หยุดเครื่องมือทำลายล้าง ส.รักษ์ทะเลไทย ชี้ 'ปลาเป็ด'เลิกจับแค่ปีเดียว มูลค่าพุ่ง 100 เท่า
กลุ่มประมงพื้นบ้านหนุนรัฐแก้ปัญหาประมงยั่งยืนหยุดใช้เครื่องมือทำลายล้าง ชี้ขยายขนาดอวนรุน-ลากไม่ใช่ทางออก แนะรัฐคุมขนาดสัตว์น้ำที่จับด้วย ระบุหยุดใช้อวนรุน อวนลาก อวนปั่นไฟ สร้างมูลค่าอาหารทะเลได้ถึง2ล้านล้านบาทต่อปี
13 กรกฎาคม 2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนาหัวข้อ “แบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด...คนทั้งชาติยังมีปลากิน?” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายสะมะแอ เจมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากแยกประเภทเรือประมงไทยในวันนี้จะมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเรือประมงนอกน่านน้ำ กลุ่มที่สอง เรือประมงในน่านน้ำไทย และกลุ่มเรือพาณิชย์ และกลุ่มที่สาม คือ เรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านก็แบ่งออกเป็นเรือที่มีเครื่องยนต์โดยขณะนี้กลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณ 20,000 ลำ เรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ และประมงพื้นบ้านที่ไม่มีทั้งเรือและไม่มีทั้งเครื่องยนต์ ดังนั้นการจะกล่าวถึงความเป็นประมงจะต้องคำนึงถึงขนาดของเรือ และแรงงานบนเรือ และเครื่องมือที่ใช้ด้วย
"ประมงพื้นบ้าน นิยามจึงต้องดูที่การใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำเฉพาะอย่าง ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำตามฤดูกาล"
นายสะมะแอ กล่าวด้วยว่า มาตรการสำหรับรัฐบาลวันนี้คือการดำเนินการให้เรือขึ้นทะเบียนทั้งหมด จดอาชญาบัตรเครื่องมือทุกประเภท ซึ่งการจับสัตว์น้ำโดยปกติจะจับตามฤดูกาลและใช้อวนแต่ละประเภท ฉะนั้นหากจะให้กลุ่มประมงจดทะเบียนอวนทุกประเภทคงไม่ไหว รัฐควรจะทบทวนเรื่องเครื่องมือที่เป็นกลุ่มทำลายล้างแทนหรือไม่หากจะแก้ปัญหาประมงไทย
ด้านดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวถึงการแก้ปัญหาประมงที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ใช้ทรัพยากรว่าจะใช้อย่างไร ในช่วงปี พ.ศ. 2536 ตอนนั้นทะเลไทยเกิดวิกฤติมากเนื่องจากการใช้อวนรุน หลังจากนั้น 3 ปี ประมงที่อ่าวพังงาเลิกใช้อวนรุนโดยเด็ดขาด อวนชนิดนี้หายไป ซึ่งเป็นการลุกขึ้นมาปฏิวัติของคนประมงชายฝั่งเนื่องจากเขาเห็นวิถีชีวิตสำคัญของทรัพยากรในอนาคต ในขณะที่ประมงเชิงพาณิชย์มองมิติการทำมาหากินเพื่อวันนี้ ดังนั้นมุมมองจึงมีความแตกต่างกัน
ดร.สุภาภรณ์ กล่าวถึงการใช้อวนลากในกลุ่มประมงนั้น พบว่า สัตว์น้ำที่กวาดต้อนมากทั้งหมดนั้น 30% เป็นอาหารคน อีก 70% จะเป็นอาหารสัตว์ ที่ผ่านมากฎหมายไม่เคยพูดถึงขนาดของสัตว์ที่จับมาได้เลย ไม่เคยมีการควบคุม ทำให้การประมงแบบทำลายล้างเกิดขึ้นในบ้านเรา คำถามที่ควรเกิดขึ้นคือเครื่องมือไม่ว่าจะเป็นชนิดใดแต่เป็นเครื่องมือที่ทำลายล้างหรือไม่ทำลายล้างระบบนิเวศน์
ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวถึงประเด็นปัญหาเรื่องตลาดอาหารทะเลว่า การจับสัตว์น้ำในทะเล แม้จับได้ที่สงขลาแต่ก็ต้องเวียนมาขึ้นที่มหาชัยก่อน ซึ่งปกติปลาจะอยู่กับน้ำแข็งได้ประมาณ 3-5 วันเท่านั้นหลังจากนั้นอาหารทะเลจะไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ที่สำคัญอย่างราคาปลาทูชาวประมงก็ไม่สามารถกำหนดราคาได้เองตามต้นทุนเนื่องจากมีการผูกขาดของตลาด ส่วนกรณีที่มีการถกเถียงว่ายุโรปหรือกลุ่มประเทศในอียูแบนสินค้าทะเลไทย ความจริงฝรั่งแบนกันมาก่อนหน้านี้แล้ว แม้แต่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยก็ไม่กินอาหารทะเลไทย
“ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการพยายามจะขยายตาอวนรุนอวนลากจาก 4 เซนติเมตร เป็น 6 เซนติเมตร ก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหา วันนี้คนไทยป่วยเชิงกายภาพ เราต้องการมองหาอาหารทะเลที่ปลอดภัย หยุดทำลายล้าง เราก็จะมีสัตว์น้ำเหลือกินเหลือใช้”
ดร.สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมานอกจากประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการทำประมงแบบทำลายล้างได้ เรายังมีการตลาดแบบผูกขาด นี่คือความเพี้ยนของระบบ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาประมงต้องคิดให้ไกลกว่าแค่การจับ แต่ต้องไปแก้ที่ระบบด้วย การบริหารจัดการระหว่างทาง การตลาดที่ผูกขาด
ขณะที่นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กรรมการสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า จากสถิติที่ผ่านมาคนไทยบริโภคอาหารทะเลประมาณ 2 ล้านตันต่อปี และส่งออกอาหารทะเลปีละ 2 ล้านตันต่อปีเช่นเดียวกัน แต่หากมีการหยุดเครื่องมือทำลายล้างได้คนไทยทั้งประเทศจะมีอาหารทะเลเหลืออีกจำนวนมาก เพราะในขณะนี้การทำประมงที่มีการใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายทำให้เรานำปลาเล็กหรือนำอาหารทะเลในอนาคตมาใช้ไปแล้วล่วงหน้า
กรรมการสมาคมรักษ์ทะเลไทย แสดงการคำนวณปลาเป็ดที่จับได้ในน่านน้ำไทย ถูกมาไปใช้ในการทำอาหารสัตว์ (คำนวณเฉพาะปลาทู) กับการปล่อยให้ปลาเป็ดโตหรือมีขนาดบริโภค ว่า หากจับมาใช้ในการทำอาหารสัตว์จำนวน 2 แสนตันจะมีมูลค่าแค่ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หากรอปลาเป็ดโตอีกนิด (1 ปีการประมง) จะมีสต๊อก 20 ล้านตันในทะเล และมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านบาท และนี่คือการทำประมงแบบยั่งยืนไม่ใช่เครื่องมือที่ทำลายล้าง
"หากหยุดทำประมงแบบทำลายล้าง 1 ปี เราจะมีปลาในสต๊อกคำนวณแล้วมีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท สูงกว่า GDP ทั้งประเทศ"นายวิโชคศักดิ์ กล่าว พร้อมกับเชื่อว่า หยุดเครื่องมือทำประมง 3 ชนิดได้ คนไทยทั้งประเทศจะมีปลาบริโภคไม่เพียงพอ ไม่อดตาย
|
ส่วนนายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายรัฐที่เข้มข้นในขณะนี้มีความหนักหนาสาหัสในกลุ่มประมงพาณิชย์ เป็นการใช้กฎหมายที่ทำให้ประมงพาณิชย์แทบล้มทั้งยืน แม้จะมีการพูดคุยในเรื่องกลไกต่างๆแต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ และกฎหมายก็ถูกละเลยมานาน วันนี้เข้าใจดีว่ากฎหมายไม่สามารถละเลยได้อีกต่อไป แต่การบังคับใช้ก็ทำให้ประมงพาณิชย์ล้มทั้งยืน ซึ่งอำนาจก็อยู่ในมือของผู้มีอำนาจที่จะใช้กุศโลบายในการแก้ปัญหานี้อย่างไร การแก้ปัญหาด้วยการแบนประมงผิดกฎหมายทั้งหมดจะเป็นประมงที่ยั่งยืนจริงหรือไม่
