กุมขมับวิกฤต ‘ภัยแล้ง’ กระทบโครงสร้างสาธารณะ ‘ถนน’ ทรุด
วิกฤตการณ์ภัยแล้งส่งผลหนัก กระทบระบบเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิต สกว.เผยการจัดการโครงสร้างสาธารณะล้มเหลวตั้งแต่อดีต นโยบายแก้น้ำท่วมต้นตอตลิ่งถล่ม แนะรัฐบาลเรียนรู้ไปปรับใช้ในอนาคต
ถึงคราวต้องตระหนักแล้วว่า สถานการณ์ภัยแล้งในไทยขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต อันเป็นผลจากอิทธิพลโดยตรงของปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ปริมาณฝนของไทยตั้งแต่เดือน พ.ค. มีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องจากพายุเปลี่ยนทิศทาง จากเดิมที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และเคลื่อนเข้าไทย 3-4 ลูกต่อปี กลับขึ้นเหนือเข้าสู่ทะเลจีนใต้ ทำให้ไทยและประเทศแถบอินโดจีน “แห้งแล้ง”
ปรากฏได้ชัดเจนจาก ระดับน้ำในลำคลอง แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องจนบางแห่งถึงขั้นวิกฤต แน่นอนว่าผู้ได้รับความเดือนร้อนโดยตรงคือ “เกษตรกร” ที่ไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในการเกษตร กระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร กระเทือนถึงระบบเศรษฐกิจภาพรวม
ดังที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดการณ์ว่า ความเสียหายจากภาวะภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้ ลดลง 0.52% จากเดิมที่ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.2% นั้นก็ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะโตได้ต่ำกว่า 3%
ทั้งนี้ ผลกระทบไม่ได้ปรากฏเพียงด้านอาชีพและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อ “โครงสร้างสาธารณะ” ด้วย โดยเกิดเหตุถนนทรุดตัวหลายสายต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น สายลาดบัวหลวง-สามเมือง เลียบคันคลองพระยาบันลือ บริเวณหน้ามัสยิดนูรุ้ลฮิดายะห์ (สุเหร่าใหม่) ต.สามเมือง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ หมู่ 10 ซอยสง่างาม 3 ต.หนองโรง อ.หนองแค จ.สระบุรี
โดยสาเหตุหลัก ๆ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) วิเคราะห์ไว้ว่า ถนนหลายจุดทรุดตัวเกิดจากการวิบัติเชิงโครงสร้าง 4 ประการ คือ 1.การออกแบบถูกต้อง 2. การก่อสร้างตามแบบและข้อกำหนดของวิธีปฏิบัติ 3.การใช้งานผิดประเภท และ 4.ภัยพิบัติที่คาดไม่ถึง ซึ่งขณะนี้กำลังประสบภัยแล้งอยู่ น้ำในคูคลองลดลงอย่างรวดเร็ว จนไม่มีแรงพยุงส่งผลให้เกิดการทรุดตัวของดินและตลิ่งพังทลายตามมา
‘สง่า บาฮา’ ชายวัย 80 ปี พักอาศัยในซอยสง่างาม 3 ตรงข้ามคลองระพีพัฒน์ ซึ่งถนนบริเวณนี้ทรุดตัวกว่า 2 เมตร บอกเล่าว่า ถนนเริ่มมีรอยแยกจากปากซอยในช่วงกลางดึกวันที่ 8 ก.ค. ก่อนยุบตัวลงช่วงเช้าวันที่ 9 ก.ค. และพบการยุบตัวต่อเนื่องอีกหลายจุด ทำให้ชาวบ้านใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ สาเหตุอาจเกิดจากรถบรรทุกใช้เส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าเป็นประจำ จนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
ด้าน ‘รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์’ อุปนายกและประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมปฐพี วสท. ในฐานะคลุกคลีลงพื้นที่สำรวจวิจัยมากว่า 20 ปี อธิบายลักษณะการพังของตลิ่งมี 2 ลักษณะ คือ
