วิกฤติภัยแล้ง ปัจจัยเสี่ยง-โอกาสที่ควรจับตามองสำหรับธุรกิจเกษตรไทย
สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถือเป็นภัยแล้งนอกฤดูกาล (ภัยแล้งช่วงหน้าฝน) เป็นผลมาจากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่ำประกอบกับภาวะฝนทิ้งช่วง เนื่องจากอิทธิพลของเอลนีโญ (El Nino) ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ข้าวนาปีซึ่งมีฤดูกาลเพาะปลูกในช่วงนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ปัจจัยเสี่ยงที่ควรจับตามอง คือ ถ้าหากฝนไม่ตกตามที่คาดการณ์ไว้ในช่วงสิงหาคมถึงกันยายน จะส่งผลให้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีความเสี่ยงที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจะปรับลดลงราว 0.4% ทั้งนี้ทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจาก El Nino เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาข้าวที่จะมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย
สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลายแห่งต่ำ ประกอบกับภาวะฝนทิ้งช่วงเนื่องจากอิทธิพลของ El Nino ที่กำลังเกิดขึ้น จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2015 ล่าสุดมีพื้นที่ประสบภัยแล้วกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ เช่น จังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก น่าน ลพบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร อำนาจเจริญ สุรินทร์ เป็นต้น เนื่องจากภัยแล้งนี้เกิดขึ้นช่วงกลางฤดูฝน คือ ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. – ก.ค. โดยรับอิทธิพลจากความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศโลก จึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่าเป็น “ภัยแล้งนอกฤดูกาล” ซึ่งภัยแล้งในลักษณะปัจจุบัน ทำให้ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติราว 46%ืและปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศค่อนข้างต่ำอยู่ที่ราว 45% ของปริมาณความจุเขื่อนทั้งประเทศ
จังหวัดในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน เป็นพื้นที่ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งในระดับที่รุนแรงมากกว่าพื้นที่ในแถบลุ่มน้ำอื่นๆ ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ท่าจีน (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) จะเหลืออยู่ราว 7.7 พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันเพียงแค่ 2% แต่ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริงเหลืออยู่เพียงแค่ 4% ของปริมาณความจุเขื่อน โดยหากใช้แผนการจัดสรรน้ำรายวันแบบเดิมที่ระบายน้ำอยู่ที่ 31-33 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะสามารถระบายน้ำได้อีกแค่เพียงราว 32 วัน (รูปที่1) เป็นผลให้กรมชลประทานปรับลดแผนการจัดสรรน้ำรายวันลง 25% จากแผนเดิม โดยปรับลดปริมาณการระบายน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตรไปราว 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อยืดระยะเวลาการระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้ถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม
ข้าวนาปีเป็นพืชที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งมากที่สุดเนื่องจากตรงกับฤดูกาลเพาะปลูก (รูปที่2) จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯและข้อมูลพื้นที่ประสบภัยแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน พบว่ามีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีราว 7 ล้านไร่ โดยปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วราว 50% และยังไม่ได้เพาะปลูกอีกราว 50% เป็นผลให้รัฐบาลประกาศให้เกษตรกรข้าวนาปีในกลุ่มที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกชะลอการปลูกข้าวนาปีออกไปจนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคมแทน เนื่องจากรัฐบาลคาดว่าปริมาณฝนจะเริ่มตกมากขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. เพื่อเป็นการลดมูลค่าความเสียหายจากการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี จากการปรับลดแผนการจัดสรรน้ำรายวันลง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ทำการเพาะปลูกไปแล้วมีความเสี่ยงที่จะเสียหายราว 8.6 แสนไร่ คิดเป็น 1.5% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ มีมูลค่าความเสี่ยงผลผลิตที่จะเกิดความเสียหายราว 3,800 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา สำหรับด้านการส่งออกข้าว อีไอซีมองว่าจะไม่รับผลกระทบจากมูลค่าความเสี่ยงที่จะเสียหายดังกล่าว เนื่องจากสต็อกข้าวของรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง
รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 3 มาตรการ ได้แก่ 1) ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปเป็นช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2) สนับสนุนให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปี 3) ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการจัดหาทุนให้กับเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนไปปลูกพืชผลเกษตรอื่นนอกจากนี้รัฐบาลยังได้อนุมัติฯ งบประมาณ 84 ล้านบาทสำหรับการขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน จำนวน 500 บ่อ คาดว่าจะสามารถช่วยพื้นที่เพาะปลูกที่ทำการเพาะปลูกไปแล้วได้ราว 1-1.3 แสนไร่ ซึ่งมีโอกาสให้มูลค่าความเสี่ยงผลผลิตที่จะเสียหายลดลงเหลือราว 3,400 ล้านบาท มาตรการที่ใช้ในปัจจุบันจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ในระยะสั้น สำหรับในระยะยาวรัฐบาลควรมีมาตรการที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหากับการเกิดภัยแล้งเป็นประจำทุกปี เช่น ผลักดันให้เกิดโครงสร้างการเพาะปลูกที่เหมาะสมโดยให้เกิดเป็นรูปธรรมในแต่ละพื้นที่ สนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้ถึงวิธีการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ ที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในแต่ละช่วงจังหวะ รวมถึงมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เป็นต้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ควรจับตามอง คือ หากชะลอการปลูกข้าวนาปีแล้วแต่ฝนกลับไม่ตกตามที่คาดการณ์ไว้ ในกรณีดังกล่าวนอกจากข้าวนาปีแล้ว พืชชนิดอื่นก็จะได้รับผลกระทบที่ตามมาเช่นกัน เช่น ข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลังจากข้อมูลกรมอุตุฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2015 มีความน่าจะเป็นมากกว่า 90% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ El Nino ตลอดทั้งปี 2015 และมากกว่า 85% ที่จะเกิดต่อเนื่องถึงฤดูหนาวปี 2016 ซึ่งสถานการณ์ที่ปริมาณฝนจะไม่เพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาที่คาดการณ์ไว้นั้น มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จะเกิดขึ้นได้ ส่งผลให้ผลผลิตพืชชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากข้าวนาปี มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงตามไปด้วย เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกพืชต่างๆ จะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปรัง อ้อยและมันสำปะหลัง เป็นต้น เนื่องจากในช่วงสิ้นปีข้าวนาปรังจะถึงฤดูกาลเพาะปลูก มีความเสี่ยงที่พื้นที่เพาะปลูกจะเสียหาย ส่วนอ้อยและมันสำปะหลังที่มีการเพาะปลูกไปแล้ว มีความเสี่ยงที่ผลผลิตต่อไร่ (Yield) จะปรับลดลง เนื่องจากปริมาณฝนไม่เพียงพอ โดยสถานการณ์นี้จะคล้ายคลึงกับวิกฤตภัยแล้งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2005 ที่ปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกตินานจนถึงสิ้นปี ซึ่งเป็นปีที่ปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี (รูปที่3) จากการประเมินผลผลิตสินค้าเกษตรที่เสียหายของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงเวลาดังกล่าว คิดมูลค่าความเสียหายผลผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่ราว 16,000 ล้านบาท อีไอซีมองว่าหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงในปี 2015 ผลกระทบที่ตามมาจะรุนแรงยิ่งกว่าสถานการณ์ที่เกิดในช่วงปี 2005
หากเกิดฝนตกทิ้งช่วงต่อเนื่อง พื้นที่ที่ชะลอการปลูกข้าวนาปีในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน และพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ควรจับตามองเป็นพิเศษเนื่องจากพื้นที่ที่ชะลอการปลูกข้าวนาปีมีความเสี่ยงจะเสียหายอีกราว 3.45 ล้านไร่ หากฝนไม่ตกตามช่วงที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียรายได้ของเกษตรกรที่ชะลอการปลูกข้าวนาปีคิดมูลค่าความเสี่ยงที่จะเสียหายราว 16,500 ล้านบาท อีกทั้งพื้นเพาะปลูกข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่นอกเขตชลประทานมากถึงราว 75% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีและส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว ประเมินผลผลิตข้าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำการเพาะปลูกนอกเขตชลประทานอยู่ที่ราว 90,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลผลิตข้าวราว 8.6 ล้านตัน (ราว 1 ใน 3 ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ) ซึ่งหากพื้นที่ประสบภัยขยายวงกว้างกระทบพื้นที่เพาะปลูกภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีการปรับตัวลดลงด้วย
อีไอซี มองว่าอิทธิพลของ El Nino ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศคู่แข่งหลักด้านธุรกิจเกษตร ซึ่งส่งผลบวกต่อราคาสินค้าเกษตรไทย ผลมาจากอิทธิพล El Ninoที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกระจายตัวไปทั่วโลก(รูปที่4)ซึ่งครอบคลุมประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลักอื่นๆ ด้วย เช่น อินเดีย (ข้าว) ฟิลิปปินส์(ข้าว) ออสเตรเลีย(น้ำตาล) และบราซิล(น้ำตาล) เป็นต้น ดังนั้น ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตหลักอื่นๆ คาดว่าจะปรับตัวลดลง ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อปริมาณอุปทานข้าวให้ออกสู่ตลาดโลกน้อยลง และเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาของข้าวในตลาดโลกมีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา แต่เนื่องจากปริมาณสต็อกข้าวในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง อาจจะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย
- ผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยลง จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ปรับตัวลดลงเช่นกัน ผลผลิตข้าวนาปีที่ลดลง จะส่งผลให้เกษตรกรข้าวนาปีและผู้ประกอบสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้อง เช่น ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และอุปกรณ์ทางการเกษตรต่างๆ มีรายได้ลดลงตาม อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวน่าจะมีไม่มากนัก หากฝนตกตามช่วงเวลาที่คาดการณ์ไว้ ผลผลิตข้าวนาปีอาจเสียหายเล็กน้อยเพียง 1-2% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ แต่ถ้าฝนไม่ตกตามที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อภาคการเกษตร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรจะลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวนาปีที่มีความเสี่ยงจะเสียหายมากกว่า 30% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ ส่งแรงกดดันให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงราว 0.4%
- ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ควรเตรียมพร้อมและวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไว้ล่วงหน้าอยู่เสมอ พืชบางชนิด เช่น ข้าว ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นจากผลผลิตในประเทศที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจที่ต้องใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากต้นทุนจะเพิ่มขึ้นตาม หากผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุน จะส่งผลให้อัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลงได้ ดังนั้น แผนการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดความสูญเสียวัตถุดิบในระหว่างการผลิต รวมถึงการมองหาแหล่งนำเข้าวัตถุดิบใหม่จากต่างประเทศเป็นแผนการที่ควรจัดเตรียมให้พร้อมอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าเกษตรควรมีกลยุทธ์ที่ดีในการบริหารสินค้าคงเหลือ เนื่องจากอาจมีสัญญาณบวกเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้เสมอ และเมื่อจังหวะที่เหมาะสมมาถึงจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้จากช่วงที่ผ่านมา
รูปที่ 1: ปริมาณน้ำในเขื่อนตามแถบลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ เทียบกับปี 2014 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมชลประทาน
รูปที่ 2: ช่วงเวลาการเพาะปลูกและคาดการณ์ผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยวได้ ในพืชแต่ละชนิดที่มีระดับของผลกระทบที่แตกต่างกัน
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
รูปที่ 3: สถิติพื้นที่ทางการเกษตรที่เสียหายจากภาวะภัยแล้ง ปี 1997 - 2010
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
รูป ที่ 4: ผลกระทบทั่วโลกจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ El Nino ที่กำลังเกิดขึ้น
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Financial Time Research