ป.ป.ช.ลั่นกม.ใหม่ไม่รุนแรงอยู่ในป.อาญาทั้งกระบิ!-ยุติการให้สินบนเด็ดขาด
“…ยกเอาประมวลกฎหมายอาญามาทั้งกระบิ แต่ในประมวลกฎหมายอาญานั้น ใช้คำว่าเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งไม่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐคือเฉพาะข้าราชการ แต่เจ้าหน้าที่รัฐคือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐ จึงต้องเปลี่ยนให้ครอบคลุมหมด ดังนั้นในมาตรา 123/2 จึงไม่ใช่ล้างผลาญหรือดำเนินการอะไรกับใครรุนแรง เพราะโทษก็มีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงถึงกรณีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 มีเนื้อหา ดังนี้
----
ประเด็นปัญหาที่ต้องออก พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ (UN) ทำให้จำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีฉบับนี้ ไม่ใช่ว่าออกโดยลำพังหรือออกเอง
กรณีที่จำเป็นมาก ๆ และเห็นว่าต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การไต่สวนข้ามชาติ หรือมีอำนาจที่จะดำเนินการได้ ให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ ข้อนี้เป็นหลักโดยพื้นฐาน ตามที่อนุสัญญาฯของ UN ระบุว่า การดำเนินการที่จะได้ผลจริงจังในการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เราต้องมีอำนาจที่จะทำการไต่สวนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ กระทำความผิด เรียกรับสินบน กรณีอย่างนี้ ต้องมีการบัญญัติไว้ ซึ่งเราไม่เคยบัญญัติไว้เลย
อีกเรื่องที่สำคัญคือ กรณีริบทรัพย์ โดยพื้นฐานแล้ว จะริบเฉพาะทรัพย์ แต่ถ้าทรัพย์เปลี่ยนแปลง จะไม่สามารถริบทรัพย์ที่ต่อเนื่องได้ จึงต้องบัญญัติให้ชัดเจน
ส่วนเรื่องที่ต้องบอกเล่าให้เข้าใจอีกเรื่องคือ การเรียกรับสินบนแล้วทำไมโทษถึงแรงอย่างนั้น ถึงขนาดประหารชีวิต ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ขัดหลักสากลหรือไม่
อยากเรียนว่า กฎหมายที่ได้ออกมานี้ ในเรื่องของโทษ เราเดินตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีอยู่แล้ว เช่น มาตรา 123/2 เหมือนกับการลอกมาตรา 149 ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 123/3 ก็ลอกมาจาก 150 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 123/4 ลอกมาจากมาตรา 143 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 123/5 ลอกจากมาตรา 144 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น
สรุปแล้ว ยกเอาประมวลกฎหมายอาญามาทั้งกระบิ แต่ในประมวลกฎหมายอาญานั้น ใช้คำว่าเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งไม่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐคือเฉพาะข้าราชการ แต่เจ้าหน้าที่รัฐคือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐ จึงต้องเปลี่ยนให้ครอบคลุมหมด ทั้งข้าราชการ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ส.ส. ส.ว. นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพิ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ ไปด้วย
ดังนั้นในมาตรา 123/2 จึงไม่ใช่ล้างผลาญหรือดำเนินการอะไรกับใครรุนแรง เพราะโทษก็มีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา
อีกส่วนหนึ่งที่เพิ่มมาคือ เอกชนกระทำความผิด ปกติเอกชนให้สินบน เป็นเรื่องตำรวจที่จะดำเนินการ ไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวน แต่ในกระบวนการสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะภายในอนุสัญญาฯ UNCAC บอกว่า องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบต้องตรวจสอบทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะถ้าไม่มีผู้ให้ ก็ไม่มีผู้รับ
ต้นตอจริง ๆ ต้องผู้ให้ เพราะฉะนั้นได้กำหนดขึ้นมาว่า จำเป็นอย่างยิ่งต้องปราบผู้ให้ด้วย ที่เสมอหน้ากับผู้รับสินบน ผู้ให้คือบริษัทเอกชนทั้งหลาย ดังนั้นจึงได้กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ว่า 123/5 เป็นไปตามมาตรา 144 ประมวลกฎหมายอาญา
