นักวิชาการไม่คาดหวังดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต สำเร็จในรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’
นิติศาสตร์ มธ.จัดถก พ.ร.บ.คู่ชีวิต นักวิชาการระบุไม่คาดหวังดันสำเร็จในรัฐบาลทหาร เหตุไม่ได้หน้า ผิดกับภาษีมรดก เชื่ออนาคตรัฐบาลจากการเลือกตั้งหนุนสำเร็จเเน่
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง ‘รักนี้แก้ไขยังไง ก่อนจะได้เธอมาครอง(พ.ร.บ.คู่ชีวิต)’ ณ ห้องประชุม น.222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คู่ชีวิต มี 2 ฉบับ คือ ฉบับร่างโดยคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ) มี 15 มาตรา และฉบับร่างโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปก. (ฉบับประชาชน) มี 51 มาตรา
โดยร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งสองฉบับ มีความแตกต่างกันชัดเจน ยกตัวอย่าง เกณฑ์อายุผู้จดทะเบียน ซึ่งร่างฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ กำหนดให้ผู้จดทะเบียนคู่ชีวิตได้ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ในร่างฉบับประชาชนกำหนดไว้ 17 และ 20 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ กฎหมายครอบครัว อายุ 17 ปี สามารถจดทะเบียนสมรสได้แล้ว
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ กล่าวถึงกรณีหย่าร้างว่า ร่างฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ หากเลิกกันต้องใช้วิธีทำเรื่องหย่าเหมือนกฎหมายครอบครัว แต่ร่างฉบับประชาชนสามารถยุติความสัมพันธ์ โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอมจดทะเบียนหย่าได้ เพราะผู้ร่างเห็นว่า คนเพศเดียวกันมีความสัมพันธ์พิเศษ ไม่น่าอยู่ในกรอบสามีภรรยาปกติ โดยภาพรวมแล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนมีความละเอียดมากกว่า
ส่วนไทยบังคับใช้เป็นกฎหมายสำเร็จก็อาจส่งผลกระทบหลายประการ ยกตัวย่างกรณีอุ้มบุญ ซึ่งพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (พ.ร.บ.อุ้มบุญ) ห้ามคนเพศเดียวกันรับสิทธิใช้บริการ เพราะต้องเป็นชายหญิงเท่านั้น ยกเว้นกรณีคู่รักเพศเดียวกันสามารถแยกออกไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเดี่ยวได้
“ไม่คาดหวังรัฐบาลทหารจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะมิได้เป็นกฎหมายที่ทหารได้หน้า แตกต่างจาก พ.ร.บ.ภาษีมรดก อาจต้องรอให้มีการเลือกตั้งก่อน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะได้รับการสนับสนุน และประกาศบังคับในที่สุด เหมือนสหรัฐฯ ที่ศาลสูงวินิจฉัยรับรองการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งกลายเป็น Law of Land ทำให้ 12 มลรัฐ ที่เหลือต้องออกกฎหมายอนุญาตด้วย กลายเป็นกระแสเคลื่อนไหวในประเทศต่าง ๆ ดังเช่น จีน และญี่ปุ่น และคาดหวังจะเกิดขึ้นในไทย” ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ระบุ
ด้านนางสาวอัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี กล่าวถึงการผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตว่า ปัจจุบันไทยมีการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาล คสช. ซึ่งไม่มีสภาผู้แทนราษฎรชัดเจน ทำให้ขาดโอกาสในการเสนอกฎหมายภาคประชาชน และรัฐบาลไม่เข้าใจหรือสนับสนุนการเปิดรับเรื่องเพศเดียวกันเต็มที่ ดังจะเห็นจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่มีข้อความเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิคนกลุ่มนี้ แต่ก็โชคดียังมีคำว่า ‘เพศสภาพ’ ปรากฏอยู่ หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นทอม กะเทย ฯลฯ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามความหมายของคำนั้น
“รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเปิดรับกลุ่มหลากหลายทางเพศมากกว่า แต่มักประสบปัญหาความไม่มั่นคงในรัฐบาลหรือการดำเนินนโยบาย ประกอบกับเกิดแรงกดดันเรื่องต่าง ๆ ด้วยถูกมองเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มน้อย ดังนั้นเมื่อใดที่มีหนทางในการเสนอกฎหมายต้องพยายามผลักดันให้มาก” ผอ.โครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี กล่าว และว่าปัจจุบันมีสื่อมวลชนนำเสนอประเด็นที่เกิดขึ้น ทำให้คนรับรู้โลกกว้างไปไกลแล้ว ดังนั้นไม่มีทางจะห้ามคนรักเพศเดียวกันได้ เหมือนในสหรัฐฯ ที่อดีตเคยห้าม แต่ปัจจุบันออกกฎหมายคุ้มครองแล้ว .
ภาพประกอบ:www.hiso.or.th