ประวัติศาสตร์บาดแผล "อุยกูร์-จีน"
ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติพันธุ์ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวอุยกูร์มุสลิมไม่อาจรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้กับชาวฮั่น ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของจีน
แม้รัฐบาลจีนจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยนโยบาย "ไม้นวม" คือการยอมให้มณฑลซินเจียง มณฑลใหญ่ที่สุดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งมีชาวอุยกูร์เป็นประชากรส่วนใหญ่ สถาปนาเป็นเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ พร้อมให้อิสระในการนับถือศาสนา การปฏิบัติศาสนกิจ และการเลือกผู้นำของตนเองในระดับหนึ่ง ทว่านโยบายในด้านอื่นๆ ที่ดำเนินควบคู่กันไป ประกอบกับสถานการณ์การก่อการร้ายในระดับโลก ทำให้ดินแดนแห่งนี้ร้อนระอุไปด้วยความขัดแย้งและความรุนแรง อย่างน้อยๆ ก็ในช่วงทศวรรษนี้
"อุยกูร์" เป็นเชื้อสายหนึ่งของชาติพันธุ์เติร์ก ซึ่งแผ่อิทธิพลและตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบเอเชียกลางมาตั้งแต่อดีต โดยอุยกูร์กลุ่มใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในดินแดนที่เป็นมณฑลซินเจียงปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมอันลือลั่นมาแต่ครั้งโบราณกาล และเมืองอูรุมซี หรือ อูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ก็เป็นเมืองหน้าด่านบนเส้นทางสายไหม เป็นจุดเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้เมื่อจีนควบรวมซินเจียงเข้ามาอยู่ใต้อธิปไตยของตน
ในบทความชื่อ "ซินเจียงโมเดล : แนวทางการอยู่ร่วมกันของชนต่างชาติพันธุ์ตามแบบฉบับจีน" ซึ่งเขียนโดย เมธัส อนุวัตรอุดม จากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ซินเจียงเป็นแอ่งอารยธรรมตะวันตกและตะวันออกทั้ง 4 คือ จีน อินเดีย อิสลาม และกรีกโรมัน ที่ได้มาบรรจบพบเจอกัน ณ ดินแดนแห่งนี้ ทำให้สภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเขตนี้มีลักษณะพิเศษคือมีคนจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีหน้าตาออกฝรั่งคล้ายแขกขาว แต่กลับพูดภาษาจีนได้คล่องแคล่ว และคนจีนฮั่นที่พูดภาษาอุยกูร์สำเนียงคล้ายอาหรับได้เช่นเดียวกัน โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ในเขตปกครองนี้เป็นคนอุยกูร์ที่มีเชื้อสายเติร์กนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งชาวจีนจะเรียกว่าคนเหวยหวู่เอ่อร์ ในขณะที่คนจีนฮั่นเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นคนส่วนน้อยในเขตซินเจียงแห่งนี้
มณฑลซินเจียงมีประชากร 19,630,000 คน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่คือ ชาวอุยกูร์ซึ่งมีเชื้อสายเติร์กนับถือศาสนาอิสลาม มีประมาณ 8.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 รองลงมาคือชาวจีนฮั่นประมาณ 7.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ลำดับที่สามคือชาวคาซัค (ฮาซาเค่อ) ประมาณ 1.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ที่เหลือเป็นชนชาติอื่น
จริงๆ แล้วอาณาจักรเดิมของอุยกูร์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง ในคริสตวรรษที่ 16 ช่วงนั้นชาวฮั่นกับชาวอุยกูร์อยู่ร่วมกันได้ด้วยดี ความขัดแย้งเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เข้าครองอำนาจเบ็ดเสร็จในจีน มีความพยายามใช้นโยบายต่างๆ เพื่อจัดการชาวอุยกูร์ในมณฑลแห่งนี้ให้ราบคาบ ทั้งปราบปราม ผสมกลมกลืนโดยสนับสนุนให้ชาวฮั่นเข้าไปตั้งถิ่นฐาน และพยายามปิดกั้นการนับถือศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจ ก่อนจะมีการปรับนโยบายให้ผ่อนคลายลงในภายหลัง เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่ชาวอุยกูร์พื้นเมืองเพื่อให้ทัดเทียมกับชาวฮั่น รวมทั้งเสรีภาพด้านการใช้ภาษา แต่นั่นก็ดูจะยังไม่เพียงพอ
ประกอบกับขบวนการต่อต้านอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินไปไกลแล้ว มีการตั้งกองกำลังต่อสู้เพื่อสถาปนาสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก เมื่อผนวกเข้ากับสถานการณ์การก่อการร้ายในระดับโลก ทำให้ทางการจีนมองชาวอุยกูร์บางส่วนเป็นมุสลิมหัวรุนแรง จึงมีการเปิดฉากใช้ความรุนแรงเข้าใส่กัน
วันที่ 5 กรกฎาคม 2552 มีการก่อจลาจลครั้งใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ จนรัฐบาลจีนต้องตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม กระทั่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150 คน และตั้งแต่บัดนั้น ดินแดนแห่งนี้ก็ร้อนระอุมาตลอดกระทั่งถึงปัจจุบัน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนที่ประเทศจีนและมณฑลซินเจียง
ขอบคุณ : ภาพจาก SCG News