านวิชาชีพ จนอาจทำให้หลายคนมองเป็นภาระของสังคม ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้กำลังจะเปลี่ยน ‘ภาระของสังคมเป็นพลังทางสังคม’ ด้วยการใช้ขีดความสามารถที่เด็ก ๆ มี ทั้งนี้ การศึกษาจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป และเชื่อมั่นว่าโครงการจะนำไปสู่การขยายผลอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพในอนาคต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
เมื่อถามว่าเด็กทั่วไปจะตอบโจทย์วิชาชีพอย่างไร รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาฯ มีหลายโครงการที่มุ่งเน้นให้เด็กปกติเรียนรู้วิชาชีพ ยกตัวอย่าง โครงการทวิศึกษา สนับสนุนให้เด็กเรียนสายสามัญมีโอกาสเรียนสายวิชาชีพควบคู่ด้วย เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะได้รับวุฒิการศึกษา 2 ใบ คือ สายสามัญ และปวช. ถึงเวลานั้นเด็กอาจเลือกเรียนต่อในระดับ ปวส.ก็ได้
ด้านดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สถาบันอาชีวศึกษามีนโยบายผลิตกำลังให้เพียงพอ โดยไม่จำกัดอายุ และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันได้จัดการศึกษาเพื่ออาชีพสำหรับเด็กพิเศษ วุฒิปวช.กว่า 600 คน และ ปวส.กว่า 300 คน ในรูปแบบเรียนรวม 227 วิทยาลัยทั่วประเทศ แต่สถาบันหลักคือ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล และวิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน นิยมเรียนในสาขาคอมพิวเตอร์ การไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์
“การจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำของเด็กพิเศษเริ่มทดลองในวิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง หลักสูตรระยะสั้น วิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้น และวิชาทำอาหาร ก่อนจะนำมาสู่ความร่วมมือของ 6 สถาบันอาชีวศึกษาครั้งนี้” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าว และว่า สถาบันอาชีวศึกษามีความมั่นใจในความสามารถของอาจารย์ในวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นช่างยนต์ คอมพิวเตอร์ แต่สิ่งที่ขาด คือ วิชาจิตวิทยา สำหรับสอนเด็กพิเศษ อย่างไรก็ตาม คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้เข้ามาร่วมมือก็ช่วยเติมเต็มความสุขอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำของเด็กพิเศษว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่ยุติการเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สูงถึง 75% โดยไม่ถูกเตรียมพร้อมในการประกอบอาชีพ การลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นโจทย์สำคัญของ สปช.
โดยขณะนี้เตรียมปรับการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวตามสภาพผู้เรียนที่มีความจำเป็น หากเป็นเด็กยากจนหรือเด็กพิเศษจะต้องมีเงินต่อหัวเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เพื่อมั่นใจว่าโรงเรียนสามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้จริง หรือการกระจายบทบาทให้มีผู้เล่นมากขึ้น เช่น กลุ่มการศึกษาทางเลือกในการเข้ามาร่วมซ้อนกลุ่มเด็กพิเศษ ตลอดจนการพัฒนาให้เกิดกลไกจังหวัดและท้องถิ่น ซึ่งถือว่าอยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด
“การส่งต่อข้อมูลเด็กเป็นสิ่งสำคัญ จึงเตรียมขยายผลการเชื่อมต่อข้อมูลเด็กตั้งแต่โรงพยาบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และท้องถิ่นไปจนถึงโรงเรียน เพื่อเป็นการส่งต่อการดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าหรือต้องดูแลเป็นพิเศษได้ทันท่วงที และมีระบบการดูแลที่ต่อเนื่อง ซึ่ง สสค.ได้นำร่องในระดับพื้นที่แล้ว หากเราค้นหาเด็กได้เร็ว คัดกรองได้เร็ว เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเด็กคนใดถูกตัดโอกาสออกไป” โฆษก กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ สปช. ระบุ .