เครือข่ายสลัม 4 ภาค หวังรัฐดัน กม.คนจน 4 ฉบับ เเก้ปัญหาไล่รื้อ
Root Garden เปิดเวทีคุยปัญหาคนจนกรุงเทพฯ ถูกไล่รื้อ แกนนำเครือข่ายสลัม 4 ภาค วอนรัฐเห็นใจขอที่อาศัยพื้นราบแทนแฟลต พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อน กม. 4 ฉบับ ด้านนักวิชาการเเนะรวมตัวเป็นหนึ่ง กำหนดเป้าหมายชัดเจน เชื่อรัฐตอบรับ
วันที่ 12 กรกฎาคม 2558 Root Garden จัดเวที Root Talk&Music หัวข้อ ‘ถ้ากรุงเทพฯ ไม่มีคนจน’ ณ Root Garden ทองหล่อ ซอย 3 กรุงเทพฯ โดยมีนายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เป็นพิธีกร
นางนุชนารถ แท่นทอง แกนนำเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงปัญหาคนจนในกรุงเทพฯ ถูกไล่รื้อว่า ความจริงคนจนไม่ต้องการต่อสู้กับเจ้าของที่ดินเพื่อหวังชนะคดี เพราะการต่อสู้ที่ผ่านมาแพ้ตลอด เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิครอบครองที่ดิน จึงเป็นที่มาให้ต้องรวมกลุ่มขึ้นเพื่อการเจรจาต่อรอง คนจนจะได้เข้าถึงทรัพยากรเหมือนคนอื่น
“คนจนไม่ต้องการที่ดินจำนวนมาก ขอพื้นที่เพียง 10-15 ตร.ว. ความกว้าง 4 คูณ 8 เมตร ก็อยู่อาศัยได้แล้ว แต่ภาครัฐกลับอยากให้อยู่แฟลตมากกว่า โดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตของคนจนในเมือง ถามว่าอุปกรณ์ค้าขายจะเก็บไว้ที่ไหน” แกนนำเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าว และว่าขณะนี้บ้านเอื้ออาทรเหมือนสลัมบนแฟลต 1 ห้อง กั้น 4 ส่วน ลูกได้ยินเสียงพ่อกับแม่จู๋จี๋กัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้คนจนต้องการที่อยู่อาศัยบนพื้นราบ
นางนุชนารถ กล่าวต่อว่า โครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนจน ตอบโจทย์ความต้องการ และเราควรมีสิทธิเลือกบ้านเอง เพราะเป็นผู้กู้สินเชื่อกับสถาบันการเงิน ไม่มีใครมอบให้ฟรี พร้อมตั้งคำถาม เหตุใดคนชนชั้นสูงและกลางอาศัยในเมืองได้ แต่คนจนจึงอาศัยในเมืองไม่ได้ ทั้งนี้ อนาคตเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะผลักดันให้รัฐพัฒนาการใช้ที่ดินนำมาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยมากขึ้น ไม่ใช่มุ่งเน้นเพื่อธุรกิจอย่างเดียว แล้วปล่อยคนจนไม่มีที่อยู่
“คนจนต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผ่านกฎหมาย 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ธนาคารที่ดิน ร่างพ.ร.บ.ภาษีอัตราก้าวหน้า ร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกัน เพราะทุกคนต่างห่วงที่ดินของตัวเองกันหมด” แกนนำเครือข่ายสลัม 4 ภาค ทิ้งท้าย
ด้านอาจารย์อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุว่า ในโลกของการพัฒนาย่อมมีคนจนและคนรวย ซึ่งเป็นไปไม่ได้จะไม่มีคนจนเลย แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือ มีการใช้ดัชนีชี้วัดความรวยจากการเข้าถึงฐานทรัพยากรหรือไม่ นอกเหนือจากยอดเงินในบัญชี หากทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสิทธิฐานทรัพยากรเหมือนกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีเงิน ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่เกิดขึ้น
พร้อมกันนี้เห็นด้วยกับโครงการบ้านมั่นคงช่วยแก้ปัญหาคนจนไร้ที่อยู่อาศัย แต่จะให้สร้างที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในพื้นที่ว่างไม่ได้ เพราะทุกพื้นที่มีเจ้าของหมดแล้ว ส่วนพื้นที่ว่างใต้ทางด่วนทำได้เฉพาะการจัดสรรเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น ร้านค้า สถานที่ออกกำลังกาย พื้นที่สาธารณะ เป็นต้น
“การรวมตัวของหลายคนจะเสียงดังกว่าคนเดียวพูด ฉะนั้นหลายชุมชนต้องรวมตัวกัน และกำหนดเป้าหมาย สื่อสารชัดเจน เชื่อว่าภาครัฐจะตอบรับ ทั้งนี้ ทำอย่างไรให้คนในสังคมเข้าใจบทบาทของคนจน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันด้วย” นักวิชาการ มธ. กล่าว .