“บอกได้แม้จะแบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด ธรรมชาติก็ไม่ยั่งยืน และทุกวันนี้คนไทยบริโภคอาหารทะเลนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก”
นายนิธิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ข้อมูลที่คนไทยได้รับนั้น ยังมีความสับสนอยู่บนพื้นฐานของผู้ได้รับผลประโยชน์ จะเชื่อข้อมูลด้านใดต้องมีการไตร่ตรอง การแก้ปัญหาประมงไทยจะต้องอาศัยหลักการบริหารจัดการที่ดี การจะออกกฎหมายเปลี่ยนขนาดตาอวนก็ต้องค่อยๆปรับ จาก 4 เซนติเมตร และค่อยขยับเป็น 6 เซนติเมตร ลดเครื่องมือประกอบการประมงเช่นเรือปั่นไฟล่อปลา และอาจจะมีการขึ้นทะเลียนซั้งล่อปลาเพื่อควบคุมมีการจัดการทางสถิติ จัดโซนนิ่งให้เหมาะกับขนาดของเรือและขนาดของเครื่องมือ กำหนดโควตาตามชนิดเครื่องมือการทำประมง
ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย แนะนำว่า จะต้องพัฒนาเพื่อกระจายพื้นที่การทำประมงเพื่อลดการทำลายพื้นที่เติบโตและไปทำประมงน้ำลึก พัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับให้เข้าถึง ฐานข้อมูลมากขึ้นและนำไปใช้ในการประเมินปริมาณสัตว์น้ำในอนาคต และจะต้องจัดการเพื่อยกระดับการดำรงชีพของชาวประมง การให้ชาวประมงเข้าถึงแหล่งความรู้ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่อาชีพใหม่ทั้งในท้องถิ่นเดิมและการไปสู่ท้องถิ่นใหม่
ทั้งนี้นายวรพงษ์ สาระรัตน์ เจ้าพนักงานประมงอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่นิติกร กรมประมง กล่าวว่า กรมประมงพยายามออกกฎหมายเพื่อให้มีความทันสมัย ซึ่งพระราชบัญญัติประมงฉบับใหม่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นการแก้ข้อกฎหมายของฉบับปี 2490 เป็นฉบับปัจจุบันคือปี 2558 โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วในวันที่ 28 เมษายน 2558 และได้ประกาศบังคับใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมาแต่ก็ยังคงมีปัญหา กรมประมงเองก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดและเป็นไปในรูปแบบการสมัครใจ และการควบคุมในเรื่องเครื่องการทำประมงไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่เลยทำให้คนที่เคยทำผิดปรับตัวไม่ทัน ส่วนกรณีของอวนรุน อวนลากมีการควบคุมตั้งแต่ปี 2523 แต่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นในปี 2539ทางกรมประมงจึงทำการควบคุมคือไม่ให้มีเรืออวนรุนอวนลากเพิ่มขึ้นเหมือนเป็นการจำกัดคือให้มีได้แค่ 9พันกว่าๆในปีนั้น โดยเรือประเภทนี้จะต้องทำการต่อทะเบียนทุกปี หากขาดไปปีใดก็ถือว่าหมดสิทธิ แต่สุดท้ายก็มีการเพิ่มจำนวนเพราะการควบคุมของเราไม่มีประสิทธิภาพ
“กรมประมงเองพยายามดำเนินงานตามหลักวิชาการต่างๆ แต่ก็มีปัญหาในทางปฏิบัติซึ่งได้พยายามที่จะแก้ไขเพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง”