ผลประโยชน์ทางทะเล 24 ล้านล้าน ผู้เชี่ยวชาญฯ ชี้ตกในมือคนไทยน้อย ที่รับเต็มๆ ผลกระทบ
สกว.จัดเวทีชงปฏิรูปจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ‘รศ.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์’ เผยไทยมีผลประโยชน์มากกว่า 24 ล้านล้านบาท ตกอยู่ในมือ ปชช.น้อยมาก ที่ได้รับมากเป็นผลกระทบ แนะเร่งแก้ กม.ตามอนุสัญญา UNCLOS1982 สร้างมาตรฐานสากล
เร็ว ๆ นี้ ชุดความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการปฏิรูปประเทศ และฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิต่อการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็น การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ครั้งที่ 1 (การบริหารจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล) ณ สำนักงาน สกว.
รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ อนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล (อจชล.) เปิดเผยตอนหนึ่งถึงมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล โดยมูลค่า คือ คุณค่าของผลประโยชน์จากทะเลในทุกมิติที่สามารถประเมินออกมาได้ ทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งถือเป็นแนวคิดหลักของมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวม (Total Economic Value) แบ่งเป็นมูลค่าการใช้ประโยชน์ และมูลค่าไม่ใช้ประโยชน์
“เมื่อประเมินมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล พบว่า มีไม่ต่ำกว่า 24 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ตกอยู่ในมือคนไทยในสัดส่วนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่ที่ได้รับเต็มคือผลกระทบ” อนุกรรมการฯ กล่าว และว่าส่วนใหญ่คิดจากมูลค่าทางตรง ไม่ได้คิดจากมูลค่าทางอ้อม (มูลค่าการคงอยู่ มูลค่าสงวนไว้ใช้ในอนาคต มูลค่าเพื่อลูกหลาน) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความพยายามดำเนินการอยู่
รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผลประโยชน์ของชาติต้องตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่เรามักละเลยป่าชายเลนและป่าชายหาด ทั้งที่ความจริงมีความสำคัญ เพราะชายหาดทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น หาดทราย หาดโคลน หาดหิน ล้วนเป็นองค์ประกอบระบบนิเวศ จึงต้องตระหนักให้เกิดการอนุรักษ์ แม้จะไม่มีโอกาสดึงกลับมาก็ตาม พร้อมยอมรับสถานภาพขณะนี้เสื่อมโทรมมาก และสิ่งที่ดีลดลงเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเรื่องพลังงานสำรอง ซึ่งควรนั่งขบคิดกัน
โดยบริเวณใดอยู่ใกล้กับกิจกรรมของมนุษย์ คุณภาพค่อนข้างแย่ สะท้อนถึงการบริหารจัดการ และเชื่อว่าจะเกิดกรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเลอีก ดังนั้นการบริหารจัดการต้องชัดเจนในเรื่องการแก้ไข มิใช่เมื่อเกิดเหตุการณ์มานั่งวิ่งมองหน้ากัน เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกรณีทะเลระยองนั้นนับว่าโชคดีที่ไม่รุนแรงมากกว่านั้น เช่นเดียวกับขยะทะเลเป็นอีกหนึ่งประเด็นต้องให้ความสำคัญ
อนุกรรมการฯ ยังกล่าวถึงกิจกรรมทางทะเล ประเภท การคมนาคมขนส่ง พาณิชย์นาวีว่า มูลค่าส่วนใหญ่ตกเป็นของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดูแล มีมูลค่าจริงตกในมือเราไม่มากเท่าที่มีอยู่ ส่วนการท่องเที่ยวนันทนาการ พบไม่เคยคิดต้นทุน คิดเพียงมาตรการรองรับให้นักท่องเที่ยวสะดวกสบาย โดยละเลยเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และควรให้ความสำคัญกับการสำรวจวิจัยและวิทยาศาสตร์ทางทะเลด้วย ซึ่งไทยต้องพัฒนาอีกมาก เนื่องจากมีความชำนาญในทะเลไม่เกิน 80 เมตรเท่านั้น
“ไทยยังมองกิจกรรมทางทะเลไม่ครบสูตร ทำให้ประเมินมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลไม่ได้ ดังนั้นต้องท้วงติงใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าให้สมบูรณ์ นอกจากการมุ่งอนุรักษ์และใช้ประโยชน์เท่านั้น”
สำหรับปัญหาและอุปสรรค รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขาดนโยบายกลางและยุทธศาสตร์ทางทะเล ทำให้การบริหารจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทยถูกแบ่งกันคิดแบ่งกันทำ ส่งผลให้ผลลัพธ์ในภาพรวมขาดประสิทธิภาพ และสุ่มเสี่ยงต่อความไม่ยั่งยืนที่พึงได้รับ อีกทั้ง หน่วยงานที่รับผิดชอบมีจำนวนมาก ไม่น้อยกว่า 17 กระทรวง กับองค์กรอีกจำนวนหนึ่งทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ทำให้การทำงานไม่ประสานกัน และขาดหน่วยงานกลางกำหนดนโยบายทางทะเล เพื่อการบริหารจัดการผลประโยชน์ดังกล่าวอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่า 50 ฉบับ ซึ่งต้องทยอยปรับปรุงให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UNCLOS1982 ซึ่งมีความคืบหน้าน้อยมาก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ภาระหน้าที่ผู้รับผิดชอบ การให้ความสำคัญเมื่อเทียบกับงานอื่น หากเป็นเช่นนี้ อาจให้ไม่ได้รับประโยชน์จากสิทธิพึงได้รับจากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ขณะที่ต้องมีหน้าที่ตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าวแล้ว
อนุกรรมการฯ กล่าวต่อว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือเกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีและทำให้มีความหวังว่า ยุทธศาสตร์ทางทะเลจะเป็นส่วนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมานั่นเอง ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล พ.ศ. ... แล้ว ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังศึกษาอยู่ และยังมีแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.2558-64 ด้วย ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรต้องหาข้อสรุปอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เราต้องนำไปสู่การจัดการองค์กรและนโยบายภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทะเลไทย .