บริการสาธารณสุขในชุมชนป้องกันการฆ่าตัวตาย
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จิตแพทย์ท่านหนึ่งในเมืองไทยเล่าให้ฟังว่าโดยเฉลี่ยมีคนไทย 1 คน ฆ่าตัวตายสำเร็จในทุก 2 ชั่วโมง และหากคิดออกมาเป็นปีจะพบว่ามีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จราว 3,800 คนต่อปี นับว่าเป็นอัตราการตายที่น่าเป็นห่วงทีเดียว อย่างไรก็ตามหากมองย้อนกลับมาที่สังคมอังกฤษ อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมีสูงกว่าอีก ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักร (ครอบคลุมอังกฤษ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือและสกอตแลนด์) ที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ระบุว่าเมื่อปี 2556 มีผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 6,233 ราย หรือ 11.9 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยที่ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า
นักจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์มองว่าการฆ่าตัวตายเป็นการทำร้ายร่างกายในระดับที่รุนแรงที่สุด ในแง่จิตเวชศาสตร์การฆ่าตัวตายเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า ทั้งนี้เป็นเพราะว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีความคิดเป็นลบ มองโลกในทางลบเพียงด้านเดียว จึงไม่เห็นทางออกอื่นของชีวิตที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่กำลังประสบอยู่ พวกเขารู้สึกว่ามันเป็นความระทมทุกข์ที่สาหัสสากรรจ์มาก และการฆ่าตัวตายเป็นเพียงทางเดียวที่จะช่วยให้หลุดออกไปจากทุกข์
หากสามารถบำบัดกลุ่มอาการของโรคซึมเศร้าได้ ความคิดอยากฆ่าตัวตายก็จะลดลง ที่อังกฤษบริการด้านสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหนึ่งของระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ แต่แยกออกมาจากบริการด้านสุขภาพร่างกาย จัดเป็นสาธารณสุขขั้นที่สอง ขณะที่บริการด้านสุขภาพร่างกายเป็นสาธารณสุขขั้นที่หนึ่ง
การเป็นรัฐสวัสดิการของอังกฤษ เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้ารับการบำบัดด้านสาธารณสุขได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่เนื่องจากโรงพยาบาลต่าง ๆ มีเตียงในจำนวนที่จำกัด รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบายให้มีการบำบัดรักษาในชุมชน โดยเฉพาะบริการสาธารณสุขขั้นที่สอง ที่ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่กับครอบครัวในชุมชนในสังคมของตนเองได้ ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้นถึงเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ปล่อยให้ผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในชุมชนตามลำพัง แต่มีทีมงานในสังกัดบริการสาธารณสุขขั้นที่สองหลายทีมตั้งอยู่ตามเขตต่าง ๆ และคอยดูแลผู้ป่วยในชุมชน เช่น ทีมสุขภาพจิตในชุมชน ทีมเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน ทีมดูแลผู้ป่วยไร้บ้านและทีมจิตบำบัด เป็นต้น โดยในแต่ละทีมมีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และนางพยาบาล ทำงานร่วมกัน
เรื่องหนึ่งที่ทีมที่ทำงานในชุมชนต้องเฝ้าระวังอย่างมากคือการฆ่าตัวตายในชุมชนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชโรคอื่น ๆ เช่น โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว และโรควิตกกังวล ที่ต้องเฝ้าระวังเพราะว่าผู้ที่คิดฆ่าตัวตายจะลงมือเมื่อไรก็ได้ และบุคลากรตามทีมต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ติดกับผู้ป่วยตลอดเวลา เดือนหนึ่งอาจมีโอกาสพบกันแบบซึ่งหน้าเพียงครั้งเดียวเพื่อสอบถามปัญหาในชีวิต เวลาที่เหลือผู้ป่วยก็มีชีวิตเป็นของตนเอง ต่างไปจากการเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล ที่ผู้ป่วยกับนางพยาบาลเห็นหน้ากันทุกวัน
