สำรวจถนนทรุด! นักวิจัยแนะเเก้เฉพาะหน้า เร่งสำรวจจุดเสี่ยง เฝ้าระวังภัย
รองเลขาธิการสภาวิศวกร ลงพื้นที่ถนนทรุด 'อยุธยา-สระบุรี' พบเหตุสัญญาณทรุดตัวเพิ่มเติม แนะเร่งสำรวจ เฝ้าระวังภัยเฉพาะหน้า ระบุแก้โครงสร้างถนนยั่งยืนทำได้ เเต่ต้องทำทั้งเส้น อาจใช้งบฯ มหาศาล
วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และรองเลขาธิการสภาวิศวกร นำผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ลงพื้นที่สำรวจที่เกิดเหตุถนนทรุดตัว ณ ถนนสายลาดบัวหลวง-สามเมือง เลียบคันคลองพระยาบันลือ บริเวณหน้ามัสยิดนูรุ้ลฮิดายะห์ (สุเหร่าใหม่) ต.สามเมือง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ หมู่ 10 ซอยสง่างาม 3 ต.หนองโรง อ.หนองแค จ.สระบุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเดินทางไปพื้นที่แรกบริเวณหน้ามัสยิดนูรุ้ลฮิดายะห์ (สุเหร่าใหม่) สังเกตว่าบนถนนสองเลนที่รายล้อมด้วยบ้านเรือน ไร่นา และโรงงานอุตสาหกรรม ตามแนวถนนเลียบคันคลองพระยาบันลือมีการสูบน้ำขึ้นมาใช้ในการเกษตรของชาวบ้านเป็นปกติ ทั้งที่ระดับน้ำอยู่แห้งขอด เเละตามเส้นถนนนั้นยังปรากฎให้เห็นรอยแยกขนาดเล็กบ้างเป็นจุด ๆ แต่ก็ยังมีการสัญจรของรถบรรทุก รถยนต์ และรถจักรยานยนตร์เป็นระยะ ๆ
(ถนนทรุดตัว ณ ถนนสายลาดบัวหลวง-สามเมือง เลียบคันคลองพระยาบันลือ บริเวณหน้ามัสยิดนูรุ้ลฮิดายะห์ (สุเหร่าใหม่) ต.สามเมือง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา)
เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุ พบมีการทรุดตัวลงประมาณ 2.50 ม. เป็นระยะทางกว่า 80 เมตร ซึ่งเผยให้เห็นแนวเขื่อนกั้นน้ำที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันอุทกภัย พังลงเป็นแนวยาว
ทั้งนี้ จากการสอบถาม นายประเทือง วิลัยพฤกษ์ นายกเทศบาลอำเภอสามเมือง ระบุว่า ถนนเส้นนี้ยังพบรอยร้าวอีกหลายแห่ง เดิมพื้นที่นี้เป็นการนำดินมาถมทำคันกั้นน้ำท่วม เมื่อเวลาผ่านไปจึงสร้างถนนเพื่อเป็นให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางหลักในการสัญจร อย่างไรก็ตาม เคยมีการเตือนชาวบ้านเรื่องการสูบน้ำจากชลประทาน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการสำรวจพบถนนบริเวณดังกล่าวสร้างบนดินที่อ่อนจากการขุดดินในลำน้ำขึ้นมาใช้ อันเป็นลักษณะของถนนทั้งเส้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็ได้ปิดถนนบริเวณนั้น จำกัดการเข้าถึงของรถบรรทุก และทำการนำรถขุดมาขุดเอาดินและถนนที่ทรุดตัวออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนำกรวดมาถมบริเวณดังกล่าวเพื่อเตรียมการสร้างถนนใหม่ ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากจุดเกิดเหตุอีกจุดที่ห่างออกอีกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนชาวบ้านก็ยังใช้ถนนฝั่งตรงข้ามในการสัญจร
(ถนนทรุดตัว ณ ถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ หมู่ 10 ซอยสง่างาม 3 ต.หนองโรง อ.หนองแค จ.สระบุรี
ซึ่งทรุดตัวลงไปมากกว่าเดิม)
หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่บริเวณถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ หมู่ 10 ซอยสง่างาม 3 ซึ่งมีรายงานว่าเป็นจุดทรุดตัวจุดใหม่ ทั้งนี้ เมื่อสังเกตลักษณะบริเวณชุมชนโดยรอบพบว่าไม่ต่างกันมากนัก ลักษณะการยุบเกือบจะกินความกว้างทั้งถนน มีความลึก 2 เมตร
แม้จะมีจำกัดการสัญจรของรถบรรทุกบนถนนเส้นนี้ นายสมชาย ดวงแก้ว กรรมการอิสลามจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า รถบรรทุกใช้เส้นทางนี้ในการสัญจรเป็นประจำและปัจจุบันก็ยังพบเห็นอยู่ เพราะสะดวกและสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่เรื่องจำนวนบรรทุกที่มากกว่าเกณฑ์กำหนดได้
(ศ.ดร.อมร สำรวจถนนที่ยุบตัวลง เผยให้เห็นแนวเขื่อนในชั้นใต้ดินเลียบคันคลองพระยาบันลือ)
ศ.ดร.อมร วิเคราะห์สาเหตุหลักของการทรุดตัวว่า มีปัจจัย คือ ถนนทรุดมักจะก่อสร้างบนชั้นดินอ่อน จากการขุดดินในลำน้ำขึ้นมาสร้างคันคลอง ผนวกกับสภาวะน้ำลดอย่างรวดเร็วและการสูบน้ำออกจากคลองโดยชาวบ้าน การใช้ถนนในการสัญจรเพิ่มขึ้นจากปกติทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการกัดเซาะของน้ำที่ทำให้ลาดดินคันคลองมีความชันเพิ่มมากขึ้น และการขุดลอกคูคลองในช่วงน้ำท่วมเพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำ ทำให้ความชันของลาดดินคันคลองเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยออกแบบไว้ตอนแรก ซึ่งการสร้างเขื่อนกันน้ำท่วมในอดีตก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน
“ปัญหาเรื่องน้ำตอนนี้กระทบมาถึงตัวโครงสร้างสาธารณะจนทำให้ถล่มลงมาได้ อันเป็นปัญหาที่รุนแรง แต่การป้องกันด้านโครงสร้างอย่างยั่งยืนสามารถทำได้โดยการใช้ใช้ซีเมนต์คอลัมน์ปูนปั่นผสมกับดินให้แข็งแรงทำถนนใหม่ทั้งเส้น กลับต้องใช้งบประมาณมหาศาล ตอนนี้เราจึงสามารถทำได้แค่การสำรวจ เฝ้าระวัง และแก้ปัญหาเฉพาะจุดไป เพราะถือเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ที่ปลายเหตุแล้ว" ศ.ดร.อมร กล่าว
(ชั้นดินของถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ถูกถมจากเดิมเพิ่มอีก 1 เมตร สูงกว่าพื้นที่เลียบคลองพระยาบันลือ และเป็นปัจจัยให้เกิดการทรุดตัวได้ง่าย และถนนทั้งสองสร้างขึ้นบนดินอ่อนจากลำน้ำทั้งเส้นเหมือนกัน)
(ชาวบ้านกำลังทำการสูบน้ำ บริเวณเลียบคลองระพีพัฒน์)
(รถบรรทุกสัญจรอย่างปกติ ตรงข้ามจุดถนนที่ทรุดเลียบคลองระพีพัฒน์)