วรรคสองของมาตรา 123/5 สำคัญยิ่ง คือเรื่องนิติบุคคล ที่ผู้ให้โดยปกติแล้ว ผู้ให้มักเป็นกรรมการ หรือผู้ที่ทำงานในนิติบุคคล พวกนิติบุคคลเหล่านี้มักเป็นบริษัทใหญ่ ๆ มักพัวพันกับการให้สินบน ในต่างประเทศจับได้เป็นประจำ จนกระทั่งมาเสียค่าปรับ แต่ไม่เคยมีการบัญญัติขึ้นเป็นทางการไว้อย่างชัดเจน ถ้านิติบุคคลไม่มีมาตรการควบคุมการไปให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ นิติบุคคลนั้น ก็มีความผิดตามมาตรานี้ด้วย และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่า แต่ไม่เกินสองเท่าของความเสียหาย หรือประโยชน์ที่ได้รับ
เราต้องสกัดกั้น และยุติการให้สินบนกันอย่างเด็ดขาด จริงจัง การตรวจสอบต้องลึกลงไป ตรวจสอบเส้นทางของเงิน เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ ปราบปรามให้เด็ดขาด
ส่วนกรณีอายุความ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับที่ 2 ปี 2554 พูดเรื่องอายุความไว้ กรณีอยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนของ ป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหาหนี มีการออกหมายจับ ไม่ต้องนับอายุความ คือให้อายุความหยุดลง
แต่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ ได้เพิ่มเติมในกรณีของระหว่างการพิจารณาของศาล และมีการหลบหนี หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย และจำเลยได้หลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ให้นำบทบัญญัติกฎหมายอาญามาตรา 98 มาบังคับใช้ในกรณีนี้ นั่นหมายความว่า ถ้าจะหลบหนี ต้องหลบหนีตลอดชีวิต เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตมีผลยิ่งขึ้น
ส่วนที่มีคำพิพากษาไปแล้วจะมีผลกระทบหรือไม่ เรียนว่า เมื่อเราใช้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2554 ที่เราออกไปเป็นครั้งแรกให้อายุความหยุดลง ได้มีการโต้เถียงกันว่าต้องการให้มาตรการอายุความหยุดลงมีผลย้อนหลัง ปรากฏว่า ศาลตีความว่าไม่มีผลย้อนหลัง เพราะเป็นเรื่องของการให้โทษกับบุคคลซึ่งเป็นกฎหมายอาญา
แต่ว่าเรื่องนี้เป็นการตีความ เรายังไม่ได้ใช้กับกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นต้องรอดูต่อไปว่า สำหรับคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว แต่ผู้ต้องหาหลบหนีไปก่อนกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ จะอยู่ในข่ายว่าอายุความหยุดลงหรือไม่
เมื่อถามว่า การแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ครั้งนี้ จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเกรงกลัวที่จะทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ถ้ากลัวก็คงต้องกลัวตั้งแต่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 แล้ว แต่ดูสิก็ยังมีการเรียกรับการอยู่เรื่อย ๆ มีใครกลัวบ้างหรือไม่
เมื่อถามต่อไปว่า เท่ากับว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ เป็นแค่การขู่เท่านั้น นายวิชา กล่าวว่า ก็ไม่ทราบ แต่กฎหมายมีสองแบบ ให้คนทั่วไปได้ปฏิบัติ และกฎหมายเพื่อป้องปราม หมายความว่า ให้คนรู้สึกว่ามีโทษรุนแรง ยังมีโทษประหารชีวิต เขาก็คิดว่ามันจะมีส่วนในการช่วยยับยั้งได้บ้าง
เมื่อถามว่า กรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนีคดีที่มีคำพิพากษาไปแล้ว สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาอีกหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า คดีที่จบไปแล้วไม่อาจรื้อฟื้นได้อีก แต่บางคดีที่มีการออกหมายจับไว้ ต้องอยู่ในข่ายเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนี และที่จะมีการอ่านคำพิพากษาเร็ว ๆ นี้
เช่น คดีการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาทโดยมิชอบ (มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ) ก็อยู่ในข่าย หรือแม้แต่คดีที่เพิ่งขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็อยู่ในข่ายเช่นกัน
อ่านประกอบ :