อาจารย์สาวยื่น สตง.สอบ 5 ปมรวด อธิการฯ มรภ.พระนคร-เช่าที่ดินวัดพระศรีฯด้วย
อาจารย์สาวเปิดศึก ส่งหนังสือ สตง.สอบ อธิการฯ มรภ.พระนคร 5 ปมรวด จ้างผู้รับเหมาทำความสะอาด ขึ้นค่าเช่าร้านค้า ใช้เงินคูปองแทนเงินสดซื้ออาหาร เช่าที่ดินวัดพระศรีฯบางเขน 162 ไร่ ทำห้องรับรองกว่าล้าน ด้าน ดร.พงศ์ ติดประชุม 2 วัน
ปมปัญหาการร้องเรียนกรณีการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครมิใช่เฉพาะกรณีการว่าจ้างเอกชนทำความสะอาดอาคารในมหาวิทยาลัยโดยวิธีพิเศษ และกรณีการสั่งพักงาน ดร.ภาณุวัชร รุ่งมรกต ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมพระนครจนนำไปสู่การร้องเรียนผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น หากแต่มีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่น (สตง.)ให้ตรวจสอบผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ 5 กรณีรวด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อ 19 ก.ย.57 น.ส.ขจิตพรรณ อมรปาน อาจารย์ประจำพุทธวิชชาลัย และกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครใน 5 กรณี
1.กรณีสัญญาเช่าที่ดิน ระหว่างมหาวิทยาลัยฯกับวัดพระศรีมหาธาตุ โดยมหาวิทยาลัยฯได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากวัดพระศรีมหาธาตุ จำนวน 23 แปลง เนื้อที่ 162 ไร่ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.56 ระยะเวลา 36 เดือน นับจาก 1 ต.ค.56-30 ก.ย.59 เป็นเงินเดือนละ 261,360 บาท หรือปีละ 3,136,20 บาท แต่ปรากฏว่ากรมธนารักษ์ได้ตรวจสอบพบว่าที่ดินจำนวนดังกล่าวเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ซึ่งมหาวิทยาลัยฯดูแลและใช้ประโยชน์ จำนวน 9 แปลง เนื้อที่ 34-0-15 ไร่
2.กรณีการขึ้นราคาค่าเช่าร้านค้า และยกเลิกวิธีการชำระเงินสดในการซื้ออาหาร เป็นใช้คูปองเงินสด ของนักศึกษา จากเดิมใช้วิธีเงินสดและหรือ แบบการ์ดเติมเงินในศูนย์อาหารที่ชื่อว่า “Market Place” ต่อมา มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เป็นเลือกซื้ออาหารของนักศึกษาต้องแลกซื้อด้วยคูปองเงินสด ทำให้มีผลกระทบต่อนักศึกษา ทั้งในเรื่องมีการปรับราคาอาหารที่มีราคาอาหารสูงขึ้น ทำให้ขาดสภาพคล่องในการซื้ออาหาร เนื่องจากต้องมีการแลกคูปองเงินสดดังกล่าว มีระยะเวลาจำกัด ในการซื้ออาหาร และ การปรับเปลี่ยนการชำระค่าเช่าสถานที่ของผู้ประกอบการร้านค้า จากเหมาจ่ายรายเดือนๆละ 800บาท ค่าบำรุงรายปีๆละ 15,000 บาท เป็นชำระค่าเช่าสถานที่โดยวิธีหักรายได้จากการประกอบการร้อยละ 15 ต่อวัน
3.กรณีลดค่าเช่าห้องประชุม อาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพพระนครแกรนด์วิว ให้แก่ ประธานหลักสูตรอบรมโลจิสติกส์ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวมี อธิการบดี เป็นคณะกรรมการหลักสูตรโลจิสติกส์ ตามระเบียบของศูนย์วัฒนธรรมพระนคร อธิการบดีไม่สามารถใช้อำนาจอนุมัติขอส่วนลดค่าเช่าห้องประชุมดังกล่าวได้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเอื้อประโยชน์หรือไม่
4. กรณีการใช้เงินของศูนย์วัฒนธรรมพระนครทั้งระบบ โดยเฉพาะการจัดทำห้องรับรองของอธิการบดี (ชื่อห้องรับรอง “กาซะลอง”) ภายในโครงการอาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพพระนครแกรนด์วิว วงเงินกว่าล้านบาท เดิมบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่สร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยฯ เมื่อทำเป็นห้องรับรอง ทำให้มหาวิทยาลัยฯขาดรายได้จากการเช่าพื้นที่ และการรับเหมาก่อสร้าง อาจดำเนินการไม่ครบถ้วนตามระเบียบงานพัสดุกองคลังของมหาวิทยาลัยฯ ผู้รับเหมาก่อสร้างปรับปรุงห้องรับรองอาจมีความเกี่ยวโยงเป็นเครือญาติฝ่ายที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยฯด้วยหรือไม่
น.ส.ขจิตพรรณ อมรปาน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เมื่อ 19 มีนาคม 2558 ได้ส่งหนังสือ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการการจัดซื้อจัดจ้างทำความสะอาดอาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพ วงเงิน 2.2 ล้านบาท และ การจัดซื้อจัดจ้างทำความสะอาดอาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม (พุทธวิชชาลัย) วงเงิน 1.2 ล้านบาท ที่ใช้วิธีโดยวิธีพิเศษซึ่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ สตง.เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงข้างต้น อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ สตง.ยังไม่สรุปผลสวนแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง ดร.พงศ์ หรดาล อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพื่อให้ชี้เเจง5กรณีดังกล่าว เเต่อธิการบดีติดประชุมต่อเนื่อง2วัน ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ พร้อมระบุว่าจะให้ผู้ประสานงานติดต่อกลับมาภายหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวถูกร้องเรียนต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google