แต่การเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลนั้น จะต้องเป็นกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เช่น การอยู่ในชุมชน อาจทำให้อาการซึมเศร้าแย่ลงไปอีก หรือผู้ป่วยไม่ได้คิดฆ่าตัวตายเพียงอย่างเดียว แต่ได้วางแผนที่จะฆ่าตัวตายไว้เป็นขั้นเป็นตอน และได้ดำเนินการบางอย่างตามแผนที่วางไว้แล้ว เช่น เขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย จัดซื้อจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยให้ตนเองตาย ทีมงานในชุมชนจะต้องประเมินความเสี่ยงว่ามีมากน้อยแค่ไหนที่ผู้ป่วยคนดังกล่าวจะลงมือทำจริงตามที่บอกไว้ ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ทีมงานร่วมงานด้วยมานาน รู้จักอุปนิสัยใจคอของผู้ป่วยมากพอ การประเมินก็ทำได้เร็ว แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ทีมงานไม่เคยมีประวัติมาก่อน การประเมินความเสี่ยงก็อาจทำได้ไม่ตรง ผู้ป่วยบางคนอาจไปหาหมอหรือพยาบาลที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เพื่อขอให้ส่งตัวเข้าบำบัดในโรงพยาบาลก็ได้
การที่ผู้ป่วยรู้สภาพตัวเองและเต็มใจเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล เป็นเรื่องที่ทีมบริการสาธารณสุขขั้นที่สองอยากให้เกิดขึ้น มากกว่าการต้องใช้กฎหมายบังคับให้เข้ารับการบำบัดตามพรบ. สุขภาพจิต ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์สามารถบังคับให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าบำบัดในโรงพยาบาลได้ บางรายที่มีการขัดขืน ทีมงานก็จะต้องให้ตำรวจจับตัวเข้าส่งโรงพยาบาล พอเข้าโรงพยาบาลก็จะต้องยอมรับการบำบัด ซึ่งมีทั้งให้ทานยาเพื่อให้คลายอาการซึมเศร้าและใช้จิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิด พออาการดีขึ้นจิตแพทย์ก็จะให้ออกจากโรงพยาบาล โดยส่งตัวผู้ป่วยให้กับทีมเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน ช่วงที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล ทีมเยี่ยมผู้ป่วยจะออกเยี่ยมทั้งเช้าและเย็น พออาการดีขึ้นก็ลดระดับการเยี่ยมลง จนเห็นว่าอาการไม่น่าเป็นห่วง ก็จะโอนตัวไปให้อยู่กับทีมสุขภาพจิตในชุมชน
นอกจากบริการสาธารณสุขขั้นที่สองที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายแล้ว ก็ยังมีจิตอาสาอีกหลายกลุ่มที่ทำงานกับผู้ป่วยในชุมชนเช่นกัน จิตอาสากลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่ผู้เขียนเคยไปเป็นอาสาสมัคร มีชื่อว่า Maytree เป็นจิตอาสาที่มีเป้าหมายหลักคือป้องกันการฆ่าตัวตาย เมย์ทรีมีบ้านให้คนที่คิดฆ่าตัวตายไปพักฟรี ได้ไม่เกิน 4 คืน ที่กำหนดไว้ 4 คืน เพราะทางเมย์ทรีไม่ต้องการให้เกิดการพึงพาผู้อื่นโดยไม่จำเป็น ภายในบ้านผู้ป่วยมีห้องหับส่วนตัวและมีอาสาสมัครเป็นเพื่อนพูดคุยหาความหมายของการมีชีวิตอยู่หรือการดับชีวิตลง ผู้ป่วยจิตเวชที่คิดอยากฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ติดใจเมย์ทรีและไม่ค่อยอยากจะออกจากบ้านหลังครบกำหนด เพราะรู้สึกดีและเข้มแข็งขึ้น มีอยู่เพียงไม่กี่รายที่ฆ่าตัวตายจริงหลังออกจากเมย์ทรีไปแล้ว ปีหนึ่งอาจมีเพียง 1 ราย
ขอบคุณภาพประกอบจาก : pcmc.swu.ac.th