นักวิชาการค้านบายพาสกระบวนการ EIA พื้นที่เขตศก.พิเศษ
กลุ่มประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มเสรีนนทรี จัดเวทีห้องเรียนสาธารณะ เรื่อง "สิทธิชุมชนในวันที่ไร้สิทธิ" นักวิชาการชี้หลายเรื่องรัฐบาลยังนึกถึงสิทธิประชาชนน้อยไป ทั้งเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม ประมง
วันที่ 10 กรกฎาคม กลุ่มประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์กลุ่มเสรีนนทรี จัดเวทีห้องเรียนสาธารณะ เรื่อง "สิทธิชุมชนในวันที่ไร้สิทธิ" ณ ห้องพันธุม เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้ความคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชน บางกรณีเปิดให้มีส่วนร่วม แต่ก็มีบางกรณีใช้คำสั่ง คสช.มาตรา44 สกัดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดร.เดชรัตน์ ยกประเด็นเรื่องการปฎิรูปพลังงาน โดยระบุไม่แน่ใจเกณฑ์การพิจารณารัฐบาลคิดถึงเรื่องสิทธิประชาชนหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าก็เช่นกัน รัฐบาลเร่งรีบทำทั้งๆ ที่เรามีพลังงานไฟฟ้าสำรองเหลือเพียงพอ ขณะที่การเปิดรับฟังความเห็นประชาชนกลับเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จึงมีคำถามว่า สิทธิชุมชน เหลืออยู่สักกี่มากน้อยเวลานี้
"เรื่องสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การทำ EIA รัฐบาลคสช.ให้บายพาส(bypass)กระบวนการ EIA ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต เป็นไปได้หรือไม่ อยากให้อะไรที่เคยทำ ให้ทำเหมือนเดิมก่อน โดยเฉพาะกระบวนการทำ EIA รวมถึงการแสดงออกอย่างสันติน่าเปิดโอกาสให้ทำตรงนี้ได้"
ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวแสดงความกังวลเช่นกันกรณีที่รัฐบาลสั่งบายพาสกระบวนการ EIA โดย 105 วัน ต้องผ่าน EIA ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถสั่งการได้ นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างสิทธิชุมชนในวันที่ไร้สิทธิ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมแสดงความเห็นต่อนโยบายสาธารณะ ทั้งเรื่องการให้ประทานบัตรเหมืองแร่ จังหวัดเลย รวมถึงกฎหมายแร่ (Mining Zone) ที่มีการแก้ไขใหม่ทั้งฉบับ ครม.ยุคคสช.อ่านร่างกฎหมายแร่ช่วง 4 ทุ่ม ก่อนผ่านร่างในวันต่อมา ซึ่งขณะนี้กฎหมายแร่อยู่ในชั้นตรวจแก้ไขที่กฤษฎีกา หรือแม้แต่กรณีที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ประกาศเปิดประมูลแหล่งแร่ทองคำ ให้เอกชนทันที นี่คืออะไร รวมถึงการโอนสัมปทานปิโตรเลียมของปตท.ทางภาคอีสานด้วย
ขณะที่ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ หัวหน้างานการปรับตัวรับมือโลกร้อน และการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวถึงการทำงานและติดตามารแก้ไขพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ใช้เวลาร่างนานมากไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทุกรัฐบาลร่างแล้วก็ล้ม เปลี่ยน วนเวียนอยู่แบบนี้ จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลยุคคสช.สหภาพยุโรป ออกใบเหลืองเตือนไทยให้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การทำประมงที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม
"ใบเหลืองมา พ.ร.บ.การประมงก็ผ่านออกมาบังคับใช้ทันที โดยที่กฎหมายดังกล่าวเนื้อหายังมีช่องโหว่มากมาย แต่รัฐบาลคสช.ไม่สนใจ ขณะที่อียูก็มีคำถามมากมายกับกฎหมายการประมงฉบับดังกล่าว"
ดร.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังมีการร่างกฎหมายการประมงอีกฉบับเพื่อมาแก้ไข ซึ่งเนื้อหาจะส่งผลดีหรือร้ายในระยะยาวหรือไม่ต้องติดตามต่อไป
"สิทธิชุมชนไม่เคยเกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่างกรณีประมง หากไม่ได้แรงกดดันภายนอก ก็จะไม่เห็นการดำเนินการของภาครฐจริงจังขนาดนี้ ที่แรงกำดันจากภายนอกมีผลมาก เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับการส่งออก อียูบอกเราแก้ไข เราจึงแก้ไข ขณะที่กระบวนการภาคประชาชนเดินขบวน เรียกร้องมาเป็นสิบๅปี กลับผลักดันได้ช้ากกกว่า แต่เมื่อมีกระแสภายนอกเราสามารถแก้ไขได้ภายในพริบตา นี่คือตัวอย่างชาวบ้านถูกละเมิดจากการบริหารจัดการภาครัฐ"