1.ตลิ่งริมแม่น้ำและธรรมชาติทั่วไป ซึ่งไม่ใช่ตลิ่งที่วิศวกรออกแบบขึ้น รูปร่างและความแปรปรวนจึงมีมากและเกิดการวิบัติได้ง่าย ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนหรืออาคารสร้างขึ้นบริเวณนั้น
2.ตลิ่งคลองชลประทาน ถูกออกแบบโดยโครงสร้างทางวิศวกรรม ปกติจะขุดดินเพื่อทำคลอง ทำให้ดินตามคันคลองถูกถมให้กลายเป็นถนนสำหรับใช้สัญจรสองข้างทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน
“จุดทรุดตัวจะเป็นดินอ่อนหรือหนาผิดปกติ ซึ่งรับน้ำหนักไม่อยู่ จนพังลงมา โดยลักษณะดินดังกล่าวค้นพบได้ทั่วพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ” นักวิชาการ วสท. ยืนยัน
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ยังชี้แจงถึงจุดประสงค์ในการก่อสร้างคลองชลประทานว่า ใช้สำหรับจ่ายน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้นการสร้างถนนนั้นจึงไม่ใช่เพื่อการสัญจรทั่วไป แต่เพื่อขนส่งพืชผลทางการเกษตร จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ปัญหาการทรุดตัวเกิดขึ้น เพราะถนนถูกเปลี่ยนลักษณะการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังวิกฤตมหาอุทกภัย ปี 2554 ถนนถูกก่อสร้างให้สูงขึ้นเป็นคันกั้นน้ำ พร้อมตั้งคอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนวถนน ดังเช่น คลองพระยาบันลือ จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้มีน้ำหนักและแรงดิ่งเพิ่มขึ้น อันเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างถนนตั้งแต่อดีตที่ส่งเสริมให้เกิดการวิบัติได้ง่าย
“แม้หน่วยงานอย่างกรมทางหลวงชนบทจะพยายามจำกัดการใช้งาน แต่ข้อเท็จจริงยังพบการใช้งานผิดประเภทอยู่” เขากล่าว และว่า ถนนทุกสายมีมาตรฐานในการก่อสร้างขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานตั้งต้น ซึ่งแต่ละแบบจะมีลักษณะมาตรฐานการก่อสร้างแตกต่างกัน
นักวิชาการ วสท. ระบุด้วยว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงเชิงโครงสร้าง คือ การสูบน้ำของเกษตรกร หรือการขุดลอกคูคลองของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้มีการระบายน้ำเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า เกษตรกรจำเป็นต้องสูบน้ำเพื่อพยุงการเกษตร แต่การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบในทางวิศวกรรม ซึ่งออกแบบให้มีตัวถนนและเสาเข็ม โดยนำดินมาค้ำยันไว้ป้องกันกำแพงล้ม เมื่อเกษตรกรเปิดออกเพื่อสูบน้ำ ด้านหน้าจะไม่มีสิ่งใดยึดไว้ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางลาดและโครงสร้างทางวิศวกรรมของตลิ่ง
“ก่อนสร้างถนนควรนำเข็มไม้สนหรือคอนกรีตยาว 6 เมตร มาทำการเย็บตลิ่งเอาไว้ หากเกิดภัยแล้งนานๆ ตลิ่งที่ล้าจะมีเข็มไม้ดันเอาไว้ได้ อย่างที่สองคือการใช้ EPS โฟมที่มาใช้แทนคันถนนได้ อย่างที่สามคือการอัดฉีดน้ำปูนลงไปในเนื้อดินที่เรียกว่าซีเมนต์คอลัมน์ ซึ่งวิศวกรทำได้ทุกอย่างถ้างบประมาณมีอย่างเหมาะสม“ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าว
ขณะที่ ‘ศ.ดร.อมร พิมานมาศ’ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และรองเลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวถึงปัญหาถนนทรุดตัวกำลังถูกมองแยกส่วน บางคนระบุว่า เกิดจากโครงสร้างพัง บางคนบอกว่า เกิดจากถนนไม่ดี ทั้งที่ความจริงต้องโยงให้เห็นถึงรากฐานของปัญหา เกิดจากสิ่งเดียวกัน คือ “ภัยแล้ง” ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องน้ำต้องควบคู่ไปกับสภาพภูมิอากาศ นำระดับน้ำเป็นบทเรียนเพื่อหาค่าสูงสุดและต่ำสุดรองรับโครงสร้าง ส่วนการวิเคราะห์นโยบายต่าง ๆ การคำนึงถึงค่าสถิติฐานดังเดิมคงทำไม่ได้อีกแล้ว
