ศราวุฒิ อารีย์ : ไทยเผชิญ 3 แรงกดดันหลังส่งอุยกูร์ให้จีน
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงปัญหาที่รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งชายมุสลิมอุยกูร์หลบหนีเข้าเมืองราว 90 คนไปยังประเทศจีน จนเกิดกระแสความไม่พอใจในประเทศตุรกี กระทั่งมีกลุ่มบุคคลบุกเข้าไปทำลายข้าวของในสถานกงสุลไทย ณ นครอิสตันบูล
ดร.ศราวุฒิ ประเมินว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาจาก 3 ปัจจัย คือ
1.รัฐบาลของตุรกีในระยะหลังซึ่งครองอำนาจต่อเนื่องกันมานับสิบปี เป็นรัฐบาลนิยมแนวทางอิสลาม จึงมีนโยบายช่วยเหลือมุสลิมตกยากในทุกประเทศ รวมทั้งอุยกูร์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีก็ให้ความช่วยเหลือมุสลิมในซีเรียที่เกิดสงครามกลางเมือง มีการไปตั้งแคมป์ให้พักอาศัย ขณะที่ชาวอุยกูร์เอง รัฐบาลตุรกีก็มีนโยบายให้สัญชาติเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
2.สืบเนื่องจากข้อ 1 จึงกลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศ คือ รัฐบาลตุรกีไม่พอใจรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการจัดการปัญหาอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ถึงขั้นเรียกทูตจีนเข้าพบ และออกแถลงการณ์ตำหนิ ขณะที่ฝ่ายจีนก็ออกมาแสดงท่าทีตอบโต้
3.การเมืองภายในของตุรกีเอง คือ หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลเดิมสูญเสียที่นั่งไปในสภาพอสมควร ทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงมีการต่อสู้แย่งชิงเสียงสนับสนุนกับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งฝ่ายค้านมีแนวทางชาตินิยม ได้ปลุกกระแสต่อต้านนโยบายการช่วยเหลือมุสลิมเชื้อสายอื่นที่ไม่ใช่เติร์กของรัฐบาล
ขณะเดียวกันก็มีการประท้วงต่อต้านจีนขึ้นมา เพราะไม่พอใจที่จีนปฏิบัติละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชาวอุยกูร์ในจีน โดยเฉพาะในมณฑลซินเจียง ซึ่งชาวอุยกูร์ก็เป็นเชื้อสายหนึ่งของชนเผ่าเติร์ก ประชากรส่วนใหญ่ของตุรกี
ดร.ศราวุฒิ สรุปว่าปัญหาอุยกูร์เป็นประเด็นทั้งศาสนา การเมืองภายในของตุรกีกับขบวนการชาตินิยมเติร์ก และการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายกำลังหวั่นเกรงว่าปัญหาอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงจะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับตุรกี
ส่วนการที่รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งชายมุสลิมอุยกูร์ราว 90 คนให้จีน หลังจากส่งผู้หญิงและเด็กราว 170 คนให้ตุรกีไปก่อนหน้านี้นั้น ดร.ศราวุฒิ มองว่า การที่ไทยส่งผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์ไปยังประเทศตุรกีในครั้งแรก ไม่น่ามีปัญหา เพราะตุรกีเป็นพันธมิตรที่ดีกับสหรัฐอเมริกาเหมือนไทย แต่การส่งชายชาวอุยกูร์ 90 คนไปให้จีนล่าสุด จะทำให้ไทยต้องเผชิญแรงกดดันใน 3 ด้าน คือ
1.ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เพราะมั่นใจได้อย่างไรว่าชายชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งไปจีน จะไม่ถูกทรมาน ถูกทำร้าย หรือถูกสังหาร หรือแม้แต่ถูกบีบเค้นข้อมูล เพราะปัญหาความขัดแย้งในมณฑลซินเจียง เป็นปัญหาความมั่นคงของจีน
2.ไทยจะถูกสหรัฐกดดันมากขึ้น เพราะสหรัฐเป็นพันธมิตรกับตุรกี และกำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้แข่งกับจีน
3.โลกมุสลิมไม่พอใจรัฐบาลไทย
ดร.ศราวุฒิ ยังให้ข้อมูลในมิติประวัติศาสตร์ว่า อุยกูร์เป็นเชื้อสายหนึ่งของชาติพันธุ์เติร์ก ซึ่งแผ่นอิทธิพลในดินแดนเอเชียกลางมานานนับพันปี โดยชนเผ่าเติร์กเคยสถาปนาอาณาจักรออตโตมาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกมุสลิม ชนเผ่านี้เป็นชนเผ่านักรบ และเร่ร่อนไปยังพื้นที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งก็ไปตั้งถิ่นฐานในมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในปัจจุบัน ทว่าเมื่อก่อนไม่มีพรมแดน ไม่มีเส้นเขตแดน
ต่อมาจีนควบรวมซินเจียงเข้ามาอยู่ใต้อธิปไตยของตน แล้วก็มีความขัดแย้งภายในคุกรุ่นตลอดมา โดยอุยกูร์บางส่วนพยายามต่อสู้เพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก กระทั่งระยะหลัง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 911 (ขับเครื่องบินชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544) มีการปั่นกระแสสร้างวาทกรรมว่าอุยกูร์ที่พยายามแยกตัวจากจีนนั้น เป็นมุสลิมหัวรุนแรง ได้รับการสนับสนุนจากอัลกออิดะห์
สถานการณ์มาปะทุเมื่อปี 2552 เมื่อมีการชุมนุมของชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม และเกิดจลาจลจนรัฐบาลจีนตัดสินใจสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพ ศราวุฒิ อารีย์ จากแฟ้มภาพอิศรา