เราได้อะไรจากข่าว โตโน่ – แตงโม?
"..การนำเสนอภาพและเรื่องราวของคุณแตงโมครั้งนี้ จึงมีประโยชน์เพียงตอบสนองสัญชาติญาณการรับรู้เรื่องราวส่วนตัวของบุคคลอื่นเท่านั้น คุณค่าอื่นไม่มี เช่นเดียวกับภาพและข่าวโตโน่ ที่กลายเป็นดรามา ผิวเผิน และผ่านเลย เป็นการตอกย้ำความเข้าใจผิดในเรื่องข่าวบันเทิงอีกครั้ง"
วันที่ 9 กรกฎาคม 2558 "จักร์กฤษ เพิ่มพูล" อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า
หมายเหตุ : เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในการตีพิมพ์ เรื่องดราม่าโตโน่ – แตงโม ที่ได้แจ้งไว้ให้ติดตามอ่านใน คม ชัด ลึก ฉบับวันนี้(9) จึงได้นำฉบับเต็มมานำเสนอในพื้นที่นี้ แทนการตีพิมพ์
ดราม่า โตโน่ - แตงโม (ฉบับเต็ม)
เราได้อะไรจากข่าว โตโน่ – แตงโม ?
คนตามข่าว ได้รับการตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้ อยากเห็นของมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของดารา ที่สำคัญผิดและเรียกกันว่า “ข่าวบันเทิง” อันกลายเป็นขนบของหน้าข่าวบันเทิง ที่ไม่เคยมีข่าวบันเทิง นอกจากเรื่องรักใคร่ ชิงรัก หักสวาท
ช่องดิจิตอลทีวี ช่อง ONE ได้โฆษณาฟรี ๆ จากการเป็นสถานีที่ใช้แถลงข่าว และ backdrop ที่ถูกส่งออกไปทั้งในรูปถ่ายทอดสด และช่วงรายการข่าวบันเทิง ตอกย้ำความเป็นสถานีข่าวอันดับหนึ่งของแกรมมี่ จากการสำรวจเรทติ้งล่าสุด
คนทำทีวีดิจิตอล ได้คิดว่า ข่าวที่ขายได้ ไม่ใช่ข่าวที่มีสาระ ไม่ใช่รายการท่านผู้นำพบปะประชาชน แต่เป็นข่าวเรื่องรักแล้วเลิกของดารา เพราะผ่านมาหนึ่งปี ช่องข่าวทีวีดิจิตอลที่พยายามแสดงราคาความเป็นข่าวเข้มข้นตกชั้น ร่วงไปอยู่ท้ายๆ ในขณะที่ข่าวปนบันเทิง ก้าวกระโดดขึ้นไปอยู่อันดับต้นๆ
คนทำข่าวได้ละเมิดสิทธิผู้ป่วย และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ด้วยความยินยอมพร้อมใจของผู้ถูกละเมิด ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายในการสร้างรายได้ มากกว่าการทำงานตามหลักวิชาชีพ และสะท้อนให้เห็นผู้บริหารข่าวรุ่นใหม่ที่ตกอยู่ภายใต้กฏเหล็กของธุรกิจ และความพยายามที่จะเติมความบันเทิงลงบนพื้นที่ข่าว ทั้งที่ยังไม่เข้าใจความเป็นข่าวบันเทิง
ความเป็นข่าวบันเทิง ถูกประกอบสร้างให้ผิดเพี้ยนไปจากข่าวบันเทิง พลันที่ปรากฏ ข่าวชีวิตส่วนตัวของคุณแตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ผิดหวัง อกหัก จนพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม ให้พ้นไปจากทุกข์โศกของมนุษย์คนหนึ่ง
ซึ่งถ้าเธอเป็นคนธรรมดาทั่วๆไป ก็คงเป็นเรื่องคิดสั้น ของคนๆหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นสาระสำคัญที่ต้องใส่ใจ
แต่เพราะเธอสำคัญว่า เธอเป็นดารา อยู่ในความสนใจของผู้คน ถึงแม้ว่าการเลือกสถานที่ และการปรากฏตัวในสถานพยาบาลในสภาพที่ยังไม่ปกติ จะเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย และไม่ถูกกาลเทศะ แต่ก็ถือว่าเจ้าตัวยินยอม เป็นการยินยอมที่ทำให้นักข่าวสำคัญผิดยิ่งไปกว่านั้นอีก ว่าสามารถทำข่าวได้โดยไม่ผิดหลักการ
ไม่ว่าจะอย่างไร การทำซ้ำซึ่งภาพและเรื่องราวของคุณแตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ในสภาพผู้ป่วย มีสายระโยงระยางคล้ายคนไข้หนัก ย่อมเป็นการละเมิด “สิทธิผู้ป่วย” ชัดเจน
ชัดเจน เนื่องเพราะคำประกาศสิทธิผู้ป่วย อันเป็นคำมั่นสัญญาที่บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ญาติผู้ป่วย และผู้ที่เกี่ยวข้อง รับรองไว้ว่า ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด
สภาพความเจ็บป่วยของคนๆหนึ่งนั้น ย่อมแตกต่างจากสภาพปกติที่เขาเคยเป็น หรือผู้ที่เคยพบเห็น เช่น อาจจะซูบผอม อิดโรย หน้าตาไม่สดใส มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ห้อย แขวน เต็มไปหมด ผู้ป่วยต้องการความเป็นส่วนตัว และอาจรู้สึกมีความทุกข์มากขึ้นจากการเปิดเผยตัวตนต่อสังคม
นั่นเป็นเรื่องสิทธิผู้ป่วย ที่ทุกคนต้องรับรู้ การที่มีภาพคุณแตงโม ปรากฏในอินสตาแกรม ของบุคคลที่อ้างว่าเป็นเพื่อนสนิทของเธอ ก็แปลว่าจะต้องมีคนใดคนหนึ่งในที่นั้น ละเมิดด้วยการถ่ายภาพออกมาเผยแพร่ หรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ห้ามปราม
ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ยิ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดจริยธรรมร้ายแรงกว่าหลายเท่า
หนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 10 ฉบับ ในเช้าวันเกิดเหตุ โทรทัศน์เกือบทุกช่อง เสนอภาพและเรื่องราวของเธอที่ได้จากสื่อสังคมออนไลน์ อันรู้แต่ที่มาของนามแฝง paezaa_pb ชัดเจน
ไม่มีการเซ็นเซอร์ ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง แหล่งที่มา การลงภาพและข่าวที่อาจเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรม หรือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อันเป็นหลักการพื้นฐานของคนทำข่าว
ซึ่งเป็นการทำงานแบบ “มืออาชีพ”
แต่ในยุคของการทำข่าวที่แข่งขันกันเอาเป็นเอาตาย การทำข่าวที่เน้นปริมาณให้มากพอที่จะส่งผ่านช่องทางต่างๆที่มีหลากหลาย สื่อสังคมออนไลน์ แหล่งข่าวที่อันตรายที่สุด มีความเชื่อถือและมีความรับผิดชอบน้อยที่สุด กลับเป็นแหล่งข่าวสำคัญที่ทรงอิทธิพลที่สุด และสื่ออาชีพหยิบฉวยไปใช้มากที่สุด
พวกเขาอาจมีความเชื่อว่า นี่คือเรื่องราวของ “บุคคลสาธารณะ” หรือ Public Figure ที่ความเป็นส่วนตัวย่อมได้รับการยกเว้น หรือนัยหนึ่งเธออาจได้รับความคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในทางกฎหมาย น้อยกว่าบุคคลโดยทั่วไป อีกแง่มุมหนึ่งยังเป็น สิทธิในการรับรู้ หรือ Right to know ของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารด้วย
ประเด็นที่ควรตั้งคำถามก็คือ จริงหรือที่ความเป็นบุคคลสาธารณะของคุณแตงโม จะต้องได้รับการยกเว้นภาพและเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวของเธอในสภาพผู้ป่วยหนัก แม้ว่าข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุการเจ็บป่วยจะมาจากปัญหาครอบครัวของดารา นักแสดงอันมีคุณค่าข่าวที่ควรนำเสนอได้ก็ตาม
ในมิติของจริยธรรม คงตอบได้ว่า ความเป็นบุคคลสาธารณะ มิได้หมายถึงสื่อมวลชนสามารถรุกล้ำเข้าไปในชีวิตส่วนตัวของเธอได้ในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะการกระทำอันมีลักษณะซ้ำเติมความทุกข์ของผู้ประสบชะตากรรม
ในมิติของกฎหมาย การยกเว้นความรับผิดฐานหมิ่นประมาท คือการพิสูจน์ความจริงนั้น ถึงแม้จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่ถ้าความจริงนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คือเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาโดยแท้ ผู้กระทำก็ยังคงต้องรับผิดอยู่ หรือที่เรียกกันว่า ยิ่งจริงยิ่งผิด
นั่นแปลว่ากฎหมายให้ความคุ้มครองต่อสิทธิส่วนบุคคลของคนทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้น ในกฎหมายอาญาก็มิได้บัญญัติว่าความเป็นบุคคลสาธารณะเป็นข้อยกเว้น
ดังนั้นการนำเสนอภาพและเรื่องราวของคุณแตงโมครั้งนี้ จึงมีประโยชน์เพียงตอบสนองสัญชาติญาณการรับรู้เรื่องราวส่วนตัวของบุคคลอื่นเท่านั้น คุณค่าอื่นไม่มี เช่นเดียวกับภาพและข่าวโตโน่ ที่กลายเป็นดรามา ผิวเผิน และผ่านเลย
เป็นการตอกย้ำความเข้าใจผิดในเรื่องข่าวบันเทิงอีกครั้ง
สื่อในสังคมไทย กำลังเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ววันนี้
บนกองขยะข่าว !
ที่มา : https://th-th.facebook.com/chakkrish
ขอบคุณภาพจาก news.ch7.com