“โครงสร้างของเขื่อนหลายแห่งต่างทยอยหยุดปล่อยน้ำ ไม่ต่างอะไรกับโครงสร้างของถนนที่คำถึงระดับน้ำ ระดับน้ำเพิ่มสูงความดันก็จะมหาศาล เขื่อนก็ต้องเร่งระบายน้ำออกมา เพื่อป้องกันความเสียหาย แต่ระดับน้ำต่ำสุดก็ต้องกักเก็บน้ำไว้เพื่อรักษาระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าวไว้”
นักวิจัย สกว. อธิบายต่อว่า ในอดีตแผนการรับมืออุทกภัยอาจทำให้ผู้บริหารในหลายสมัยสนใจเพียงการปล่อยน้ำทิ้ง แต่เรื่องการเก็บน้ำไว้ใช้เป็นเรื่องที่ควรกังวลด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่า อาจต้องใช้งบประมาณมากกว่าการระบายทิ้ง ซึ่งการลงทุนเรื่องน้ำและดิน รับรองว่าจะบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ไทยประสบปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม ขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือบุคลากร ดังนั้นรัฐบาลจะต้องแก้ไขอย่างเหมาะสม แต่จะไม่ให้สูญเสียเลยคงเป็นไปได้ยาก
“ธรรมชาติจะให้สอนบทเรียนเรา ถ้าอนาคตไม่มีน้ำใช้ ความโกลาหลจะเกิดขึ้น แต่ขณะนี้ตัวโครงสร้างถึงคราวถล่ม แสดงว่าปัญหาดังกล่าวก็อยู่ในขั้นวิกฤติที่เสี่ยงต่อชีวิตและ และทำนายต่อว่า จะมีความรุนแรงมากกว่านี้” ศ.ดร.อมร กล่าว
อย่างไรก็ดี ประเด็น คือ งบประมาณมีจำนวนจำกัด ต่อให้นักวิชาการมีความรู้มากเพียงใด แต่ขาดงบประมาณก็ไม่สามารถทำอะไรได้ กระนั้น ยากจะยอมรับต้องรอให้มีการสูญเสีย ถ้าไม่มีการสูญเสียเลยปัญหาบางอย่างคงจะไม่ถูกยกขึ้นมาให้พิจารณา
นักวิจัย สกว.ยังมีข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมว่า ทหารไม่สามารถหาทางออกได้ฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นประชาชนจึงต้องมีจิตสำนึกตระหนักด้วย โดยช่วยกันประหยัดน้ำ ส่วนรัฐบาลต้องหันมาบูรณาการข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ หากปล่อยให้ประเทศขาดงบประมาณและไม่มีข้อมูลเลย คงยากจะนำสิ่งใดมาประกอบการตัดสินใจ
“ปัญหาทุกวันนี้คือการขาดข้อมูลที่จำเป็นหลายอย่าง เรามีแต่สร้าง แต่ไม่เคยติดตามความเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเป็นจริงทุกวันนี้สิ่งต่างๆ ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่มีใครไปติดตามตรวจสอบว่าสิ่งที่เราได้สร้างไว้ยังมีมาตราแบบเดิมอยู่หรือไม่ ถ้าได้ไปตรวจสอบก็จะมองเห็นปัญหา และเมื่อเห็นปัญหาก็ต้องส่งสัญญาณเตือน หาทางแก้ไขและป้องกันรักษา” ศ.ดร.อมร กล่าวทิ้งท้าย
การตัดสินใจที่ผิดพลาดในอดีต กลายเป็นบทเรียนอันมีค่าในอนาคต คงไม่ต้องรอให้ระเบิดเวลาลูกนี้ถึงจุดสิ้นสุด เราคงได้เรียนรู้แนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ผนวกกับการเข้าสภาพพื้นที่ความเสี่ยงภัยในประเทศ อันเป็นสิ่งที่ต้องนำมาผนึกกำลังเพื่อเสริมและพัฒนาความแข็งแรงของโครงสร้างสาธารณะ ให้ทั้ง “ภาครัฐ” และ “ภาคประชาชน” พร้อมรับมือกับระดับน้ำที่ไม่มีใครคาดคิด
ด้วยน้ำไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดอีกต่อไป ทุกคนในสังคมพึงต้องช่วยกันรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังมีกินมีใช้สืบไป .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:สำรวจถนนทรุด! นักวิจัยแนะเเก้เฉพาะหน้า เร่งสำรวจจุดเสี่ยง เฝ้าระวังภัย
วสท.แนะโมเดลแก้ถนนทรุด จ่ายเงินชดเชยหยุดชาวบ้านสูบน้ำริมคลอง