“ปราชญ์เกษตร” วอนชาวนาอย่าตื่นตระหนก น้ำพอใช้ถ้าช่วยกัน-แบ่งปัน
ภัยแล้งวิกฤตหนัก เหลือน้ำในเขื่อนต่ำสุด 'ชัยพร พรหมพันธุ์' เกษตรกรดีเด่นชี้สื่อตีข่าวน้ำแล้ง ทำชาวนาตื่นตระหนกเร่งวิดน้ำ แนะถ้าเห็นแก่ตัวจะลำบากทั้งต้นน้ำ-ปลายน้ำ ด้านชาวสวนวอนรัฐหาแหล่งน้ำสำรองช่วยอีกแรง
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำ (13 ก.ค.2558)ในเขื่อนหลายแห่งลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ คงเหลือน้ำ 34% จากความจุอ่าง เขื่อนภูมิพล จ.ตาก คงเหลือน้ำ 29% จากความจุอ่าง และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี คงเหลือน้ำ 5% จากความจุอ่าง ส่งผลต่อระดับน้ำทั่วประเทศที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และโดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรเป็นอย่างมาก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์นายชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกร อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ในฐานะเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2538 กล่าวถึงสถานการณ์ว่า ยิ่งการสื่อสารเกี่ยวกับวิกฤตน้ำแล้งหรือปริมาณน้ำที่กำลังจะหมดลงมากเท่าใด เกษตรกรก็ยิ่งตื่นตระหนกมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรทำ เพราะจะทำให้ชาวนาต่างตักตวงน้ำเอาไว้ใช้โดยใช่เหตุ แทนที่สองอาทิตย์จะวิดน้ำเข้านากันสักครั้ง กลับกลายเป็นวิดน้ำกักตุนเอาไว้ในนาทุกวัน จนน้ำเต็มนาและแห้งทิ้งหมดประโยชน์
สำหรับทางออก นายชัยพร กล่าวว่า ควรให้ชาวนาประเมินสถานการณ์ด้วยตนเองมากกว่า เพราะในยามปกติที่น้ำมีเกษตรกรก็จะไม่ค่อยวิดน้ำเข้านากันเท่าไหร่ เพราะจะวิดเข้านาเมื่อใดก็ได้ เมื่อประมาณครึ่งเดือนที่แล้วปริมาณน้ำไม่พอใช้กันจริง ๆ แต่ปรากฏว่า ข้าวอยู่ก็ได้ไม่เห็นมีปัญหาอะไรมาก ถึงต้นข้าวจะเหี่ยวไปบ้างแต่ไม่ถึงกับตาย พอฝนตกเริ่มมีน้ำเพิ่มขึ้น กลับพบว่าในนาที่มีน้ำขังอยู่ตลอดต้นข้าวกลับเหลือง แต่ทุ่งที่ไม่มีน้ำเพียงพอมาก่อน ต้นข้าวสามารถปรับตัวให้เขียวขึ้นได้
“ตอนนี้ระดับน้ำยังพอใช้ได้ทั่วกันแม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายบ้าง แต่เราก็ใช้วิธีการรวมตัวหุ้นซื้อท่อ ซื้อเครื่องสูบน้ำ ซื้อน้ำมัน และแบ่งกันวิดน้ำเข้านา ใครทำนามากก็จ่ายมาก ใครทำนาน้อยก็จ่ายน้อย ทั้งนี้ เรามีอาชีพเกษตรกรทำนา ถ้าไม่ให้ทำนาจะไปทำอะไรกิน เพราะไม่ได้มีเงินเดือนเหมือนคนอื่นถึงจะหยุดได้" เกษตรกรทำนา กล่าว เเละว่า เเม้ภาครัฐประกาศไม่ให้ทำ แต่ก็ยังมีความจำเป็น ดังนั้นเราต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ถ้าไม่เห็นแก่ตัวก็จะสามารถอยู่ได้กันหมด แต่ถ้าเห็นแก่ตัวตักตวงแต่น้ำไม่ยอมแบ่งปันก็จะลำบากกันหมด สังคมจึงจะอยู่กันได้ ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ
นายชัยพร ยังแนะนำว่า ในกรณียังพอมีแหล่งน้ำ ก็ทำคันกั้นน้ำเอาไว้ โดยเอาดินถมคันให้สูงช่วยกักเก็บน้ำได้ในตัวยืดระยะเวลาในการใช้น้ำไปได้ แต่กรณีที่น้ำธรรมชาติไม่มีเหลือจริง ๆ หากรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝ่ายเดียวคงไม่ไหว คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมหยุดทำนารอดูสถานการณ์ก่อน ไว้ จะได้ไม่ขาดทุนไปมากกว่านี้ ไถดินตากแดดไว้เพื่อบำรุงดินให้พร้อม เป็นประโยชน์ก่อนนำมาปลูกข้าวอีกครั้งก็จะได้ข้าวงาม
เมื่อน้ำกลับมาได้ก็เริ่มต้นปลูกข้าวเบาที่โตได้เร็วกว่าข้าวหนัก ถ้าหากไปปลูกข้าวตอนเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน ก็ไม่ควรทำเพราะชนหน้าหนาว ข้าวจะไม่ออกผลยิ่งขาดทุนเข้าไปใหญ่ ให้หยุดไปก่อน เดือนธันวาคมก็เริ่มทำใหม่ รอออกผลเดือนมีนาคมที่ฤดูหนาวไปแล้ว ข้าวจะได้ผลผลิตที่ดี พร้อมเกี่ยวเมื่อย่างเข้าต้นเดือนเมษายน
ด้านนายอรรถพล พลชัย เกษตรกรสวนส้มโอ เกาะทรงคะนอง อ.สามพราน จ.นครปฐม ระบุถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนมีช่วงระยะเวลาขึ้นสั้น และลงมากกว่าปกติ ความรุนแรงในตอนนี้ยังพอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ ถึงแม้ว่าระดับน้ำจะลดลง เนื่องจากเขื่อนปล่อยน้ำพอใช้แค่ในการอุปโภคกับบริโภคเท่านั้น
สำหรับสวนผลไม้ในพื้นที่ได้ขุดล่องน้ำและอาศัยน้ำเมื่อน้ำในแม่น้ำหนุนสูง จึงสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ แต่คนที่อยู่ในพื้นที่ดอนหรือลึกไปอีกปริมาณน้ำที่ได้รับก็จะน้อยกว่า ผลกระทบจึงมากขึ้นตามลำดับ และอาจมีปัญหาแย่งน้ำตามมาได้ ถ้าน้ำไม่พอให้ผลักน้ำในแม่น้ำไหลออกสู่ทะเล ปัญหาน้ำทะเลรุกก็จะเกิดขึ้น จนเราไม่สามารถนำน้ำในแม่น้ำมาใช้ ปัญหาขาดแคลนน้ำจึงตามมา
“ขณะนี้เกษตรกรทำได้เพียงกักเก็บน้ำ หรือหาแหล่งพักน้ำไว้ใช้ หากถึงขั้นไม่มีน้ำใช้เกษตรกรก็ตัดสินใจยาก เนื่องจากกระบวนการหาแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสูบน้ำ ขุดน้ำบ่อตื้น หรือขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้นั้นมีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรได้รับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลที่รวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำได้ทันท่วงที ไม่ใช่การดำเนินการอย่างกระชั้นชิด และช่วยหาแหล่งน้ำสำรองให้เกษตรกรไว้ใช้” เกษตรกรสวนส้มโอ กล่าว .
ภาพประกอบ:www.thaibizchina.com