อดีตอธิบดีกรมชลประทานชี้วิกฤติภัยแล้งอย่าโทษใคร เหตุบริหารจัดการน้ำแย่ทั้งระบบ
ปราโมทย์ ไม้กลัด เผยวิกฤติการณ์ภัยแล้งไม่รู้จะโทษใคร เพราะเป็นความล้มเหลวของระบบการบริหารจัดการ ชี้กรมชลประทานต้องบริหารน้ำให้พอใช้ โดยไม่มีข้ออ้าง ย้ำจุดอ่อนสำคัญคือไม่มีมาตรฐาน ไม่เคยวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ระบุนี้ยังไม่ใช่วิฤติการณ์แย่สุดที่เคยเจอ
หลังจากเกิดปัญหาวิกฤติภัยแล้งจนกระทั่งมีกระแสข่าวว่าน้ำในเขื่อนสิริกิตต์และเขื่อนภูมิพลจะมีน้ำใช้อีกเพียง 30 วัน หลายหน่วยงานได้พยายามหาทางออกและบรรเทาทุกข์ให้กับชาวบ้านและกลุ่มเกษตรกร อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อถกเถียงว่า วิกฤติการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดของนโยบายในการบริหารน้ำของรัฐบาลหรือกรมชลประทานกันแน่
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมลชลประทาน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีดังกล่าวว่า การบริหารงานของกรมชลประทานเป็นการบริหารไปตามวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น หากพูดกันตรงๆ ก็ต้องบอกว่า แก้อะไรไม่ได้เท่าไหร่เท่าที่มองเห็น
ส่วนที่มีการพูดว่า 30 วันน้ำจะหมดนั่น นายปราโมทย์ มองว่า ไม่ใช่ เป็นการทำให้ผู้คนตื่นตระหนก การที่ยังมีน้ำให้บริการ สิ่งที่จะต้องทำคือตั้งเป้าหมายที่จะบริหารน้ำให้มีน้ำกินน้ำใช้ในชุมชน ในกทม. ตลอดจนการหาน้ำมาเพิ่มเติมโดยไม่มีระยะเวลากำหนด ไม่ใช่จะออกมาบอกว่า 30 วันน้ำหมด ใช้ไม่ได้
"หน้าที่ของกรมชลประทานคือการบริหารวิกฤติการณ์น้ำที่มี และยังโชคดีที่มีน้ำให้บริหาร"
อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ในสมัยช่วงที่รับตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานไม่มีน้ำให้บริหาร เขื่อนภูมิพลน้ำตาย ดังนั้นจะต้องดูว่าวันนี้มีต้นทุนเท่าไหร่ และต้องดูแลให้ได้ไม่มีข้อแม้ เขาถึงเรียกว่า การบริหารวิกฤติการณ์ และการจะไปขุดเจาะบ่อบาดาลก็หวังผลไม่ได้เท่าไหร่นัก และปีนี้ยังไม่มีการขนน้ำไปแจก แปลว่า ยังไม่ได้เดือดร้อนเท่าไหร่
"มีคนบอกว่า นี่เป็นวิกฤติการณ์ของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในรอบ 50 ปี ผมบอกเลยว่า ไม่ใช่ แล้วคนสัมผัสเหตุการณ์ครั้งนี้อายุเท่าไหร่ เมื่อก่อนไม่มีเขื่อน น้ำเค็มรุกถึงบางไทร ปทุมธานี เขาก็บริหารวิกฤติการณ์แบบนี้กันมาแล้ว ดังนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่า ธรรมดา ยังไม่ใช่ที่สุด"
เมื่อถามว่าวิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นความล้มเหลวในการบริหารงานของกรมชลประทานหรือนโยบายของรัฐบาล นายปราโมทย์ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เรียกว่า ไม่มีมาตรฐานและไม่มีแผนยุทธศาสตร์ในการทำงาน
"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบกันดีว่า เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเจอ แต่เราไม่เคยเตรียมความพร้อม หน่วยงานราชการไม่มองการวางแผนในระยะไกลๆ นี่คือจุดอ่อนของการบริหารจริงๆ หน่วยงานมีหลายสิบกรม แต่ละกรมก็ไปสังกัดอยู่ในแต่ละกระทรวง ประสานงานคุยกันไม่รู้เรื่อง นี่คือสิ่งที่เราค้นพบ แล้วกำลังจะปฏิรูปเพื่อให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น การจัดการปัญหาต้องทำทั้งปี เพราะวิกฤติการณ์เกิดขึ้นทั้งปี มีทั้งน้ำมากน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเน่าเสีย น้ำเค็มรุก เรียกได้ว่าตลอดเวลา 12 เดือน จะเจอวิกฤติเหล่านี้ตลอด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์แล้วทำงานตลอดทั้งปี ไม่ใช่เกิดขึ้นแล้วค่อยมาทำแบบนี้แย่"
นายปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า "ไม่รู้จะไปโทษใคร เรียกว่าเป็นความล้มเหลวของระบบ หากอยากได้ระบบชัดๆรัฐบาลต้องใส่ใจ ผมก็มีหน้าที่คิด แล้วก็เสนอ แผนที่เราทำกันในวันนี้ไม่มีอะไรสูญเสียมีแต่จะต้องดีขึ้น"